รอยอดีตแห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ตอนที่ ๒ วัดมอญ : วัดไทรอารีรักษ์ (ตอนจบ)
วัดไทรอารีรักษ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลโพธาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
ประวัติ วัดไทรอารีรักษ์เป็นวัดของชาวมอญ ซึ่งอพยพย้ายถิ่นมาอยู่ในแถบริมแม่น้ำแม่กลอง ในเขตอำเภอบ้านโป่งและอำเภอโพธาราม สร้างขึ้นเมื่อประมาณสมัยรัชกาลที่ ๕ เดิมชื่อว่า วัดวิหาร ภาษารามัญ เรียกว่า “เพี้ยชาย”
สิ่งสำคัญในวัดไทรอารีรักษ์ มีดังนี้
อุโบสถ ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมใหม่ อุโบสถสร้างอย่างท้องถิ่นภาคกลาง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ด้านหน้าและด้านหลังมีมุขลดด้านละ ๑ ห้อง ช่อฟ้าใบระกาปูนปั้นประดับกระจก หน้าบันตกแต่งด้วยปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษา ผนังก่ออิฐถือปูนด้านหน้ามีประตูทางเข้า ๒ ประตู มีซุ้มประตูซึ่งทำขึ้นใหม่ ด้านข้างซุ้มประตูมีภาพเขียนรูปทหารแต่งเครื่องแบบยืนตรง มือขวาถือปืนยาวแนบลำตัว และภาพร่างด้วยดินสอเป็นภาพยักษ์ถือตะบอง ส่วนกลางผนังระหว่างซุ้มประตูมีภาพพุทธประวัติ ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ทางวัดได้จัดสร้างซุ้มประตูขึ้นทับภาพเขียนพระอัครสาวกทั้งสองจนเกือบหมด ผนังสกัดด้านหลังมีประตูทางเข้า ๑ ประตู ซุ้มประตูเป็นภาพเขียนรูปซุ้มยอดปราสาทข้างซุ้มประตูทั้งสองด้านเป็นรูปยักษ์ยืนถือตะบอง กรอบประตูด้านในเป็นภาพทวารบาล ส่วนพื้นฝาผนังด้านบนเขียนภาพพุทธประวัติ ตอน เสด็จโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ ส่วนกลางเป็นภาพพระอาทิตย์และพระจันทร์ทรงรถ และหมู่ดวงดาวต่างๆ ด้านขวาสุดเป็นภาพรามสูรขว้างขวาน ด้านซ้ายสุดเป็นภาพนางมณีเมขลาล่อแก้ว ผนังส่วนล่างเป็นภาพพระพุทธเจ้าแสดงปางต่างๆ เช่น ปางนาคปรก ปางป่าเลไลย์ และปางเสด็จลงจากดาวดึงส์
อุโบสถ
อุโบสถ ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมใหม่ อุโบสถสร้างอย่างท้องถิ่นภาคกลาง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ด้านหน้าและด้านหลังมีมุขลดด้านละ ๑ ห้อง ช่อฟ้าใบระกาปูนปั้นประดับกระจก หน้าบันตกแต่งด้วยปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษา ผนังก่ออิฐถือปูนด้านหน้ามีประตูทางเข้า ๒ ประตู มีซุ้มประตูซึ่งทำขึ้นใหม่ ด้านข้างซุ้มประตูมีภาพเขียนรูปทหารแต่งเครื่องแบบยืนตรง มือขวาถือปืนยาวแนบลำตัว และภาพร่างด้วยดินสอเป็นภาพยักษ์ถือตะบอง ส่วนกลางผนังระหว่างซุ้มประตูมีภาพพุทธประวัติ ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ทางวัดได้จัดสร้างซุ้มประตูขึ้นทับภาพเขียนพระอัครสาวกทั้งสองจนเกือบหมด ผนังสกัดด้านหลังมีประตูทางเข้า ๑ ประตู ซุ้มประตูเป็นภาพเขียนรูปซุ้มยอดปราสาทข้างซุ้มประตูทั้งสองด้านเป็นรูปยักษ์ยืนถือตะบอง กรอบประตูด้านในเป็นภาพทวารบาล ส่วนพื้นฝาผนังด้านบนเขียนภาพพุทธประวัติ ตอน เสด็จโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ ส่วนกลางเป็นภาพพระอาทิตย์และพระจันทร์ทรงรถ และหมู่ดวงดาวต่างๆ ด้านขวาสุดเป็นภาพรามสูรขว้างขวาน ด้านซ้ายสุดเป็นภาพนางมณีเมขลาล่อแก้ว ผนังส่วนล่างเป็นภาพพระพุทธเจ้าแสดงปางต่างๆ เช่น ปางนาคปรก ปางป่าเลไลย์ และปางเสด็จลงจากดาวดึงส์
ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานปูนปั้น ปางมารวิชัย ด้านข้างซ้าย-ขวามีพระอัคร-สาวกยืนพนมมือ ที่ฐานชุกชีด้านหน้าพระประธาน ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง ปางมารวิชัยจำนวน ๑ องค์ และพระพุทธรูปขนาดเล็กอีกหลายองค์ ทั้งหมดเป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ ที่ฝาผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๕ มีตัวหนังสือระบุว่าเขียนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ผนังด้านหน้าเหนือกรอบประตูเป็นภาพเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ตอน เสด็จมหาปรินิพพาน ผนังด้านหลังพระประธานแบ่งออกเป็นสองแนว ตอนบนเป็นภาพพระพุทธรูปปางไสยาสน์ประดิษฐานอยู่ในปราสาท ๔ หลังเรียงเป็นแถวต่อกัน มีเหล่าเทวดาและนางอัปสรมาเฝ้า ตอนล่างเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง แสดง ปางสมาธิ อยู่ในปราสาท ๔ หลังเรียงต่อกัน
ภาพจิตรกรรม
ผนังด้านข้างทั้งสองด้านมีภาพจิตรกรรม เฉพาะส่วนที่อยู่เหนือกรอบหน้าต่างโดยลักษณะการเขียนภาพจะแบ่งเป็นแนวยาวสองแนว แถวบนเป็นภาพพระอดีตพุทธเจ้า ประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์แสดงปางสมาธิ มีรัศมีเป็นรูปดอกไม้รอบพระเศียร ด้านข้างเป็นภาพพระอัครสาวกนั่งพนมมือและฉัตรรูปพุ่มดอกไม้ ส่วนบนเป็นภาพดอกไม้ร่วง แถวที่สองเป็นภาพพุทธประวัติ และขบวนแห่ไปนมัสการมณฑปพระพุทธบาท
วิหาร
วิหาร ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว ปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมใหม่ ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องซ้อนกัน ๓ ตับ ด้านหน้ามีพาไลยื่นออกมามีเสาปูนสี่เหลี่ยมรองรับ ๔ ต้น ช่อฟ้าใบระกาและหางหงส์ปูนปั้นประดับกระจก หน้าบันปูนปั้นประดับกระจกลวดลายพันธุ์พฤกษา ด้านหน้าพระวิหารมีระเบียงเตี้ยและประตูก่ออิฐถือปูนเตี้ย ผนังสกัดด้านหน้ามีประตูทางเข้า ๒ ประตู ผนังสกัดด้านหลังทึบ ผนังด้านข้างมีหน้าต่าง ๕ ช่อง บานประตูและหน้าต่างเป็นไม้ทาสีแดง ภายในวิหารประดิษฐานมีซุ้มทรงจินคลุมรอบพระพุทธบาท มีการเขียนจิตรกรรมลวดลายและเรื่องราวอย่างจีนประดับอยู่โดยรอบ
หอระฆัง
หอระฆัง อาคารไม้ทรงไทยสูง ปัจจุบันได้รับการบูรณะใหม่ ลักษณะเป็นอาคารยกพื้นสูง ชั้นล่างสุดเป็นฐานซีเมนต์ทรงสี่เหลี่ยม มีระเบียงล้อมรอบและบันไดซีเมนต์เป็นทางขึ้น ส่วนบนเป็นอาคารไม้ มีทั้งหมด ๘ เสา โดยหอระฆังเป็นอาคารทรงไทยรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็ก หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีช่อฟ้า รวยระกาและหางหงส์ หน้าบันเป็นลายไม้แกะสลักประดับกระจกมีงานไม้แกะสลักประดับเป็นระบายที่ชายคาตัวเรือนโปร่งทั้งสี่ด้านฝาไม้ขนาดเล็กลบมุมบนของแต่ละด้านด้วยการประดับแผ่นไม้แกะสลัก ประเภทที่เรียกว่า ลายขนมปังขิง โดยรอบมีระเบียงยื่นออกมาเป็นชานสำหรับพักมีหลังคาปีกนกยื่นออกมาทั้งสี่ด้านมีเสากลมรองรับ สิ่งที่สำคัญของหอระฆังนี้ก็คือ บริเวณไม้คอสองจะมีภาพจิตรกรรมเป็นภาพพุทธประวัติ และภาพหม่าเหมี่ยว แสดงภูมิทัศน์ของบ้านเรือนแบบตะวันตก เป็นภาพจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕
ซุ้มประตูทางเข้าวัด ลักษณะเป็นประตูซุ้มทรงคล้ายศาลามีเสาสูง หลังคาเครื่องไม้มุง กระเบื้องลด ๒ ชั้น มีปั้นลมด้านบนเชิงชายประดับด้วยไม้ฉลุลาย เสาด้านข้างส่วนบนมีฝากระดานปลูกในลักษณะขวางประตูทางเข้าวัด
เจดีย์ราย
เจดีย์ราย ลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ก่อเป็นแถวภายในลานพระอุโบสถในเขตกำแพงแก้ว เป็นเจดีย์ที่มีรูปแบบพื้นบ้านก่ออิฐถือปูน ฐานเจดีย์เป็นฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกันเป็นชั้นๆ องค์ระฆังยืดยาวย่อมุมไม้สิบสอง มีบัวรองรับปากระฆัง ส่วนยอดเป็นชุดบัวคลุ่มเถาและปลียอด เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองที่กรุงเทพฯ สืบทอดมาจากแบบอย่างของกรุงศรีอยุธยา และนิยมอยู่จนสิ้นรัชกาลที่ ๓ ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๔ ความนิยมได้เปลี่ยนไปเป็นเจดีย์ทรงระฆังแทน แต่ที่วัดไทรอารีรักษ์นี้สันนิษฐานว่าคงมีการนำรูปแบบของเจดีย์ที่นิยมสร้างกันในสมัยรัชกาลที่ ๓ กลับมาสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๕
***หมายเหตุ สำหรับวัดมอญอื่นๆ นั้นกลุ่มโบราณคดี ยังมิได้ทำการสำรวจ ในเบื้องต้นได้ดำเนินการตรวจสอบประวัติการสร้างวัดซึ่งพบว่า ประวัติการสร้างวัดเก่าแก่ถึงสมัยกรุงธนบุรี จนถึงรัชกาลที่ ๘ แต่อย่างไรก็ตามการพิจารณาจากประวัติจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบร่วมกับสิ่งสำคัญภายในวัดด้วยเพื่อให้หลักฐานต่างๆ สอดคล้องกัน
จะเห็นได้ว่าวัดมอญเหล่านี้จะมีเอกลักษณ์ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชาวมอญร่วมกัน เช่น เจดีย์มอญ เสาหงส์ พระพุทธรูปศิลปะมอญ เป็นต้น แม้บางวัดจะมีรูปแบบการก่อสร้างอุโบสถ วิหารในแบบศิลปะจีนปะปนอยู่บ้างก็เป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมผ่านกาลเวลาที่แสดงถึงการอยู่ร่วมกันของชาติพันธ์ที่หลากหลายในลุ่มแม่น้ำแม่กลองในพื้นที่อำเภอบ้านโป่ง – เจ็ดเสมียนทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตาม ประเพณีและภาษามอญซึ่งแม้กาลเวลาจะผ่านไปกว่าร้อยปีแล้วก็ตามชุมชนมอญก็ยังสืบสานวัฒนธรรมของชนชาติตนเองได้อย่างเหนียวแน่นมาจนทุกวันนี้
เรียบเรียง : นางจิรนันท์ คอนเซพซิออน
นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี
หนังสืออ้างอิง
สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์. ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ความหลากหลายของผู้คน ชุมชน และวัฒนธรรม บ้านโป่ง-เจ็ดเสมียน ,มปท. หจก.เอราวัณการพิมพ์ , ๒๕๕๔.
สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี กลุ่มโบราณคดี , รายงานการสำรวจโบราณสถาน จังหวัดราชบุรี ,เอกสารโรเนียว , ๒๕๓๙ -ปัจจุบัน .
(จำนวนผู้เข้าชม 2288 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน