เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
เครื่องถ้วยจีนที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
เอกสารโบราณและบันทึกชาวต่างชาติ มักกล่าวถึงพื้นที่บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์และ กรุงธนบุรีในนาม “เมืองบางกอก” โดยในสมัยอยุธยาเมืองบางกอกอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา๑ ในสมัยธนบุรีได้รับการสถาปนาเป็นราชธานีแห่งใหม่หลังเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ เมืองถูกสร้างโดยใช้พื้นที่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำฯ ราชธานีอยู่ฝั่งตะวันตก วังลูกเจ้าเมืองบางกอก บ้านพระยาราชาเศรษฐี และชุมชนชาวจีนอยู่ฝั่งตะวันออก๒ กระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์พื้นที่ ฝั่งตะวันออกนี้ได้สร้างราชธานีและพระบรมมหาราชวังสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน๓ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า พื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์และมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ มีร่องรอยของชุมชนเรื่อยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์
พ.ศ.๒๕๖๐ บริษัท กันต์กนิษฐ์ ก่อสร้าง จำกัด ดำเนินงานการปรับปรุงภูมิทัศน์รวมทั้งอาคารต่าง ๆ และงานขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เริ่มขุดค้นในปี พ.ศ.๒๕๖๒ โดย นายอนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ จำนวน ๕ หลุมขุดค้น (ขณะวิเคราะห์เครื่องถ้วยจีนดำเนินงานเพียง ๔ หลุมขุดค้น) จากการขุดค้นพบหลักฐานประเภทต่าง ๆ เช่น สิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับวังท่าพระ เศษภาชนะดินเผาประเภทเนื้อแกร่ง (Stoneware) เศษภาชนะดินเผาประเภทเนื้อกระเบื้อง (Porcelain) รวมถึงเครื่องถ้วยจีนที่เป็นหลักฐานประเภทหนึ่งของเศษภาชนะดินเผาประเภทเนื้อกระเบื้อง พบจำนวน ๒๓๐ ชิ้น (จาก ๔ หลุมขุดค้น) จากการวิเคราะห์เครื่องถ้วยจีน แบ่งอายุสมัยได้ ๒ สมัย ได้แก่ สมัยราชวงศ์ชิง มีอายุตั้งแต่ กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ตรงกับรัชกาลที่ ๑-๕ และสมัยสาธารณรัฐ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๔ ตรงกับรัชกาลที่ ๖ ส่วนใหญ่มีแหล่งผลิตจากเตาจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี เตาเต๋อฮั่วและเตาอันซี มณฑลฝูเจี้ยน เตาต้าปู้ มณฑลกว่างตง และกลุ่มเตาในมณฑลกว่างตงหรือมณฑลฝูเจี้ยน รูปแบบของเครื่องถ้วยจีนส่วนใหญ่เป็นจาน จานเชิง ชาม ชามมีฝา ถ้วย ถ้วยชา และโถ ตกแต่ง ด้วยการเขียนลายสีครามใต้คราม รวมทั้งการพิมพ์ลายสีครามใต้คราม เขียนลายสีบนเคลือบ เขียนสีลงยาบนเคลือบ (เครื่องถ้วยเบญจรงค์และเบญจรงค์แลทอง) เคลือบสีเขียว และเคลือบสีขาว
จากการวิเคราะห์เครื่องถ้วยจีนที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระนี้ สรุปได้ว่า เครื่องถ้วยจีนมีอายุร่วมสมัยกับรัชกาลที่ ๑-๖ มีความเกี่ยวข้องกับการใช้งานสำหรับชนชั้นสูงภายในวังท่าพระ แต่ยังไม่พบเครื่องถ้วยจีนที่มีอายุในช่วงสมัยอยุธยาและสมัยธนบุรี อาจเพราะพื้นที่นี้ถูกใช้ในกิจกรรมการทำไร่สวนในสมัยอยุธยาที่ถูกกล่าวถึงในบันทึกชาวต่างชาติ พื้นที่นี้ไม่ได้มีความสำคัญมากเท่ากับบริเวณมิวเซียมสยามและรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสนามไชย ซึ่งเป็นที่ตั้งของป้อมบางกอกหรือป้อมวิไชยเยนทร์ และในสมัยธนบุรีมีระยะเวลาความเป็นราชธานีอันสั้นจึงยังไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามจากการขุดค้นยังพบภาชนะดินเผาเนื้อดินแกร่ง หากมีการศึกษาหลักฐานประเภทนี้หรือขุดค้นในพื้นที่อื่นเพิ่มเติม อาจพบหลักฐานที่มีอายุร่วมสมัยอยุธยาและสมัยธนบุรีและได้ข้อมูลมากขึ้น เพราะการขุดค้นทางโบราณคดี การ “ไม่พบ” ใช่ว่าจะ “ไม่มี”
แผนผังที่ ๑ ตำแหน่งหลุมขุดค้นทางโบราณคดี หลุมขุดค้นที่ ๑-๕ (TP.1-5) ภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
ภาพที่ ๑ ตัวอย่างเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ชิง มีอายุตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ.๒๓๒๕-๒๔๕๓)
ภาพที่ ๒ ตัวอย่างเครื่องถ้วยจีนสมัยสาธารณรัฐ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๔ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๖ (พ.ศ.๒๔๕๓ เป็นต้นมา)ภาพที่ ๒ ตัวอย่างเครื่องถ้วยจีนสมัยสาธารณรัฐ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๔ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๖ (พ.ศ.๒๔๕๓ เป็นต้นมา)
-----------------------------------------------------
เชิงอรรถ
(๑) อ้างอิงจากแผนที่โบราณในบันทึกชาวต่างชาติ เช่น แผนที่นิรนามเขียนขึ้นโดยชาวฮอลันดาราวปี พ.ศ.๒๑๘๕ แผนที่ใน “จดหมายเหตุลา ลู แบร์” พ.ศ.๒๒๓๑ แผนที่ใน “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม” โดย นิโกลาส์ แซรแวส พ.ศ.๒๒๓๑ เป็นต้น (๒) อ้างอิงจากพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ หลักฐานกำแพงเมืองธนบุรีบริเวณอนุสาวรีย์สหชาติ และแผนที่สงครามจราชลพม่า (๓) อ้างอิงจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ต านานวังเก่า และแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๓๖๗
-----------------------------------------------------
ผู้เขียน : กิจสุวรรณ โพธิ์สุวรรณ์ นักวิชาการวัฒนธรรม กลุ่มวิจัยและพัฒนางานโบราณคดี กองโบราณคดี กรมศิลปากร
-----------------------------------------------------
รายการอ้างอิง
กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. “กรุงธนบุรี ในสมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์.” วิทยานิพนธ์ปริญญา ดุษฎีบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๕. _______. โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), ๒๕๖๒. กิจสุวรรณ โพธิ์สุวรรณ์. “การศึกษาเครื่องถ้วยจีนที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ หลุมขุดค้นที่ ๑-๔.” เอกสารการศึกษาเฉพาะส่วนบุคคล ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๖๒. ซิมอน เดอ ลา ลู แบร์. จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. พิมพ์ครั้งที่ ๒. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. นนทบุรี: ศรีปัญญา, ๒๕๔๘. เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ข า บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (๒๐๐๖), ๒๕๖๒. ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช. กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๙. แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, หม่อมราชวงศ์, และคณะ. องค์ประกอบทางกายภาพกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๔. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๒. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๓. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๒. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๕. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๒. ปริวรรต ธรรมาปรีชากร. “การใช้เครื่องถ้วยจีนและเครื่องถ้วยเวียดนามในการกำหนดอายุหลักฐาน ทางโบราณคดีและรูปแบบศิลปะ : กรณีศึกษาลวดลายปูนปั้นประดับบนโบราณสถานใน ประเทศไทยระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๔.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๗. ปริวรรต ธรรมาปรีชากร และจิราภรณ์ อรัณยะนาค. เครื่องปั้นดินเผาจีนและเบญจรงค์ ที่พบใน พระราชวังหลวงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ: ศูนย์อนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา โบราณโรงเรียนถนอมบุตร, ๒๕๖๒. ปริวรรต ธรรมาปรีชากร, สว่าง เลิศฤทธิ์ และกฤษฎา พิณศรี. ศิลปะเครื่องถ้วยในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: โอสถสภา, ๒๕๓๙. รูนีย์, ดอว์น เอฟ. เครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทอง. แปลโดย จุฑามาศ อรุณวรกุล. กรุงเทพฯ: ริเวอร์ บุ๊คส์, ๒๕๖๐. หฤษฎ์ แสงไพโรจน์. “การใช้พื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์บริเวณฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีจากหลักฐาน ทางโบราณคดี.” เอกสารการศึกษาเฉพาะส่วนบุคคล ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๖๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 1902 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน