พระวิษณุแห่งเมืองศรีมโหสถ
          พระวิษณุพบที่โบราณสถานหมายเลข 25 ซึ่งมีลักษณะเป็นโบราณสถานก่อด้วยศิลาแลง แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเป็นระเบียงล้อมรอบอาคารระหว่างระเบียงถึงตัวอาคารชั้นในใช้ดินลูกรังอัดเป็นพื้นโบราณสถาน ส่วนอาคารชั้นในเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีช่องทางเข้าด้านทิศตะวันตก มีผนังล้อมรอบตรงกลางเพื่อประดิษฐานรูปเคารพ ที่มุมอาคารชั้นในมีเสาศิลาแลงทรงกลมทั้ง 4 มุม แนวผนังอาคารชั้นในและความลึกของเสาไปสิ้นสุดที่พื้นเทลาดด้วยศิลาแลง ส่วนที่ประดิษฐานรูปเคารพอาคารชั้นในทางด้านหน้าทำเป็นมุขยื่นออกไปทางด้านทิศตะวันออกเล็กน้อย ด้านข้างของแท่นทำเป็นรอยบากรูปครึ่งวงกลม อาจจะใช้เสาไม้อีก 2 ต้น
          พระวิษณุจตุรภุช หรือ พระวิษณุ 4 กร พบที่โบราณสถานหมายเลข 25 เมืองศรีมโหสถ อำเภอ ศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี แสดงให้เห็นว่าเมืองศรีมโหสถได้มีการเคารพนับถือและมีความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาฮินดูลัทธิไวษณพนิกายซึ่งได้รับอิทธิ-พลจากอินเดียผ่านเส้นทางการค้าประกอบกับศาสนาฮินดูมีการกำหนดชนชั้นและวรรณะชัดเจน จึงเอื้ออำนวยต่อชนชั้นการปกครองและชนชั้นผู้ประกอบพิธีกรรม หลักฐานที่แสดงถึงศาสนาฮินดูจึงพบได้ทั่วไปภายในบริเวณเมืองซึ่งเป็นศูนย์กลาง ในขณะที่หลักฐานในศาสนาพุทธจะกระจายอยู่ทั่วไป
          พระวิษณุองค์นี้มีลักษณะใกล้เคียงกลุ่มพระวิษณุในศิลปะเขมรซึ่งเป็นลักษณะที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียหรืออาจได้รับอิทธิพลมาจากเมืองศรีมโหสถรวมทั้งพระวิษณุองค์นี้ยังมีลักษณะใกล้เคียงกับพระวิษณุที่พบในแถบภาคใต้ของประเทศไทยอีกด้วย










---------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี
---------------------------------------------------

อ้างอิง :
กรมศิลปากร. “นำชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี” กรุงเทพฯ, 2542.
กรมศิลปากร. “โบราณคดีเมืองศรีมโหสถ” กรุงเทพฯ, 2548.
กรมศิลปากร. “ประวัติศาสตร์และโบราณคดี เมืองศรีมโหสถ”กรุงเทพฯ, 2535.

(จำนวนผู้เข้าชม 2439 ครั้ง)

Messenger