“บานง” เครื่องแต่งกายของสตรีไทยมุสลิมชายแดนใต้
          บทความครั้งนี้ผู้เขียนขอนำท่านผู้อ่านไปสัมผัสกับวัฒนธรรมของชาวไทยมุสลิม โดยเฉพาะวัฒนธรรมการแต่งกายของสตรีไทยมุสลิมชายแดนใต้ ซึ่งมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองและสืบทอดมาแต่โบราณโดยได้รับอิทธิพลมาจากเครื่องแต่งกายของชาวมาเลเซียและอินโดนีเซีย สำหรับการแต่งกายของสตรีมุสลิมนั้นจะใช้ผ้าปกปิดร่างกายอย่างมิดชิดที่เรียกว่า “ฮีญาบ” ซึ่งถือว่าเป็นชุดที่ทำให้ผู้หญิงปลอดภัยจากการลวนลามและแทะโลม การแต่งกายสำหรับสตรีมุสลิมมีองค์ประกอบสำคัญคือ ผ้าโสร่ง เสื้อกูรง เสื้อบานงหรือกือบายอ และผ้าคลุมศรีษะ ณ ที่นี้ผู้เขียนขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับ “บานง” ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายของสตรีไทยมุสลิมตามประเพณีดั้งเดิม ซึ่งมีความสวยงามและมีเสน่ห์ชวนมอง
          คำว่า “บานง” มาจากภาษามลายูกลาง ว่า “บันดง” หมายถึง เมืองทางตะวันตกของเกาะชวา ชุดบานง เป็นชุดพื้นเมืองดั้งเดิมที่สตรีไทยมุสลิมในจังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส นิยมสวมใส่ในงานประเพณีหรือวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับศาสนา เช่น พิธีนิก๊ะ งานรอมฏอน วันฮารีรายอ งานวันเมาลิด และการแสดงต่าง ๆ เป็นต้น เสื้อบานงมี ๒ ลักษณะ คือ เสื้อบานงมาตรฐาน และเสื้อบานงแมแด
          เสื้อบานงมาตรฐาน มีลักษณะเป็นเสื้อคอปีน ผ่าหน้า และพับริมปกเกยซ้อนไว้ตลอด มีสาบพับยาวตลอดถึงชายเสื้อ มักตัดด้วยเนื้อผ้าโปร่งบางและอาจปักฉลุลวดลายตรงชายเสื้อ โดยใช้กระดุมลักษณะเป็น เข็มกลัดทำด้วยทองคำประดับด้วยเพชรพลอย จำนวน ๓ เม็ด เพื่อเป็นการแสดงถึงฐานะและเพิ่มความสวยงาม แขนเสื้อยาวถึงข้อมือแต่ไม่กว้างมากนัก นิยมสวมใส่กับผ้าถุงปาเต๊ะ กระโปรงป้าย หรือกระโปรง จีบหน้านาง

          เสื้อบานงแมแด ภาษามลายูกลาง เรียกว่า “บันดงเมดา” เป็นชื่อเมืองทางเหนือของเกาะสุมาตรา เป็นเสื้อที่ได้รับอิทธิพลจากอินโดนีเซีย ผ้าที่ใช้ตัดเสื้อนั้น นิยมตัดด้วยผ้าลูกไม้ ผ้ากำมะหยี่ ผ้าต่วน ผ้าชีฟอง ลักษณะเป็นเสื้อคอสามเหลี่ยมหรือคอวีกว้าง ปิดทับด้วยลิ้นสามเหลี่ยม แขนยาวแคบ ความยาวเสื้อคลุมสะโพก นิยมสวมเข้าชุดกับกระโปรงยาวจีบหน้านางหรือผ้าถุงปาเต๊ะ

          ทั้งนี้ การแต่งกายของสตรีไทยมุสลิมด้วยชุดบานงดังที่กล่าว มิใช่เพียงแต่เป็นเครื่องอาภรณ์ประดับร่างกายเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่ต้องยึดถือปฏิบัติตามหลักศาสนาที่จำเป็นต้องมี จำเป็นต้องใช้ประกอบในการดำรงชีวิตประจำวัน รวมทั้งเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ได้เป็นอย่างดี ควรแก่การอนุรักษ์สืบไป

---------------------------------------------------
ผู้เขียน : นางสาวรวิวรรณ พุฒซ้อน บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
---------------------------------------------------

บรรณานุกรม
ประมูล อุทัยพันธุ์. “บานง.” สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ ๘ (๒๕๔๒): ๔๐๐๙-๔๐๑๑.
สุนีย์ วัฑฒนายน “เสน่ห์ “บานง””กูรง” วัฒนธรรมการแต่งกายสตรีมุสลิมชายแดนใต้” วารสารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ๒๐, ๒ (พ.ค.-ส.ค. ๕๒) ๓๔-๔๓.

(จำนวนผู้เข้าชม 22661 ครั้ง)