เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
วัดพระศรีมหาอุมาเทวี
บริเวณทางเข้าวัดพระศรีมหาอุมาเทวี
วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือ วัดแขกสีลม เป็นวัดในศาสนาฮินดู ตั้งอยู่เลขที่ ๒ มุมถนนสีลมกับถนนปั้น แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๒ โดยชาวอินเดียจากรัฐทมิฬนาฑู (Tamil Nadur) ทางตอนใต้ของประเทศอินเดียที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย
เดิมบริเวณที่ตั้งของวัดพระศรีมหาอุมาเทวีเป็นสวนผักของนางปั้น อุปการโกษากร ต่อมานายไวตรีประเดียอะจิ นายนารายเจติ และนายโกบาระตี ชาวอินเดียที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในย่านถนนสีลม ได้นำที่ดินของพวกตนไปแลกกับที่ดินสวนผักนี้ แล้วสร้างวัดขึ้นโดยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและการประกอบกิจกรรมของชาวฮินดูจากอินเดียตอนใต้ และได้มีการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ “วัดพระศรีมหามรีอัมมัน” เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔
เมื่อแรกสร้าง เป็นเพียงศาลาขนาดเล็กมีชื่อว่า ศาลาศรีมรีอัมมัน ต่อมาจึงมีการสร้างโบสถ์และนำ เทวรูปพระแม่ศรีมหาอุมาเทวีจากประเทศอินเดียมาประดิษฐาน สถาปัตยกรรมของวัดเป็นแบบอินเดียใต้อันสืบเนื่องจากสถาปัตยกรรมสมัยราชวงศ์โจฬะและราชวงศ์ปัลลวะ ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบเห็นได้ทั่วไปในเทวาลัยที่ทมิฬนาฑู จุดเด่นทางสถาปัตยกรรมของวัด ได้แก่ โคปุระหรือซุ้มประตูที่ตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปเทพเจ้าต่าง ๆ ประดับรูปปั้นเทพเจ้าองค์สำคัญ ๆ ของศาสนาฮินดูบนซุ้มและมุมเครื่องยอด ทาสีสันสวยงาม เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูเข้ามาแล้ว จะพบกับโบสถ์ประธาน ภายในโบสถ์ประธานประดิษฐานเทวรูปสำคัญ ๓ องค์ที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย ได้แก่ พระศรีมหาอุมาเทวี พระขันธกุมาร และพระพิฆเนศวร
รายละเอียดปูนปั้นรูปเทพเจ้าบนโคปุระหรือซุ้มประตูวัด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้ข้อสังเกตว่า จากป้ายชื่อของวัดที่เขียนในภาษาทมิฬที่อ่านว่า “ติรุมาริอัมมันโกยิล” นั้นหมายถึง “ปราสาทพระแม่ศรีมาริ” คำว่า “มาริ” ในภาษาทมิฬ แปลว่า “ฝน” พระองค์คือเจ้าแม่แห่งฝน ซึ่งนับถือกันมากในสังคมเกษตรของทมิฬโบราณ แต่ในขณะเดียวกันตำนานพื้นเมืองกล่าวถึงพระองค์ในฐานะเจ้าแม่แห่งโรคฝีดาษด้วย ดังนั้นหากกล่าวโดยแท้จริงแล้ว พระแม่มาริเป็นพระแม่เจ้าของชาวทมิฬโดยแท้ คือ เป็นเจ้าแม่พื้นเมืองเดิมของชาวอินเดียใต้ ก่อนที่ศาสนาฮินดูจะแผ่ขยายลงมาแล้วผนวกเจ้าแม่เข้ามาเป็นเทวีฮินดูในภายหลัง แต่สาเหตุที่ต้องเรียกวัดด้วยนามว่า “ศรีมหาอุมาเทวี” นั้น ก็เพื่อให้คนไทยเข้าใจได้โดยง่าย โดยถือคติว่า เจ้าแม่ทุกองค์ย่อมเป็นภาคส่วนของพระเทวีใหญ่ เช่น ทุรคา อุมา หรือปารวตี หากแต่พระนาม “อุมาเทวี” เป็นที่นิยมมากในประเทศไทย
เดิมวัดพระศรีมหาอุมาเทวีนี้เป็นสถานที่จำเพาะของผู้นับถือศาสนาฮินดูเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเปิดต้อนรับผู้สัญจรทุกคนโดยไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนา แต่มีข้อกำจัดบางประการตามหลักศาสนาฮินดู เช่น ห้ามนำเนื้อสัตว์ทุกชนิดเข้าวัด และห้ามสตรีในระหว่างมีรอบเดือนเข้าภายในบริเวณโบสถ์ เป็นต้น วัดแห่งนี้ยังคงมีพราหมณ์ผู้รู้พระเวททำพิธีประจำ โดยในตอนบ่ายจะมีการปิดโบสถ์เพื่ออ่านบทสรรเสริญพระเป็นเจ้า นอกจากนี้ยังมีการจัดพิธีกรรมบูชาในศาสนาฮินดูตลอดทั้งปี โดยเทศกาลสำคัญประจำปีที่มีการจัดขบวนแห่ประเพณีอย่างยิ่งใหญ่และมีผู้ศรัทธาทั้งชาวอินเดียและชาวไทยจำนวนมากเข้าร่วมงาน คือ เทศกาลดูเซร่า หรือเทศกาลนวราตรี เทศกาลนี้จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงวันขึ้น ๑ – ๙ ค่ำเดือน ๑๑ (ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม) เพื่อบูชาพระศรีมหาอุมาเทวี เนื่องจากถือว่าช่วงเวลาดังกล่าวพระแม่อุมาและขบวนเทพจะเสด็จมาสู่พื้นพิภพเพื่อประทานพรแก่ชาวโลก ผู้ศรัทธาทั้งชาวอินเดียและชาวไทยจะร่วมพิธีสวดภาวนาที่วัด ถือศีลและรับประทานเฉพาะพืชผักตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ในค่ำคืนของวันที่ ๑๐ หรือวันวิชัยทัศมี จะมีการปิดถนนสีลม ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถนนสาทร และถนนสุรศักดิ์เพื่อเปิดทางสำหรับขบวนแห่ราชรถเทวรูปต่าง ๆ อย่างยิ่งใหญ่เพื่อให้ผู้ศรัทธาได้กราบไหว้ขอพร นำขบวนด้วยพราหมณ์ประทับทรงพระแม่อุมา ทูนหม้อกลัศบรรจุทราย น้ำ เหรียญ และเครื่องบูชา ตามด้วยขบวนร่างทรงเจ้าแม่กาลี ร่างทรงขันทกุมาร ผู้ศรัทธาจำนวนมากจะมาตั้งโต๊ะบูชารอรับพระแม่ไปตลอดสองฝั่งถนน เครื่องบูชาประกอบด้วยมะพร้าว นม กล้วยน้ำว้า ดอกดาวเรือง และธูป อาจมีผลไม้อื่นและขนมด้วย ตอนเช้าของวันรุ่งขึ้นก็จะนำรูปหล่อของพระแม่พร้อมของที่ใช้ในพิธีไปจุ่มน้ำ ซึ่งเดิมจุ่มที่คลองสีลมแต่ปัจจุบันทำพิธีที่แม่น้ำเจ้าพระยา
---------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : น.ส.กมลทิพย์ ชัยศุภมงคลลาภ นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ กลุ่มแปลและเรียบเรียง สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
---------------------------------------------------
รายการอ้างอิง
คณะอนุกรรมการประมวลเอกสารในคณะกรรมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี. จดหมายเหตุการ
(จำนวนผู้เข้าชม 14299 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน