ประติมากรรมแปดเซียน (โป๊ยเซียน)

ประติมากรรมแปดเซียน (โป๊ยเซียน)
วัสดุ : ดินเผาเคลือบ
อายุสมัย/รูปแบบศิลปะ : ศิลปะจีน พุทธศตวรรษที่ 25 จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
....................................................................................

          “โป๊ยเซียน” เป็นคำภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋ว แต่ในสำเนียงจีนกลางออกเสียงเป็น “ปาเซียน” โดยคำว่า “ปา” หรือ “โป๊ย” หมายถึง เลขแปด ส่วนคำว่า “เซียน” หมายถึง ผู้วิเศษตามความเชื่อของจีน ความเชื่อเรื่องแปดเซียน หรือโป๊ยเซียนเป็นความเชื่อในลัทธิเต๋าของจีน ซึ่งกล่าวถึงกลุ่มเทพเจ้าจีน ที่มีอยู่ด้วยกันทั้งหมดแปดองค์ และเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน โดยชาวจีนเชื่อกันว่าแปดเซียน หรือโป๊ยเซียนเป็นสัญลักษณ์ของความสุข ความโชคดี และการอำนวยพรให้มีอายุยืนยาว ตำนานเกี่ยวกับแปดเซียน หรือโป๊ยเซียนมีอยู่ด้วยกันหลายตำนานแตกต่างกันออกไปตามแต่ละยุคแต่ละสมัย บันทึกเก่าแก่เกี่ยวกับแปดเซียน หรือโป๊ยเซียนเชื่อกันว่า มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก โดยปรากฏอยู่ในบันทึก “หวายหนานจื่อ” ของหลิวอัน และเรียกเซียนทั้งแปดว่า “ปากง” ซึ่งเป็นเหล่าเซียนที่มุ่งแสวงหายาอายุวัฒนะ และได้บำเพ็ญเพียรจนกระทั่งสำเร็จกลายเป็นเซียน
          แปดเซียน หรือโป๊ยเซียนเป็นกลุ่มเซียนที่เป็นที่นิยมนับถือบูชาในหมู่ชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยเซียนทั้งแปดองค์มีเรื่องราวประวัติความเป็นมา และอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์แตกต่างกัน เซียนทั้งแปดองค์ประกอบไปด้วย 1. หลี่ทิก้วย/ทิก้วยลี้ เซียนแห่งยา และการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ 2.ฮั่นเจ็งลี้ เซียนแห่งโชคลาภ กิจการและการปกครอง 3.หลื่อทงปิง เซียนแห่งธุรกิจการค้า ความมั่งคั่ง และการรักษาโรค 4.เตียก้วยเล่า เซียนแห่งความมั่นคง ความมีอายุยืน และสุขภาพดี 5.หน่าไฉฮั้ว เซียนแห่งความอุดมสมบูรณ์ และบุปผชาติ 6.ฮ่อเซียงโกว เซียนแห่งความดีงาม ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู และการเกษตรกรรม 7.ฮั้งเซียงจื้อ เซียนแห่งการพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และการดนตรี 8. เฉาก้กกู๋/เช้าก้กกู๋เซียนแห่งตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ ราชการและความซื่อสัตย์



















....................................................................................
เรียบเรียง/กราฟฟิก : ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
....................................................................................

อ้างอิง : 1. กรมศิลปากร. สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2549. 2. ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล. 108 สัญลักษณ์จีน. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2552. 3. โป๊ยเซียน. เข้าถึงเมื่อ 8 ตุลาคม 2563. เข้าถึงได้จาก http://www.jiewfudao.com/เทพเจ้าสัญลักษณ์มงคล/โป๊ยเซียน.html

(จำนวนผู้เข้าชม 25683 ครั้ง)

Messenger