แหล่งโบราณคดีถ้ำภูผาเพชร
          ถ้ำภูผาเพชร เป็นถ้ำขนาดใหญ่อยู่ในเทือกเขาบรรทัด เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสตูล และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีสตูล และที่สำคัญก็คือเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์โบราณ เมื่อหลายพันปีก่อน
          แหล่งโบราณคดีถ้ำภูผาเพชร ตั้งอยู่ หมู่ ๙ บ้านควนดินดำ ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล ตั้งอยู่บนเขาหินปูนในเขตเทือกเขาบรรทัดมีลำน้ำ ๒ สายไหลโอบภูเขา ได้แก่ คลองลำโลนไหลผ่านทางทิศเหนือ และคลองระเกดไหลผ่านทางทิศใต้ ที่มาของชื่อ “ถ้ำภูผาเพชร” หรือ “ถ้ำเพชร” มาจากหินงอก หินย้อยภายในถ้ำที่มีความระยิบระยับคล้ายกับเพชร
          จากการศึกษาทางด้านโบราณคดีโดยสำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา พบว่าถ้ำภูผาเพชรเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญ โดยสำรวจพบหลักฐานทางโบราณคดีทั้งหมด ๔ จุด ได้แก่
          จุดที่ ๑ เพิงผาทางเข้าถ้ำภูผาเพชร ปากถ้ำหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีลักษณะเป็นเพิงผากว้าง จากการสำรวจพบเครื่องมือหินกะเทาะ หน้าเดียวแบบสุมาตราลิทซ์ (Sumatralith) กำหนดอายุได้ประมาณ ๑๐,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว ชิ้นส่วนกรามสัตว์ เปลือกหอย กระดองเต่า เป็นต้น 
          จุดที่ ๒ ห้องพญานาคพันภายในถ้ำ จากการสำรวจพบชิ้นส่วนกะโหลก ศีรษะของมนุษย์และกระดูกรยางค์ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ร่องรอยก้นภาชนะดินเผาที่ถูกหินปูนยึดเกาะอยู่และเปลือกหอย
          จุดที่ ๓ ทางขึ้นปากปล่องถ้ำฝั่งทิศเหนือ จากการสำรวจพบชิ้นส่วน ภาชนะดินเผากระจายอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ มีการตกแต่งผิวเป็นลายเชือกทาบ ลายขูดขีด เป็นต้น
          จุดที่ ๔ เพิงผาหน้าปากปล่องถ้ำด้านทิศเหนือ จากการสำรวจพบ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา เครื่องมือหินกะเทาะ ขวานหินขัดมีคมด้านเดียว เป็นต้น
          นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานโบราณวัตถุที่ชาวบ้านเก็บได้จากถ้ำภูผาเพชร ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่องค์การบริหารส่วนตำบลมะนัง ได้แก่ ภาชนะดินเผาก้นกลม จำนวน ๒ ใบ และภาชนะดินเผาฐานทรงกระบอกปากผายออก จำนวน ๒ ใบ ตกแต่งผิวด้านนอกด้วยการขัดมันและกดประทับลายเชือกทาบ และยังพบหลักฐานประเภทกระดูกสัตว์ เช่น เต่า เปลือกหอย บรรจุอยู่ในภาชนะดินเผาอีกด้วย จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบและสภาพภูมิศาสตร์ที่มีความเหมาะสม ต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ จึงสรุปได้ว่าแหล่งโบราณคดีภูผาเพชรเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยใช้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับการฝังศพ ที่สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดสตูลได้เป็นอย่างดี













-----------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา

-----------------------------------------------------

(จำนวนผู้เข้าชม 4212 ครั้ง)