เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ตราดินเผารูปสัญลักษณ์ทางศาสนาประกอบอักษรโบราณ
ตราดินเผารูปสัญลักษณ์ทางศาสนาประกอบอักษรโบราณ พบที่เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ตราดินเผารูปกลม มีเส้นคั่นตามแนวนอนตรงกลาง แบ่งพื้นที่เป็นสองส่วน ส่วนบนเป็นรูปโคหมอบ มีรูปจันทร์เสี้ยวและตรีศูล ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะอยู่ด้านบน โคอาจหมายถึงโคนนทิ พาหนะของพระศิวะ ด้านข้างรูปโคเป็นรูปครุฑ พาหนะของพระวิษณุหรือพระนารายณ์ ลักษณะเช่นนี้ คล้ายตราประทับโบราณของอินเดียสมัยราชวงศ์คุปตะ ส่วนล่างของตราดินเผา เป็นจารึกจำนวน ๑ บรรทัด นักวิชาการบางท่านเสนอว่า เป็นตัวอักษรพราหมีสมัยราชวงศ์คุปตะ ภาษาสันสกฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ – ๑๑ (ประมาณ ๑,๕๐๐ - ๑,๖๐๐ ปีมาแล้ว) ความว่า
“ศิวํ พฺริหสฺปติ” แปลว่า “พระศิวะผู้ยิ่งใหญ่”
ทั้งนี้มีนักวิชาการบางท่าน เสนอว่า ตัวอักษรที่ปรากฏบนตราดินเผา เป็นตัวอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว) ความว่า “ศิวรฺพรหม หฤตา” แปลว่า “พระศิวะ พระพรหมและพระวิษณุ” ด้านข้างของตราดินเผา ถูกประทับด้วยตรารูปสี่เหลี่ยมเป็นตัวอักษร ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ (ประมาณ ๑,๓๐๐ - ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว) แต่ยังไม่สามารถอ่านและตีความได้ ตราดินเผารูปแบบเดียวกันนี้ ยังพบที่เมืองโบราณอู่ทอง อีก ๑ ชิ้น แต่มีสภาพชำรุด และยังพบที่เมืองโบราณจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ จำนวนหนึ่ง โดยด้านข้างหรือส่วนที่เป็นความหนาของตราดินเผาแต่ละชิ้นมีการจารึกข้อความที่แตกต่างกันออกไป จากลักษณะของการแบ่งรายละเอียดของตราออกเป็นสองส่วน มีสัญลักษณ์ของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ที่ส่วนบน และมีจารึกอักษรโบราณที่ด้านล่าง อาจเทียบได้กับตราดินเผาและเหรียญเงินในศิลปะอินเดีย สมัยคุปตะและหลังคุปตะ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว)
จากรูปแบบศิลปกรรมและจารึก ทำให้สันนิษฐานได้ว่าตราดินเผาชิ้นนี้อาจเป็นตราดินเผารุ่นแรกที่พ่อค้าหรือนักบวชชาวอินเดียที่นับถือศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ลัทธิไศวนิกายนำติดตัวเข้ามาในสมัยทวารวดี เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสาร อาจเกี่ยวข้องกับด้านการค้า การศาสนา หรือเป็นเครื่องราง ต่อมาคนพื้นเมืองสมัยทวารวดี จึงได้นำแนวคิดการทำตราประทับมาผลิตขึ้นใช้เอง ปรากฏเป็นรูปแบบที่หลากหลายขึ้น
----------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
----------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. สหมิตรพริ้นติ้ง : นนทบุรี, ๒๕๔๕. ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษร สมัย, ๒๕๔๒. อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ. การศึกษาความหมายและรูปแบบตราประทับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสต รมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๗.
(จำนวนผู้เข้าชม 900 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน