พระเศียรและพระบาท พระพุทธรูปทองคำ พบที่เมืองโบราณอู่ทอง
          พระเศียรและพระบาท พระพุทธรูปทองคำ พบจากการขุดแต่งเจดีย์หมายเลข ๒ เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง



          พระเศียรพระพุทธรูป สูงประมาณ ๕ เซนติเมตร พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรปิด พระกรรณยาว พระโอษฐ์อมยิ้ม จากรูปแบบศิลปกรรมกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว) และพระบาทพระพุทธรูป ยาวประมาณ ๓.๕ เซนติเมตร มีพระองคุลีบาท (นิ้วพระบาท) ยาวเสมอกัน พระปราษณี (ส้นพระบาท) ยาว และมีฝ่าพระบาทราบ พุทธลักษณะเหล่านี้ ช่างสมัยทวารวดีสร้างขึ้นตามตำรามหาปุริสลักขณะ (มหาบุรุษลักษณะ)
          พระเศียรและพระบาทพระพุทธรูปทองคำนี้ พบจากการขุดแต่งด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเจดีย์หมายเลข ๒ เมืองโบราณอู่ทอง เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๖ ถึงแม้พระเศียรและพระบาทดังกล่าวจะไม่ได้ขุดพบร่วมกัน แต่บริเวณที่พบโบราณวัตถุทั้งสองชิ้นไม่ห่างกันนัก ประกอบกับขนาดและสัดส่วนของพระเศียร และพระบาทดังกล่าว มีความสอดคล้องกัน จึงสันนิษฐานว่าเป็นชิ้นส่วนของพระพุทธรูปองค์เดียวกัน และเป็นพระพุทธรูปยืน ซึ่งอาจแสดงวิตรรกะมุทรา (ปางแสดงธรรม) อันเป็นที่นิยมในสมัยทวารวดี แบบเดียวกับกลุ่มพระพุทธรูปสำริด พบในเมืองโบราณอู่ทอง ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว) แสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลจากศิลปะอินเดีย ที่เริ่มมีการผสมผสานกับศิลปะท้องถิ่น และพัฒนาเป็นรูปแบบของพระพุทธรูปศิลปะทวารวดีในที่สุด
          พระพุทธรูปทองคำองค์นี้ จัดเป็นงานศิลปกรรมชิ้นเยี่ยมสมัยทวารวดี ทองคำถือเป็นโลหะมีค่า ที่ใช้สร้างรูปเคารพและเครื่องประดับสมัยทวารวดี แม้พระพุทธรูปองค์นี้จะมีขนาดเล็ก แต่มีลายละเอียดชัดเจน แสดงถึงความชำนาญ ฝีมือและภูมิปัญญาของช่างทองสมัยทวารวดี นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในอดีตของเมืองโบราณอู่ทองได้เป็นอย่างดี

------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
------------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๒ สุพรรณบุรี กรมศิลปากร จัดพิมพ์, ๒๕๔๕. กรมศิลปากร. ศิลปะทวารวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๕๒. พนมบุตร จันทรโชติ และคณะ. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง และเรื่องราวสุวรรณภูมิ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๐. สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง. เปิดประตูสู่ทวารวดี. นครปฐม : มิตรเจริญการพิมพ์ จำกัด, ๒๕๖๑.

(จำนวนผู้เข้าชม 1898 ครั้ง)

Messenger