เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
หีบพระสมุดกรมราชเลขานุการในพระองค์
เรื่องเล่าจากหอสมุดแห่งชาติ “หีบพระสมุดกรมราชเลขานุการในพระองค์” ที่ปรากฏการใช้งาน ณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี
เมื่อคราวย้ายหอพระสมุดวชิรญาณ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ภายหลังเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษก มาตั้งอยู่ ณ ตึกถาวรวัตถุ และทรงพระราชทานนามว่า “หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร” นั้น ปรากฏสิ่งของเครื่องใช้ ซึ่งตกทอดมาตั้งแต่ครั้งเป็นหอพระสมุด วชิรญาณ ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง โดยยังปรากฏและใช้งานมาจนถึงปัจจุบันนอกเหนือจากหนังสือตัวเขียน หนังสือตัวพิมพ์ ตู้พระธรรม ตู้หนังสือ โต๊ะและเก้าอี้ นั้น ยังมีหีบไม้สัก ขนาดใหญ่ จำนวน ๕ ใบ ที่ปรากฏการใช้งาน ณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าได้มาจากแหล่งใด
จากการสันนิษฐานโดยหลักฐานที่ปรากฏบนหีบ คือ แผ่นทองเหลืองที่พบเพียงแผ่นเดียวจากหีบจำนวน ๕ ใบ ซึ่งมีการสลักอักษรโดยการนำพยัญชนะและสระมาไว้ในบรรทัดเดียวกัน ความเป็นไปได้ของหีบทั้งห้าใบนี้ อาจจะเป็น “อักษรอริยกะ” ซึ่งเป็นอักษรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ขึ้นเมื่อครั้งทรงผนวช และอีกความเป็นไปได้ คือ อักษรที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ขึ้น โดยทรงบัญญัติเป็นระเบียบวิธีเขียนหนังสือไทยแบบใหม่ ดังปรากฏในพระบรมราชาธิบายว่าด้วยเรื่อง “วิธีใหม่สำหรับใช้สระและเขียนหนังสือไทย” เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๐
แต่เนื่องด้วยบนแผ่นทองเหลืองสลักคำว่า “หีบพระสมุดกรมราชเลขานุการในพระองค์” ซึ่งจากการค้นคว้าพบว่า กรมราชเลขาธิการหรือออฟฟิศไปรเวตสิเกรตารีหลวง ตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๓ ตรงกับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีเป็นพระองค์แรก จึงเป็นไปไม่ได้ที่แผ่นทองเหลืองที่ปรากฏจะเป็นอักษรอริยกะ ประเด็นสำคัญคือ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคิดรูปสระและวิธีการเขียนหนังสือไทยแบบใหม่ขึ้น โดยการนำพยัญชนะและสระมาไว้ในบรรทัดเดียวกันเช่นเดียวกับอักษรอริยกะ ซึ่งเขียนได้สวยงามเป็นระเบียบ ไม่กำกวม อ่านง่าย ทำให้เข้าใจในภาษาได้ถูกต้อง ทั้งนี้ในรัชสมัยของพระองค์ท่านได้มีการปรับปรุงส่วนราชการต่างๆ ในกระทรวงวังขึ้น ๒๐ กรม แต่ยังไม่ปรากฎชื่อกรมราชเลขานุการในพระองค์
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อกระทรวงวังเป็น ศาลาว่าการกระทรวงวัง และมีการแบ่งส่วนราชการออกเป็น ๑๐ กรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งกระทวงและกรม พุทธศักราช ๒๔๗๖ ซึ่งหนึ่งใน ๑๐ กรม ที่ปรากฏนามคือ กรมราชเลขานุการในพระองค์
ดังนั้นจากหลักฐานทั้งหมดดังที่กล่าวในข้างต้น หีบพระสมุดของกรมราชเลขานุการในพระองค์ ทั้งห้าใบนั้น สันนิษฐานว่าถูกจัดทำขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๗๖ และสลักอักษรลงบนแผ่นทองเหลืองตามระเบียบวิธีเขียนหนังสือไทยแบบใหม่ ในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปัจจุบัน “หีบพระสมุดกรมราชเลขานุการในพระองค์” จัดแสดง ณ บริเวณโถงกลางห้องหนังสือประเทศไทย ราชกิจจานุเบกษา และหนังสือนานาชาติ อาคาร ๑ ชั้น ๓ และหากผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลที่ชัดเจนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดกันได้นะคะ ขอบคุณค่ะ
ภาพแผ่นทองเหลืองสลักคำว่า “หีบพระสมุดกรมราชเลขานุการในพระองค์”
ภาพหีบพระสมุดกรมราชเลขานุการในพระองค์
-----------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล: นางสาวรวิวรรณ พุฒซ้อน บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
-----------------------------------------------
บรรณานุกรม
จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ. จากลายสือไทยสู่อักษรไทย. กรุงทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๑. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานหอพระสมุด หอพระมณเฑียรธรรม หอวชิรญาณ หอพุทธสาสนสังคหะ แลหอสมุดสำหรับพระนคร. พระนคร: อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๑๒. พระบรมราชาธิบายพระบาสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว : วิธีใหม่สำหรับใช้สระและเขียนหนังสือไทย. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยเขษม, ๒๔๙๓. “พระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงและกรม พุทธศักราช ๒๔๗๖” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๐ (๑๒ พ.ค. ๒๔๗๖) ๑๗๗. แม้นมาส ชวลิต. ประวัติหอสมุดแห่งชาติ. พระนคร: กรมศิลปากร, ๒๕๐๙.
(จำนวนผู้เข้าชม 1049 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน