โบราณสถานที่สำคัญของเมืองสงขลาเก่า สมัยกรุงศรีอยุธยานั่นคือ ป้อมเมืองสงขลาเก่า ซึ่งตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง ทั้งบนเขาและที่ราบ ซึ่งใช้เป็นป้อมปราการป้องกัน ต่อสู้ ปกป้องบ้านเมือง
          เมืองสงขลาเก่าที่ตั้งอยู่ในบริเวณตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลาในปัจจุบัน ปรากฏชื่ออยู่ในเอกสารโบราณว่า SINGORA เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ก่อตั้งเมืองโดยดาโต๊ะโมกอล และปกครองต่อมาโดยสุลต่านสุลัยมาน และสุลต่านมุสตาฟา ซึ่งเป็นผู้ปกครองกลุ่มมุสลิมที่มีความสามารถด้านการค้าและการสู้รบปกป้องบ้านเมือง ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวเมืองสงขลาเป็นเมืองท่าที่มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก เพราะมีการขยายตัวทางด้านการค้าอย่างกว้างขวางกับชาวต่างชาติ เช่น ดัตช์ อังกฤษ ฝรั่งเศส ต่อมาเมืองสงขลาเริ่มแข็งเมืองกับกรุงศรีอยุธยา จนทำให้ทางกรุงศรีอยุธยาต้องส่งกำลังมาปราบปรามจนสำเร็จใน พ.ศ. ๒๒๒๓ ทำให้บ้านเมืองกลายเป็นเมืองร้าง ผู้คนได้ย้ายมาตั้งที่อยู่ใหม่บริเวณปลายสุดของคาบสมุทรสทิงพระ หรือบ้านแหลมสน และเรียกกันเรื่อยมาว่า “เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน” ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองสมัยต้นรัตนโกสินทร์โดยอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าเมืองเชื้อสายจีน
          ทั้งนี้ เมืองสงขลาเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นเป็นเมืองที่มีคูเมือง กำแพงเมือง และป้อมปราการ เป็นอาณาเขตและเป็นปราการของเมือง แผนผังเมืองที่เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๓๐ โดยวิศวกรชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ เดอ ลามาร์ (Monsieur de Lamare) แสดงแผนผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคูเมืองและกำแพงเมืองเป็นปราการด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก มีเขาแดงและเขาค่ายม่วงเป็นปราการด้านทิศใต้
          จากการศึกษารูปแบบและแผนผังการก่อสร้างป้อมดังกล่าวสันนิษฐานว่าชาวอังกฤษคงจะมีส่วนให้ความช่วยเหลือในการก่อสร้างและซ่อมแซม ซึ่งในปัจจุบันสามารถพบเห็นร่องรอยของป้อมเมืองสงขลาเก่าที่ก่อด้วยหินสอปูนอย่างน้อย ๑๔ ป้อม ประกอบด้วย
          ๑. ป้อมบนที่ราบและเชิงเขา ลักษณะเป็นป้อมขนาดกลางรูปสี่เหลี่ยม มีช่องทางเข้าหรือบันไดอยู่ทางด้านในหรือด้านข้าง ส่วนบนทำเป็นเชิงเทิน มีช่องมองสลับใบบังรูปสี่เหลี่ยมอยู่โดยรอบ ด้านนอกมีเสาครีบค้ำยันเพื่อเสริมความมั่นคงของโครงสร้าง และป้องกันแรงกระแทกจากการยิงของปืนใหญ่ ได้แก่ ป้อมหมายเลข ๑, ๒, ๓, ๙, ๑๑, ๑๒, ๑๓ และ ๑๕
          ๒. ป้อมบนเขาและลาดเขา มีลักษณะเป็นป้อมรูปสี่เหลี่ยม มีช่องมองและส่งสัญญาณมายังเบื้องล่าง ได้แก่ ป้อมหมายเลข ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, และ ๑๐















           ๓. ป้อมในทะเล คงจะมีลักษณะเช่นเดียวกับป้อมบนพื้นราบ ปัจจุบันอยู่ในสภาพที่ไม่อาจจะสันนิษฐานรูปแบบได้ (สันนิษฐานว่าคือ ป้อมหมายเลข ๑๔)
          กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานป้อมเมืองสงขลาเก่า ในราชกิจจานุเษกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ หน้า ๓๗๑๔ และประกาศเป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานบริเวณเมืองสงขลาเก่า ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๑๙ วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๓๕ หน้า ๑๐๑๙๐ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๒,๔๖๐ ไร่

----------------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นางสาวชนาธิป ไชยานุกิจ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
-----------------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง
๑. พรอนันท์ก่อสร้าง,ห้างหุ้นส่วนจำกัด. รายงานการบูรณะโครงการฟื้นฟูบูรณะแหล่งประวัติศาสตร์ เขตเมืองสงขลาเก่า โบราณสถาน ป้อมที่ ๑. เอกสารอัดสำเนา,๒๕๔๓
๒. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. “การค้าในการเมือง กับ มองซิเออร์ เดอ ลามาร์ วิศวกรฝรั่งเศสผู้ออกแบบป้อมกำแพงเมืองในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์” ใน วารสารวิจิตรศิลป์. ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๒ (กรกฎาคม – ธันวาคม ๒๕๖๐), หน้า ๑๘๕ – ๒๖๔
๓. ศิลปากร,กรม. การเริ่มต้นและการพัฒนาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองสงขลาเก่า. เอกสารหมายเลข๑๐/๒๕๓๓ กองโบราณคดี. กรุงเทพ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.สัมพันธ์พาณิชย์, ๒๕๔๐
๔. ศิลปากร,กรม. เมืองสงขลาในอดีต. หน่วยศิลปากรที่ ๙ สงขลา กองโบราณคดี.เอกสารอัดสำเนา, ๒๕๓๕.
๕. ศิลปากร,กรม. หนังสือนำชมโบราณสถานที่สำคัญในเขตพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล). กรุงเทพ : บริษัทบางกอกอินเฮ้าส์ จำกัด, ๒๕๕๗
๖. ศรีสมร ศรีเบญจพลางกูร,ผศ. ประวัติศาสตร์เมืองสงขลา. สงขลา : สถาบันราชภัฏสงขลา,๒๕๓๙
๗. สารูป ฤทธิ์ชู. “การพัฒนาเศรษฐกิจ : สังคมและการค้าของเมืองสงขลาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๔” ใน สงขลาศึกษา. หน้า ๖๕ – ๘๑ กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ จำกัด, ๒๕๓๕
๘. โอวาท โกญจนาวรรณ. การศึกษาป้อมเมืองสงขลาเก่า กิ่งอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา. สารนิพนธ์ประกอบการศึกษาตามระเบียบปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต (โบราณคดี). คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๓๑

(จำนวนผู้เข้าชม 17131 ครั้ง)

Messenger