เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ฉัฐรัชสมัย: ยุคทองของดนตรีไทยและนาฏศิลป์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับบท “นายมั่นปืนยาว”
จากการแสดงละคร เรื่องพระร่วง บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราโชบายในการเชิดชูเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมของชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระองค์ทรงปลูกฝังจิตสำนึกให้คนไทยเกิดความรักและความภาคภูมิใจในชาติของตน ในรัชกาลของพระองค์นั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้อนุรักษ์และฟื้นฟูจารีตขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยหลายอย่าง อีกทั้งพระองค์ยังทรงให้ความสนพระราชหฤทัยต่อการอนุรักษ์มรดกและวัฒนธรรมของชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านดนตรี นาฏศิลป์และการละคร สังเกตได้จากการที่พระองค์ท่านได้สละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนมากเพื่อทุ่มเทกับงานศิลปะแขนงนี้ ให้กลับมามีชีวิตชีวาและรุ่งเรืองอีกครั้งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งนี้เพราะทรงเล็งเห็นแล้วว่า หากไม่ทรงทำนุบำรุงให้ทันในเวลาที่เหมาะสม ความเสื่อมโทรมของดนตรีและนาฏศิลป์ของไทยก็จะดำเนินมาถึงในอีกไม่ช้า อีกทั้งผู้ที่สามารถจะถ่ายทอดวิชาความรู้ได้นั้น นับวันยิ่งมีแต่จะร่วงโรยลงไปตามกาลเวลา ประจวบกับในช่วงรัชสมัยของพระองค์นั้น เป็นช่วงที่พายุแห่งวัฒนธรรมตะวันตกกำลังเข้าสู่ประเทศสยาม เพลงฝรั่งกลายเป็นเพลงร้องที่ติดปากของชาวบ้านโดยทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น “เพลงคุณหลวง” ที่มีเนื้อร้องว่า “…คุณหลวง ๆ อยู่กระทรวงมหาดไทย ใส่เสื้อราชประแตนท์ ทำไมไม่แขวนนาฬิกา ....” ปัญหาในข้อนี้พระองค์ทรงให้ความใส่พระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่มีถึงพระยาไพศาลศิลปศาสตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ภายหลังคือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) ผู้บัญชาการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ความว่า
“…มีอยู่ข้อ ๑ ซึ่งข้าควรจะบอกเจ้าไว้ คือมีนักเรียนหลวงบางคนได้เคยหัดวิชาโขนอยู่แล้ว ถ้าจะทิ้งเสีย ข้าก็ออกจะเสียดายเพราะวิชานี้มันจะสูญอยู่แล้ว ยังมีที่หวังอยู่แต่ในพวกนี้ เพราะฉะนั้นข้าอยากจะขอให้ได้มีโอกาสฝึกซ้อมกันต่อไปบ้าง ตามสมควร ฯลฯ...”
จากพระราชหัตถเลขาบางส่วนข้างต้น แสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงมีความห่วงใยในศิลปวัฒนธรรมชั้นสูงของชาติแขนงนี้เป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้จึงทรงวางนโยบายตั้ง “กรมมหรสพ” โดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของพระราชสำนักขึ้น เพื่อมีหน้าที่ดูแลเรื่องดนตรีนาฏศิลป์และเพื่อที่พระองค์ท่านจะได้ทรงมีโอกาสให้ศิลปินทางด้านดนตรีและนาฏศิลป์เข้างานสนองพระเดชพระคุณได้ตามพระราชประสงค์ โดยพระราชทานพระราชวังจันทรเกษมให้เป็นที่ตั้งของกรม พร้อมทั้งโปรดให้มีโรงเรียน โรงโขน โรงฝึกซ้อม คลังเครื่องโขน โรงพยาบาล ที่พักอาศัยอย่างเสร็จสรรพ อีกทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ของกรมนี้ต่างได้รับ พระมหากรุณาธิคุณพระราชทานบรรดาศักดิ์และบ้างก็ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาอันเป็นเครื่องหมายความชอบเสมอด้วยวิชาประเภทอื่น ๆ จุดนี้เองแสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงพยายามฟื้นฟูและยกฐานะวิชาชีพของดนตรีไทยและโขนละครให้ทัดเทียมเท่ากับศาสตร์วิชาแขนงอื่น ๆ
คลังเครื่องโขนละครและเครื่องโรงของกรมมหรสพ ณ พระราชวังจันทรเกษม
(ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)
สำหรับราชทินนามที่พระราชทานให้กับข้าราชการด้านดนตรีไทยในกรมมหรสพนี้ เป็นราชทินนาม ที่ทรงประพันธ์ขึ้นใหม่โดยเพิ่มเติมจากของเก่าและทรงประพันธ์ให้มีความไพเราะคล้องจองผสมเข้ากับตำแหน่ง หน้าที่ของแต่ละท่าน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นราชทินนามอันไพเราะคล้องจองกัน ดังนี้
ประสานดุริยศัพท์ ประดับดุริยะกิจ ประดิษฐไพเราะ เสนาะดุริยางค์ สำอางดนตรี ศรีวาทิต สิทธิวาทิน พิณบรรเลงราช พาทย์บรรเลงรมย์ ประสมสังคีต ประณีตวรศัพท์ คนธรรพวาที ดนตรีบรรเลง เพลงไพเราะ เพราะสำเนียง เสียงเสนาะกรรณ สรรเพลงสรวง พวงสำเนียงร้อย สร้อยสำเนียงสนธ์ วิมลวังเวง บรรเลงเลิดเลอ บำเรอจิตจรุง บำรุงจิตเจริญ เพลินเพลงประเสริฐ เพริดเพลงประชัน สนั่นบรรเลงกิจ สนิทบรรเลงการ ชาญเชิงระนาด ฉลาดฆ้องวง บรรจงทุ้มเลิด บรรเจิดปี่เสนาะ ไพเราะเสียงซอ คลอขลุ่ยคล่อง ว่องจะเข้รับ ฯลฯ สำหรับราชทินนามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คัดลอกมาจากทำเนียบเดิมของกรมมหรสพ ส่วนบรรดาศักดิ์นั้นมีทั้งขุน หลวง พระ และพระยา โดยแต่ละท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ที่ต่างกันออกไป
ภาพถ่ายหมู่นักดนตรีไทยบรรดาศักดิ์ สังกัดกรมมหรสพ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ที่มา : กลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร )
พระราชจริยาวัตรของพระองค์ท่านนั้นเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ข้าราชบริพารว่าทุกเวลาที่ผ่านไปนั้นพระองค์จะทรงใช้ให้เกิดประโยชน์ทุกนาที แม้กระทั่งเวลาทรงพระเครื่องใหญ่ (ตัดผม) ซึ่งกินเวลานานราวชั่วโมงครึ่ง พระองค์ท่านจะใช้โอกาสนี้ในการตรวจสอบบทพระราชนิพนธ์ที่สำเร็จลงไปแล้วนั้น ว่ายังมีจุดใด ที่ยังขาดตกบกพร่องอยู่ โดยโปรดให้พนักงานกรมอาลักษณ์มาอ่านเป็นทำนองเสนาะถวายบ้าง โปรดให้พนักงานของกรมมหรสพขับเสภาทรงเครื่องถวายบ้าง ซึ่งบทที่นำมาอ่านขับถวายนั้นคัดเลือกจากบทละคร ที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ก่อน ๆ มาบรรเลงและขับร้องถวาย เพื่อที่พระองค์ท่านจะได้ทรงตรวจสอบชำระเรื่องบทกลอน เรื่องการบรรจุเพลง ทำนองเพลงที่ร้อง ว่าถูกต้องตามหลักทางดุริยางคศาสตร์หรือไม่ ทั้งนี้เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะรักษาคุณภาพศิลปะของเดิมของชาติไว้ให้เป็นมาตรฐานให้มากที่สุด เพื่อที่คนรุ่นหลังต่อไปที่จะรับสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมแขนงนี้ต่อ จะได้ไม่เที่ยวเก็บศิลปะกะหลาป๋ามาเป็นสมบัติของชาติ หากครั้งใดมีใครสัปดนแต่งทำนองร้องหรือบรรเลง อะไรที่ประหลาด ๆ ออกมา พระองค์จะทรงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หรือทรงทักท้วงขึ้นทันทีว่า “ร้องผิดทำนอง” แล้วพระองค์จะทรงร้องให้ฟังใหม่พร้อมทั้งหาพยานหรือหลักฐานมาประกอบทันที จนไม่มีผู้ใดกล้าอุตริแต่งทำนองร้องหรือบรรเลงเพลงต่าง ๆ ที่ไม่ถูกต้องขึ้นมาทำลายงานศิลปะอันดีของชาติให้เสื่อมหรือหม่นหมองลงไปได้
ทั้งหมดที่กล่าวมาแสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยะภาพของพระองค์ท่านที่มีต่อวงการดนตรีและนาฏศิลป์ของชาติไทยอันเป็นศิลปวัฒนธรรมชั้นสูงและทรงคุณค่าของชาติ บทความนี้ เรียบเรียงขึ้นเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระราชกรณียกิจในด้านดนตรีนาฏศิลป์ในรัชสมัยของพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์ พร้อมทั้งถวายเป็นเครื่องเพิ่มพูนพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ปรากฏสืบไป
---------------------------------------------
นายธำมรงค์ บุญราช นักวิชาการละครและดนตรีปฏิบัติการ สำนักการสังคีต
เรียบเรียงสนองพระเดชพระคุณเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
---------------------------------------------
(จำนวนผู้เข้าชม 15553 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน