ประวัติการถ่ายภาพ (ตัวอย่างภาพวัดในกรุงเทพมหานคร)
          ภาพถ่าย ถือเป็นหลักฐานทางโบราณคดีประเภทหนึ่ง ที่ทำให้นักโบราณคดีใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการอธิบายเรื่องราวของมนุษย์ในอดีตได้ ก่อนจะเกิดภาพถ่ายแบบที่เรารู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน มนุษย์มีการบันทึกความทรงจำจากการวาดเขียนสิ่งที่จดจำมาจากเหตุการณ์ที่เคยได้เจอ ผสมผสานกับจินตนาการและความเชื่อ จนทำให้เกิดภาพที่เรียกได้ว่า เก่าแก่ที่สุดในโลก คือ ภาพเขียนสีของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๖ เกิดการบันทึกภาพจากการสร้างห้องมืด เรียกว่า คาเมรา ออบสคูรา และเกิดการจำลองภาพโครงทึบ ในช่วงศตวรรษที่ ๑๘ จนกระทั่งในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ มีการบันทึกภาพด้วยแสงเป็นภาพ ทำให้สามารถถ่ายรูปชนิดแบบติดถาวรได้รูปแรกของโลก โดย เนียพซ์ และในช่วงเวลาเดียวกันการถ่ายภาพถูกพัฒนาไปจนมีการประกาศวิธีการถ่ายรูปอย่างเป็นทางการสู่สาธารณะชน โดยเรียกระบบนี้ว่า “ดาแกร์โรไทพ์” หรือ “ทัลบอต”
          หลังจากที่ดาแกร์คิดค้นและประกาศวิธีการดังกล่าว การถ่ายภาพได้รับความนิยมอย่างมาก และกระจายไปยังดินแดนต่าง ๆ อย่างอินเดีย สิงคโปร์ และสยาม การนำเข้ามาในสยามนี้ เกิดจากการที่พระสังฆราชปาเลอกัว ได้ทดลองและเรียนรู้การถ่ายภาพร่วมกับ คุณพ่อยังบัปติส ปรังซัว หลุยส์ ลาร์โนดี ดังเอกสารจดหมายที่พระสังฆราชปาเลอกัวส์กับเพื่อน ๆ บาทหลวงที่ประจำอยู่ที่ศูนย์มิชชันนารีที่มาเก๊าและปารีส จดหมายฉบับนี้ลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๓๘๘ ความว่า “...ข้าพเจ้าได้ทดลองถ่ายรูปโดยใช้กล้องดาแกร์ พร้อมกับคุณลาโนร์ดีแล้ว...ข้าพเจ้าใช้เกือบหมดแล้ว เพราะข้าพเจ้าได้ถ่ายรูปพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ รวมทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญอีกหลายคนที่มาหา...” ภายหลัง ลาร์โนดี จึงนำกล้องถ่ายรูปเข้ามายังสยาม และทำให้การถ่ายภาพเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่ชนชั้นสูง หลังจากนั้นประชาชนจึงเริ่มรู้จักเทคโนโลยีการถ่ายภาพและนิยมบันทึกความทรงจำให้รูปแบบการถ่ายภาพตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
          การถ่ายภาพมีเรื่อยมาและมีผลงานให้เห็นมาจนจึงทุกวันนี้ และภาพถ่ายเก่าบางภาพเป็นภาพที่ถ่ายในโอกาสต่าง ๆ ทำให้โบราณสถานสำคัญได้รับการบันทึกเอาไว้ด้วย เช่น ภาพที่เจ้านายทรงทำบุญในงานรื่นเริง ซึ่งถ่ายติดศาลาสี่สมเด็จและพระที่นั่งทรงผนวชของวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร (ภาพที่ ๑) บางภาพเป็นภาพถ่ายมุมสูงที่ถ่ายโดย วิลเลียมส์ ฮันท์ ซึ่งต้องการถ่ายให้เห็นสภาพสถานที่ต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ในมุมกว้าง เพื่อต้องการเปรียบเทียบสภาพพื้นที่หากเกิดระเบิดเสียหายจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ ๒ โอกาสนี้ทำให้บางวัดถูกบันทึกภาพไปด้วย เช่น ภาพมุมสูงวัดอินทรวิหาร (มองเห็นหลวงพ่อโต (สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต) พระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขนาดใหญ่) ภาพมุมสูงยังถ่ายติดวัดใหม่อมสรส (ภาพที่ ๒) หรือ ภาพวัดราชบูรณะราชวรวิหาร ในช่วงที่พระปรางค์เสียหายจากแรงระเบิด ดังนั้นภาพถ่ายต่าง ๆ ของวัดยังมีประโยชน์สำหรับการเปรียบเทียบสภาพเดิมของวัดในอดีตกับปัจจุบันด้วย เช่น ภาพพระปรางค์เดิมของวัดราชบูรณะราชวรวิหารดังที่กล่าวไป หรือ ภาพอุโบสถวัดเบญจมบพิตรขณะกำลังปฏิสังขรณ์ เป็นต้น (ภาพที่ ๓ และ ภาพที่ ๔)


ภาพที่ ๑ ภาพที่เจ้านายทรงทำบุญในงานรื่นเริง ซึ่งถ่ายติดศาลาสี่สมเด็จและพระที่นั่งทรงผนวชของวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
ที่มา : ภาพจากหอจดหมายเหตุ


ภาพที่ ๒ วัดอินทรวิหาร และวัดใหม่อมตรส ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ภาพที่ ๓ วัดเบญจมบพิตรขณะกำลังปฏิสังขรณ์
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ภาพที่ ๔ วัดราชบูรณะ พระปรางค์ที่โดนแรงระเบิด
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

-----------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : สุวิมล เงินชัยโรจน์ กองโบราณคดี
-----------------------------------------------------

บรรณานุกรม
เอกสารอ้างอิง
ไกรฤกษ์ นานา. “ภาพมุมกว้าง: กรุงรัตนโกสินทร์เก่าที่สุดภาพแรกไม่ได้ถ่ายจากกล้องถ่ายรูป.” ศิลปวัฒนธรรม ๒๙, ๔ (กุมภาพันธ์๒๕๕๑): ๘๖ – ๑๐๔.
โจคิม เค. เบ้าวท์ซ. ฉายาลักษณ์สยาม: ภาพถ่ายโบราณ พ.ศ.๒๔๐๓ – ๒๔๕๓. แปลจาก Unseen Siam: Early Photography ๑๘๖๐ – ๑๙๑๐. แปลโดยจุฑามาส อรุณวรกุลและไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์. กรุงเทพฯ: ริเวอร์บุ๊คส์, ๒๕๕๙.
นิตยา ชำนาญป่า. “ภาพถ่ายกับงานประวัติศาสตร์ศิลปะ” การค้นคว้าอิสระตามหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๓.
ศักดา ศิริพันธุ์. กษัตริย์กับกล้อง. กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์, ๒๕๓๕.
สุรชาติทินานนท์. ศิลปะภาพถ่าย 1. เอกสารประกอบการสอนรายวิชาอศ 231 ศิลปะภาพถ่าย1 คณะ ศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
เอนก นาวิกมูล. ถ่ายรูปเมืองไทยสมัยแรก. กรุงเทพฯ: แสงแดด, ๒๕๓๐. ________. ประวัติการถ่ายรูปยุคแรกของไทย. กรุงเทพฯ: สารคดี, ๒๕๕๘.

(จำนวนผู้เข้าชม 1613 ครั้ง)

Messenger