เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง (ตอนที่ ๒)
          เมืองโบราณฟ้าแดดสงยางเริ่มต้นการอนุรักษ์มาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๘๑ และได้มีการดำเนินงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งในด้านการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ การขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดี รวมถึงการบูรณะและปรับสภาพภูมิทัศน์
          ๒๔๘๑ พระพาหิรัชต์พิบูล ข้าราชการสรรพากรจังหวัดนครราชสีมา ได้เข้าไปสำรวจและถ่ายภาพใบเสมา รวมทั้งพระพุทธรูปและโบราณสถาน ส่งให้นายฟรานซิส เฮนรีไกส์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นอธิบดีกรมสรรพากร และเป็นกรรมการบริหารของสยามสมาคม พระพาหิรัชต์พิบูลได้บันทึกเรื่องตำนานเมือง และร่างแผนผังของเมืองโดยสังเขป พร้อมกับรายงานว่ามีใบเสมาปักเป็นแถวและเป็นวงกลม รวมทั้งใบเสมา ที่ชาวบ้านช่วยกันนำมารวมไว้ที่เมืองโบราณระหว่างปี พุทธศักราช ๒๔๗๘ - ๒๔๗๙ ประมาณ ๒,๐๐๐ แผ่น
          พุทธศักราช ๒๔๙๗ นายอิริค ไชเดนฟาเดน ซึ่งเคยรับราชการเป็นพันตรีแห่งกองทัพไทย เขียนบทความเกี่ยวกับเมืองโบราณแห่งนี้ลงพิมพ์ในวารสารวิชาทางการเมือง เรียกชื่อเมืองนี้ว่าเมืองกนกนคร และได้กล่าวถึงแผนผังของเมืองและรูปสลักใบเสมา ตลอดจนได้กล่าวว่าเมืองโบราณแห่งนี้เป็นเมืองสมัยทวารวดี
          พุทธศักราช ๒๔๙๙ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิส ดิศกุล นำเสนอการศึกษาใบเสมาที่เมือง ฟ้าแดดสงยางในวารสารทางวิชาการว่า สามารถแบ่งกลุ่มใบเสมาตามลักษณะของการสลักภาพเล่าเรื่องออกเป็น ๓ กลุ่ม และได้กำหนดอายุของใบเสมาที่เมืองฟ้าแดดสงยางว่า มีอายุไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕
          พุทธศักราช ๒๕๐๖ กรมศิลปากร โดย นายมานิต วัลลิโภดม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งภัณฑารักษ์เอก และนายจำรัส เกียรติก้อง ช่างศิลปกรรมเอก หัวหน้าแผนกสำรวจและคณะ ได้ทำการสำรวจทำแผนผัง และบันทึกภาพ
          พุทธศักราช ๒๕๐๙ ศาสตราจารย์บวรเซอนิเยร์ แห่งมหาวิทยาลัยเซอร์บอนน์ ประเทศฝรั่งเศส ได้เดินทางมาสำรวจเมืองฟ้าแดดสงยางและให้ความเห็นว่า เมืองฟ้าแดดสงยางยังมีโบราณสถานที่สมบูรณ์ อยู่อีกจำนวนมากควรที่จะทำการสำรวจขุดแต่ง เพื่อศึกษาค้นคว้าหาหลักฐานทางโบราณคดีสมัยทวารวดีต่อไปก่อนที่จะถูกทำลายเสียหายไปจนหมดสิ้น และในปีเดียวกัน อธิบดีกรมศิลปากรกับคณะได้เดินทางไปสำรวจโบราณสถานเมืองฟ้าแดดสงยาง และมีบัญชาให้หน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่น ทำการสำรวจและขุดแต่งโบราณสถานภายในเมืองฟ้าแดดสงยาง
          พุทธศักราช ๒๕๑๐ หน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่น โดยนายหวัน แจ่มวิมล พร้อมด้วยคณะ ได้ทำการ ขุดแต่งโบราณสถานภายในเมืองฟ้าแดดสงยาง จำนวน ๙ แห่ง
          พุทธศักราช ๒๕๑๑ หน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่น ทำการขุดแต่งต่อจากปี ๒๕๑๐ จำนวน ๕ แห่ง รวมที่ทำการขุดแต่งทั้งหมดเป็น ๑๔ แห่ง นำไปสู่ข้อสรุปว่า เมืองฟ้าแดดสงยาง เคยเป็นชุมชนโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ และอยู่ในช่วงสมัยอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๓ โดยการสร้างเจดีย์แบบอยุธยาซ้อนทับเจดีย์แบบทวารวดีหลายแห่ง ที่เห็นได้ชัดคือ พระธาตุยาคู ซึ่งฐานล่างสุดเป็นฐานแบบทวารวดี ถัดขึ้นมาเป็นฐานแบบอยุธยา และบนสุดเป็นเจดีย์ทรงเรียวสูงแบบรัตนโกสินทร์
          พุทธศักราช ๒๕๒๒ กรมชลประทานได้ขุดรื้อดินดำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือ เพื่อนำดินไปถมคัดคลองน้ำชลประทาน มีความยาวประมาณ ๔๐ เมตร แล้วสร้างคลองส่งน้ำจากเขื่อนลำปาวตัดผ่าน ทำให้ คูเมืองกำแพงเมืองขาดหายไปส่วนหนึ่ง
          พุทธศักราช ๒๕๒๖ หน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่น ได้รับงบประมาณดำเนินการบูรณะเสริม ความมั่นคงพระธาตุยาคูในส่วนที่เป็นฐานแปดเหลี่ยมและตัวองค์พระธาตุจนแล้วเสร็จ
          พุทธศักราช ๒๕๓๓ หน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่น ได้รับงบประมาณจากโครงการฟื้นฟูและบูรณะโบราณสถานเพื่อพัฒนาในเขตพื้นที่อีสานเขียว ได้ทำการขุดลอกคูเมืองฟ้าแดดสงยางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ที่ชาวบ้านเรียกว่า หนองบัวยาว มีขนาดความกว้าง ๓๐ เมตร ยาว ๔๘๐ เมตร พร้อมทั้งถมดินเสริมกำแพงเมืองชั้นนอกและชั้นในโดยมีความกว้าง ๖ เมตร สูง ๒ เมตร
          พุทธศักราช ๒๕๓๔ หน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่น ได้รับงบประมาณจัดสรรโครงการอีสานเขียว ดำเนินการขุดลอกคูเมืองเป็นระยะทาง ๒,๗๕๐ เมตร มีความกว้าง ๓๐ เมตร และปรับปรุงกำแพงเมืองชั้นใน กว้าง ๖ เมตร สูง ๒ เมตร ยาวตลอดรอบกำแพงเมือง พร้อมทั้งปลูกหญ้าพื้นเมืองและต้นไม้ตามแนวกำแพงเมือง รวมทั้งได้นำเนินงานด้านโบราณคดีโดยการขุดค้นและออกแบบเพื่อบูรณะโบราณสถานจำนวน ๑๐ แห่ง และได้บูรณะโบราณสถานหมายเลข ๓๐๒ ที่เรียกว่า โนนวัดสูง
          ในปีเดียวกัน กรมศิลปากรได้ขอความร่วมมือคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การนำของศาสตราจารย์ ดร.ผาสุข อินทราวุธ เพื่อทำการขุดค้นหาคำตอบเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่และความสัมพันธ์กับชุมชนโบราณอื่น ๆ โดยเน้นไปยังจุดที่เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งทำการขุดค้น ๕ หลุม ขนาดหลุมละ ๔ x ๔ เมตร โดยหลุมที่ ๑, ๒ และ ๓ ขุดบริเวณโนนเมืองเก่า หลุมที่ ๔ ขุดบริเวณนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ที่เรียกว่า โนนฟ้าแดด หลุมที่ ๕ ขุดค้นบริเวณดอนงิ้วซึ่งอยู่ใกล้กับคูเมืองชั้นในด้านทิศตะวันตก และยังทำการขุดหลุมทดสอบขนาด ๒ x ๒ เมตร อีกจำนวน ๔ หลุม ภายในเมืองฟ้าแดดสงยาง
          พุทธศักราช ๒๕๓๗ ได้รับงบประมาณปรับปรุงกำแพงเมืองชั้นนอก อันเนื่องมาจากได้รับความเสียหายจากอุทกภัย โดยทำการถมบดอัดดินลูกรังหน้า ๐.๐๓ เมตร กว้าง ๖ เมตร มีความยาวทั้งสิ้น ๒,๑๐๐ เมตร
          พุทธศักราช ๒๕๓๙ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ ๘ อุบลราชธานี ได้รับงบประมาณเพื่อพัฒนาปรับปรุงกำแพงเมืองชั้นในต่อจากปี ๒๕๓๗ ซึ่งได้รับความเสียหายจากอุทกภัยเช่นเดียวกัน โดยทำการบดถมอัดดินลูกรังหนา ๐.๐๓ เมตร กว้าง ๖ เมตร ยาว ๒,๖๐๐ เมตร //ในปีเดียวกันได้รับงบประมาณดำเนินการขุดแต่งบูรณะเสริมความมั่นคงโบราณสถานพระธาตุยาคู (หมายเลข ๑๐๑) และเจดีย์บริวาร (หมายเลข ๑๐๒, ๑๐๓ และ ๑๐๔) รวมทั้งได้ดำเนินการขุดแต่งบูรณะเสริมความมั่นคงโบราณสถานโนนฟ้าแดด (หมายเลข ๗) โบราณสถานกลุ่มโนนศาลา (หมายเลข ๘๐๑ และ ๘๐๒)
          พุทธศักราช ๒๕๔๑ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ ๘ อุบลราชธานี ได้รับงบประมาณบูรณะเสริมความมั่นคงโบราณสถานหมายเลข ๔, ๙ และ ๘๐๓
          พุทธศักราช ๒๕๕๔ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ ร้อยเอ็ด ร่วมกับ จังหวัดกาฬสินธุ์ ทำการศึกษาเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง และจัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองฟ้าแดดสงยาง
          ปัจจุบันชุมชนท้องถิ่นได้เข้ามาใช้ประโยชน์เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง ในรูปแบบแหล่งท่องเที่ยว ทางวัฒนธรรมส่งผลให้เป็นที่รู้จักของสาธารณชนมากยิ่งขึ้น แนวทางการพัฒนาเพื่อประโยชน์ของชุมชนท้องถิ่นและการอนุรักษ์โบราณสถานให้คงคุณค่าอย่างสมดุล ยังคงต้องถอดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันต่อไป











------------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นางสาวศุภภัสสร หิรัญเตียรณกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก
จังหวัดกาฬสินธุ์. แผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองฟ้าแดดสงยาง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๔. ผาสุข อินทราวุธ และคณะ. รายงานการขุดค้นเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์. ม.ป.ท. : ม.ป.ป., ๒๕๓๔. (เอกสารอัดสำเนา) หวัน แจ่มวิมล. รายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณสถาน โบราณวัตถุ เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง บ้านเสมา ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์. กรมศิลปากร : หน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่น, ๒๕๑๑. (เอกสารอัดสำเนา)

(จำนวนผู้เข้าชม 10622 ครั้ง)

Messenger