เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
วัดฆ้องชัย อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
วัดฆ้องชัยเป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือในเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร แผนผังของตัววัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ภายในวัดใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง
อาคารสิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัดประกอบด้วยวิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพื้นที่ ปัจจุบันเหลือเฉพาะส่วนฐานอาคารที่เป็นแบบการก่อฐานสูง โดยฐานล่างทำเป็นฐานหน้ากระดานแต่มีการยืดให้สูงถึงระดับพื้นวิหารมีระยะถึง ๓.๑๐ เมตร จนดูเหมือนเป็นผนังอาคาร เหนือฐานหน้ากระดานก่อเป็น ฐานบัวลูกแก้วอกไก่ มีมุขเด็จทั้งด้านหน้าและด้านหลัง บันไดสร้างขนาบมุขเด็จทั้งด้านหน้าและด้านหลัง วิหารมีขนาด ๙ ห้อง เสารับเครื่องบนหลังคาเป็นเสาศิลาแลงแปดเหลี่ยม ไม่ปรากฏหลักฐานของการก่อผนัง จึงสันนิษฐานว่าเป็นอาคารโถง ภายในอาคารปรากฏแท่นอาสน์สงฆ์ทางด้านทิศใต้ของผนังอาคารและมีฐานชุกชีที่ประดิษฐานชิ้นส่วนฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถนั่งอยู่บริเวณกลางโถงอาคารวิหารระหว่างห้องที่ ๖ - ๗
เจดีย์ประธานอยู่ถัดจากวิหารไปทางด้านทิศตะวันตก มีลักษณะเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยม ต่อด้วยชั้นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยมซ้อนกัน ๓ ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานปัทม์แปดเหลี่ยม ประกอบด้วยชั้นฐานบัวคว่ำ ชั้นท้องไม้และชั้นฐานบัวหงาย ส่วนยอดเจดีย์ที่ถัดขึ้นไปพังทลาย ไม่ปรากฏรูปทรงเดิมที่แน่ชัด ซึ่งฐานเจดีย์ประธานของวัดฆ้องชัยนั้น มีความคล้ายกับฐานเจดีย์ประธานของวัดพระนอนที่อยู่ในเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชรเช่นกัน จึงสันนิษฐานได้ว่าส่วนยอดของเจดีย์ประธานของวัดฆ้องชัยอาจมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบเดียววัดพระนอน
จากการขุดแต่งทางโบราณคดีบริเวณฐานอาคารวิหารได้พบชิ้นส่วนของประติมากรรมดินเผา รูปมกร หรือมกรสังคโลก ความสูง ๑๑๐ เซนติเมตร เขียนลายสีดำบนน้ำดินสีขาว แหล่งเตาเมืองเก่าสุโขทัย มกร (Makara) เป็นคำที่ใช้เรียกในภาษาสันสกฤต ถือว่าเป็นสัตว์มงคลตามความเชื่อที่ปรากฏในตำนานเทพนิยาย โดยมีร่างกายที่เป็นการผสมกันระหว่างสัตว์บกและสัตว์น้ำ เช่น มีงวงเหมือนช้าง แต่มีปากเหมือนจระเข้และมีหางแบบปลา ในเทวตำนานของศาสนาฮินดู มกร ถือว่าเป็นพาหนะของพระวรุณ เทพเจ้าแห่งฝน ดังนั้น มกร จึงถือเป็นสัตว์ที่ใช้แทนสัญลักษณ์ของน้ำที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ประติมากรรมรูปมกรจึงมีความนิยมที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบของงานสถาปัตยกรรม โดยประดับที่บริเวณราวบันได หรือชายคาของอาคาร เพื่อให้เกิดความสวยงามและสวัสดิมงคลกับอาคารนั้น ๆ ปัจจุบันประติมากรรมดินเผารูปมกร ที่พบจากวัดฆ้องชัย จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
วัดฆ้องชัยจึงเป็นโบราณสถานอีกแห่งหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรที่มีความสำคัญยิ่ง จากหลักฐานของงานช่างฝีมือที่ปรากฏให้เห็นในด้านสถาปัตยกรรมและความเชื่อความศรัทธาที่ปรากฏในงานประติมากรรม ล้วนแล้วแต่เป็นประจักษ์พยานของความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของแผ่นดินเมืองกำแพงเพชรได้เป็นอย่างดี
-----------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์ กำแพงเพชร
-----------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ: บริษัทบางกอก อินเฮ้าส์จำกัด, ๒๕๖๑. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๑. อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร. รายงานการขุดแต่งโบราณสถาน วัดฆ้องชัย. ม.ป.ท., ๒๕๒๖.
(จำนวนผู้เข้าชม 1362 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน