เจ้าดารารัศมี พระราชชายา : ฟ้อนม่านมุยเซียงตา

ภาพ : เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

          เจ้าดารารัศมี พระราชชายา เป็นเจ้านายฝ่ายเหนือที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในด้านการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านศิลปะการแสดงพื้นเมืองต่าง ๆ ดังจะสังเกตได้จาก เมื่อพระองค์ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับไปประทับที่เชียงใหม่เป็นการถาวร เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๗ พระองค์ได้เริ่มทรงงานอนุรักษ์ ฟื้นฟูและพัฒนางานด้านศิลปะการแสดงพื้นเมือง โดยโปรดให้ครูละครของพระองค์ประดิษฐ์การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองชุดต่าง ๆ ทั้งแบบล้านนาและแบบราชสำนักขึ้นหลายชุด หนึ่งในการแสดงชุดหนึ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ตามพระดำริ ของเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ซึ่งเป็นแสดงที่มีความสวยงามด้วยลีลาท่ารำและเครื่องแต่งกาย มีความไพเราะของท่วงทำนองเพลงและยังนิยมนำออกแสดงจนถึงปัจจุบัน คือ การแสดงชุด “ฟ้อนม่านมุยเซียงตา”


ภาพ: การแสดงชุด “ฟ้อนม่านมุยเซียงตา” เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ เสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พุทธศักราช ๒๔๖๙ (ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

          การแสดงชุด “ฟ้อนม่านมุยเซียงตา” หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า “ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา” นี้ เป็นการแสดงชุดหนึ่งที่เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ทรงตั้งพระทัยที่จะประดิษฐ์ฟ้อนขึ้นใหม่ให้แปลกไปจากฟ้อนที่เคยมีอยู่ จึงรับสั่งให้หาตัวระบำของพม่ามารำถวาย โดยทรงคิดว่าหากท่ารำของพม่าสวยงามเหมาะสมจะทรงดัดแปลงแล้วนำมาผสมกับท่ารำของไทยให้เป็นรำพม่าแปลงขึ้นใหม่ชุดหนึ่ง ครั้นทอดพระเนตรตัวระบำของพม่าที่มา รำถวายแล้ว จึงมีพระวินิจฉัยว่าท่ารำที่เป็นของผู้ชายนั้นมิค่อยน่าดูมากนัก จึงรับสั่งให้หญิงชาวมอญ ชื่อ เม้ยเจ่งตา มาแสดงท่าระบำพม่าที่เคยแสดงในเขตพระราชฐานของกษัตริย์พม่าให้ทอดพระเนตร ปรากฏว่าเป็นที่พอพระทัยอย่างยิ่ง จึงทรงดัดแปลงท่าฟ้อนดังกล่าวร่วมกับครูฟ้อนชาวพม่า ชื่อ สล่าโมโหย่ หรือโกโมโหย่ กลายเป็นฟ้อนชุดใหม่ที่มีลีลาการฟ้อนทั้งแบบใช้มือเปล่าและการฟ้อนโดยเอาแพรยาวที่คล้องคอของผู้แสดงมาถือประกอบในการฟ้อน มีการใช้สัดส่วนของมือและขาแบบการแสดงนาฏศิลป์ของพม่า ในบางช่วงบางตอน นอกจากนี้ยังมีการนำท่ารำแบบแผนของไทยภาคกลางมาสอดแทรกอยู่ในการแสดง ชุดนี้ด้วย ดังที่ นายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ ได้อธิบายถึงท่ารำในการแสดงชุดนี้ ไว้ว่า
          ยังมีท่ารำที่เป็นท่าแบบแผนของไทยภาคกลางปนอยู่ไม่น้อย ที่เห็นอย่างได้ชัดเจน เช่น ท่ากวางเดินดง, สอดสร้อยมาลา, หลงใหลได้สิ้น, รำยั่ว, และท่ายูงฟ้อนหาง เป็นต้น (มนตรี ตราโมท, ๒๔๙๑: ๒๖)
          ส่วนท่ารำในบางช่วงที่วงปี่พาทย์ยังคงบรรเลงอยู่แต่ทว่าผู้แสดงกลับยืนหยุดนิ่งคล้ายกับหุ่นหรือตุ๊กตา แล้วอีกสักครู่ผู้แสดงฟ้อนต่อไปนั้น นับว่าเป็นการหยิบยืมเทคนิคลีลาท่าทางการแสดงนาฏศิลป์แบบพม่า มาประยุกต์ใช้ได้อย่างสวยงามและลงตัว ทำให้ลีลาท่าฟ้อนในการแสดงชุดนี้มีกลิ่นอายทั้งลีลาท่ารำแบบพม่าและลีลาท่ารำแบบไทยภาคเหนือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างยิ่ง
          ทำนองเพลงที่วงปี่พาทย์นำมาใช้บรรเลงประกอบการแสดงในชุดนี้ มีทั้งหมด ๓ สำเนียง ได้แก่ สำเนียงแบบไทยภาคกลาง สำเนียงแบบไทยภาคเหนือและสำเนียงแบบพม่า นายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ ได้อธิบายถึงทำนองเพลงในการแสดงชุดนี้ ไว้ว่า
          เพลงต้นทีเดียวเป็นสำเนียงพม่ามาก แต่พอถัดมาถึงเพลงที่ ๒ เป็นเพลงจำพวกออกสองไม้ มีสำเนียงเป็นไทยเหนือ อย่างที่เรียกว่า ล่องน่าน อยู่เป็นพื้น เพลงต่อ ๆ ไป ก็คละระคนกัน โดยมีประโยคไทยภาคกลางเป็นหลัก มีไทยเหนือ และพม่าเป็นเครื่องประดับ ยิ่งกว่านั้น ซ้ำยังมีทำนองมอญแทรกอยู่อีกด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้ยิน ได้ฟังรวม ๆ ไปแล้ว จึงทำให้เข้าใจว่าเป็นเพลงพม่าไปได้ แต่ถ้าจะฟังโดยสังเกตเพลงในตอน ๒ และเพลงเร็วแล้ว จะเห็นว่ามีสำเนียงไทย ภาคกลางอยู่มากมายและอย่างชัดเจนทีเดียว (มนตรี ตราโมท, ๒๔๙๑: ๒๗)
          จากข้อมูลดังกล่าวจึงสามารถวิเคราะห์ได้ว่า สำเนียงเพลงที่ใช้ประกอบในการแสดงชุดฟ้อน ม่านมุยเซียงตานี้ เป็นเพลงที่มีสำเนียงเพลงแบบไทยภาคกลางปรากฏมากกว่าสำเนียงอื่น ๆ ซึ่งสอดคล้อง กับข้อมูลที่ชาวพม่าเรียกทำนองเพลงนี้ว่า “ฟ้อนโยเดีย” (อยุธยา) จึงสันนิษฐานว่าเพลงที่ประกอบการแสดงชุดนี้ อาจเป็นเพลงของไทยที่ตกไปอยู่ในประเทศพม่าตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าแต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปเพลงดังกล่าว จึงได้กลายสำเนียงเป็นไปอย่างพม่า ครั้นคนไทยภาคเหนือพบทำนองเพลงนี้ซึ่งบรรเลงอยู่ในประเทศพม่าเข้า จึงรับเข้ามาบรรเลงและเชื่อว่าเพลงนี้เป็นทำนองอย่างพม่า เลยพากันเรียกชื่อเพลงนี้ว่า “ฟ้อนม่าน” (พม่า) นั่นเอง
          สำหรับเครื่องแต่งกายในการแสดงชุดนี้ ผู้แสดงจะแต่งกายแบบฟ้อนม่านของเดิมซึ่งมีความสวยงามอย่างยิ่งตามแบบหญิงสาวชาวพม่า ดังที่ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ผู้ซึ่งเคยทอดพระเนตรการแสดงฟ้อนม่าน ที่เจ้าหลวงแก้วนวรัตน์จัดแสดงประทานรับขวัญ เมื่อครั้งตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขึ้นไปเมืองเชียงใหม่เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๔ ไว้ว่า
          ผู้ฟ้อนเป็นหญิงสาวแต่งตัวแบบพม่า นุ่งซิ่นยาวถึงพื้น ใส่เสื้อเอวสั้นมีลวดอ่อนงอนขึ้นไปจากเอวเล็กน้อยและแขนเสื้อยาวถึงข้อมือ มีแพรห่มสีต่าง ๆ คล้องคอทิ้งยาวลงมาถึงเข่า เกล้ามวยบนกลางหัวและปล่อยชายผมลงมาข้าง ๆ บนบ่า มีดอกไม้สดใส่รอบมวยเป็นพวงมาลัยและอุบะยาวห้อยลงมากับชายผม (หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล, ๒๔๙๑: ๒๓)


ภาพ : เครื่องแต่งกายชุด “ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา” สำนักการสังคีต กรมศิลปากร จัดแสดงเนื่องในงานเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ขัตติยราชนารีศรีนครเชียงใหม่” วันอาทิตย์ ที่ ๒๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๓ ณ ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ที่มา : พัชรพล เหล่าดี)

          การแสดงชุดฟ้อนม่านมุยเซียงตาที่สร้างขึ้นตามพระดำริของเจ้าดารารัศมี พระราชชายา นี้ นำออกแสดงครั้งแรกในงานฉลองตำหนัก เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ที่สร้างขึ้นใหม่บนดอยสุเทพ ใช้วงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่บรรเลงประกอบการฟ้อน ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ เสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ ในพุทธศักราช ๒๔๖๙ ได้เสด็จมาเสวยพระกระยาหารค่ำ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา จึงได้จัดการแสดงชุดฟ้อนม่านมุย เซียงตา สนองพระเดชพระคุณให้ทอดพระเนตรอีกครั้ง สำหรับมูลเหตุที่ทำให้การแสดงชุดฟ้อนม่านมุย เซียงตา ลงมาแสดงถึงในแถบภาคกลางและนิยมแสดงมาจนถึงปัจจุบันนั้น เห็นจะมาจากเมื่อคราวงานสมโภชพระเศวตคชเดชน์ดิลก ช้างเผือกในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังสวนดุสิต เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๐ ซึ่งในงานนี้มีการละเล่นและมีมหรสพสมโภชต่าง ๆ รวมถึงมีโรงฟ้อนไทยเหนือซึ่งฟ้อนโดยช่างฟ้อนชาวเชียงใหม่ ของเจ้าดารารัศมี พระราชชายาและได้นำการแสดงชุดฟ้อนม่านมุยเซียงตาลงไปแสดงในงานสมโภช ฯ ครั้งนั้นด้วย แต่นั้นมาการแสดงชุดฟ้อนม่านมุยเซียงตาจึงเป็นที่นิยมและแพร่หลายออกไปในงานต่าง ๆ แถบภาคกลาง โดยมีศิลปินของไทยภาคกลางเป็นผู้นำไปบรรเลงและแสดง
          ฟ้อนม่านมุยเซียงตา นับได้ว่าเป็นการแสดงชุดหนึ่งที่มีความงดงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตามรูปแบบการฟ้อนในราชสำนักของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ที่ควรค่าแก่อนุรักษ์และเผยแพร่ให้คงอยู่สืบไป กล่าวได้ว่า เจ้าดารารัศมี พระราชชายานั้น ทรงเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือที่มีคุณูปการต่อการแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองล้านนาเป็นอย่างยิ่ง ผลงานนาฏศิลป์ที่สร้างขึ้นตามพระดำริที่เกิดขึ้นทุกชุด ล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านนาฏศิลป์ของพระองค์ท่านและนับเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้กับเยาวชนและคนไทยในแถบภาคเหนือให้เกิดความรัก ความหวงแหนและความภาคภูมิใจในการแสดงวัฒนธรรมพื้นถิ่นล้านนาอันเป็นถิ่นกำเนิดของตนเอง ซึ่งมีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์งดงามอ่อนหวานตามแบบฉบับล้านนาได้ดีมากยิ่งขึ้น

------------------------------------------------------
เรียบเรียงเทิดพระเกียรติคุณเนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ : ธำมรงค์ บุญราช นักวิชาการละครและดนตรีปฏิบัติการ สำนักการสังคีต
------------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง
พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ฟ้อนม่าน. วารสารศิลปากร ปีที่ ๒ เล่ม ๑ (มิถุนายน ๒๔๙๑) : ๒๒-๒๕. มนตรี ตราโมท. ฟ้อนมุยเซียงตา. วารสารศิลปากร ปีที่ ๒ เล่ม ๑ (มิถุนายน ๒๔๙๑) : ๒๖-๒๘.

(จำนวนผู้เข้าชม 19101 ครั้ง)

Messenger