พระพิมพ์ดินเผาจากโบราณสถานหมายเลข ๕ เมืองโบราณอู่ทอง
          พระพิมพ์ดินเผาจากโบราณสถานหมายเลข ๕ เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
          พระพิมพ์ดินเผา ด้านหน้าเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีพระรัศมีเป็นลูกแก้ว อุษณีษะเป็นกะเปาะสูง เม็ดพระศกใหญ่ พระพักตร์รูปวงรี พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรเหลือบลงต่ำ พระนาสิกโด่ง ทรงแย้มพระโอษฐ์ สีพระพักตร์แสดงถึงอารมณ์ของความสงบในสมาธิ ถือเป็นฝีมือการปั้นชั้นยอดของศิลปิน พระศอเป็นปล้อง ทรงครองจีวรห่มเฉียง จีวรบาง ชายสังฆาฏิสั้น ซ้อนบนพระอังสาซ้าย ชายจีวรยาวจากข้อพระหัตถ์ซ้ายพาดคลุมพระเพลา แลเห็นขอบสบงโค้งเป็นเส้นบริเวณบั้นพระองค์ และปรากฏชายผ้าพับซ้อนบนข้อพระบาทด้านหน้า จีวรทาน้ำดินสีแดง ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระชงฆ์ซ้ายวางทับอยู่บนพระชงฆ์ขวา ด้านหลังของพระพิมพ์แบนเรียบมีร่องรอยปูนติดอยู่ จากรูปแบบศิลปกรรมแบบทวารวดี กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ (ประมาณ ๑,๑๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว)
          จากการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข ๕ เมืองโบราณอู่ทอง ยังมีการค้นพบส่วนเศียรของพระพิมพ์ดินเผารูปแบบเดียวกัน แต่มีสภาพแตกหักอีกจำนวนหนึ่ง สันนิษฐานว่าทำจากแม่พิมพ์เดียวกัน นอกจากนั้นพระพิมพ์รูปแบบดังกล่าวนี้ ยังพบอีกเป็นจำนวนมากจากโบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ และ โบราณสถานพุหางนาคหมายเลข ๒
          พระพิมพ์ดินเผาจากโบราณสถานหมายเลข ๕ รวมถึงพระพิมพ์ดินเผารูปแบบเดียวกัน ซึ่งพบเป็นจำนวนมากจากโบราณสถานในเมืองโบราณอู่ทอง ถือเป็นรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมทวารวดี ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบรูปแบบดังกล่าวจากเมืองโบราณวัฒนธรรมทวารวดีแห่งอื่น ๆ การสร้างเป็นประติมากรรมนูนสูง ด้านหลังแบนเรียบ และใช้เทคนิคการขึ้นรูปจากแม่พิมพ์เพื่อให้ได้ประติมากรรมที่มีลักษณะเดียวกันเป็นจำนวนมาก และบางองค์มีร่องรอยของเศษปูนติดอยู่ที่ด้านหลังนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานบนผนังของศาสนถาน ตามคติความเชื่อเรื่องการสร้างพระพิมพ์จำนวนมากเพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา ก็เป็นได้


------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
------------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง
เด่นดาว ศิลปานนท์. โบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ ปริศนาวิหารถ้ำเมืองอู่ทอง. กรุงเทพ : อรุณการ พิมพ์, ๒๕๕๙. ปรัชญา รุ่งแสงทอง. ผลการขุดแต่งโบราณสถานพุหางนาคหมายเลข ๒ กับการตอบคำถามเรื่อง “หินตั้ง”ที่ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี. พุหางนาคและคอกช้างดินร่องรอยพุทธและพราหมณ์บนเขา ศักดิ์สิทธิ์. สมุทรสาคร:บางกอกอินเฮ้าส์, ๒๕๖๑. ห้างหุ้นส่วนจำกัดโบราณนุรักษ์. โบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี. ๒๕๕๘.

(จำนวนผู้เข้าชม 1394 ครั้ง)

Messenger