อาคารเก่าริมฝั่งโขงเมืองนครพนม (ตอนที่ ๑) อาคารศาลากลางจังหวัดนครพนมหลังเก่า
          นครพนม เป็นจังหวัดชายแดนของประเทศไทยในภาคอีสานซึ่งมีพื้นที่ติดกับ สปป.ลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นแนวกั้นแบ่งพรมแดน มีความยาวเลียบชายฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ ๑๕๓ กิโลเมตร ตลอดความยาวเลียบชายฝั่งแม่น้ำโขงดังกล่าว จะพบอาคารเก่าสมัยอาณานิคมอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตตัวเมืองนครพนม ซึ่งปัจจุบันจังหวัดนครพนมและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันอนุรักษ์ไว้ จนกลายมาเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดนคร ที่ใครๆหลายคนให้ความสนใจมาศึกษาเที่ยวชม ในที่นี้จะขอเสนอเรื่องราวอาคารเก่าริมฝั่งโขงเมืองนครพนม โดยเริ่มจาก “อาคารศาลากลางจังหวัดนครพนม” หลังเก่า ซึ่งมีความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมที่หลายคนได้มาเยี่ยมชมจะเกิดความประทับใจยิ่ง นอกจากความงามของอาคารภายนอกแล้ว การได้เข้าไปในตัวอาคารเพื่อนั่งอ่านหนังสือเล่มโปรดในบรรยายกาศที่เงียบสงบ ยิ่งเพิ่มความประทับได้ในอีกรูปแบบหนึ่งด้วย เนื่องจากปัจจุบัน อาคารศาลากลางจังหวัดนครพนมหลังเก่า กรมศิลปากรได้ดำเนินการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์เป็น “หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม” ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นต้นมา
          อาคารศาลากลางจังหวัดนครพนมหลังเก่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘-๒๔๖๒ สมัยพระยาพนมนครานุรักษ์ (อุ้ย นาครทรรพ) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ช่างผู้ควบคุมการก่อสร้างคือ นายสุมังค์ ปทุมชาติ อดีตปลัดอำเภอ หัวหน้าการก่อสร้างเป็นช่างชาวญวณชื่อ นายก่าย ใช้แรงงานผู้ต้องขังในการก่อสร้าง ที่ออกแบบโดยนายแพทย์ชาวอเมริกัน ในนามคณะมิสชั่นนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ในเหตุการณ์พิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ทหารฝรั่งเศสได้ยิงปืนใหญ่จากเมืองท่าแขก ข้ามแม่น้ำโขงมายังเมืองนครพนม ทำให้อาคารศาลากลางจังหวัดชั้นสองได้รับความเสียหาย เมื่อซ่อมแซมแล้วได้ใช้งานต่อมากระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๒๓ จึงได้ย้ายออกไปยังอาคารศาลากลางแห่งใหม่และได้ยกให้กรมศิลปากรดำเนินการอนุรักษ์จนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ จึงได้ใช้เป็นที่ทำการหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม จนปัจจุบัน
          ลักษณะสถาปัตยกรรมของอาคารหลังนี้เป็นแบบโคโลเนียล ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ต่อมุขตรงมุมอาคารด้านเหนือและใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเข้าสู่แม่น้ำโขง ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนไม่เสริมเหล็ก โครงสร้างอาคารใช้ผนังรับน้ำหนักหลังคาปั้นหยา มุงกระเบื้องดินเผาสีแดง ส่วนประกอบโครงสร้างต่างๆ ทำจากไม้ พื้นอาคารทุกชั้นปูด้วยไม้กระดานวางบนตงไม้ ตัวอาคารหลักมี ๒ ชั้น จำนวน ๑๗ ห้อง ส่วนมุขซ้ายและขวามีชั้นที่ ๓ ประตูทางเข้าด้านหน้า ๓ ทาง ประตูด้านหลัง ๒ ทาง ห้องโถงกลางอาคารมีบันไดไม้ประดับราวลูกกรงไม้ เป็นทางเดินขึ้นไปบนชั้น ๒ แยกซ้ายและขวา
          กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน อาคารศาลากลางจังหวัดนครพนม (หลังเก่า) ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๒๒ เนื้อที่โบราณสถานประมาณ ๖ ไร่ ๙๒ ตารางวา โบราณสถานแห่งนี้ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดใน พ.ศ. ๒๕๕๐






-------------------------------------------------------
จัดทำข้อมูล : นางสาวเมริกา สงวนวงษ์ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
-------------------------------------------------------
ที่มา
- คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ.๒๕๔๒.วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครพนม.กรุงเทพฯ:คุรุสภาลาดพร้าว. - เกริกฤทธี ไทคูนธนภพ.สยาม ร.ศ.๑๑๒ วิกฤตแผ่นดิน พิพาทฝรั่งเศสและเสียดินแดน.กรุงเทพฯ:คอนเซพท์พริ้นท์.

(จำนวนผู้เข้าชม 2763 ครั้ง)

Messenger