เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
เหรียญอาหรับสมัยราชวงศ์อับบาสิยะฮ์จากเมืองโบราณอู่ทอง
เหรียญอาหรับ พบที่เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ปัจจุบันมีหลักฐานการพบเหรียญอาหรับจากเมืองโบราณอู่ทอง จำนวนไม่น้อยกว่า ๙ เหรียญ สำหรับเหรียญอาหรับ จำนวน ๒ เหรียญ ซึ่งจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เป็นเหรียญทองแดง ขนาดเล็ก ผ่านศูนย์กลาง ๑.๙ เซนติเมตร ทั้ง ๒ ด้านมีจารึกตัวอักษรอาหรับ ภาษาอาหรับตรงกลางเหรียญและริมขอบเหรียญ จารึกบางส่วนค่อนข้างลบเลือนทำให้เกิดข้อจำกัดของการอ่านและแปลความ จากการอ่านและแปลความของนักวิชาการทำให้ทราบว่า เนื้อหาบนเหรียญทั้ง ๒ ด้าน มีข้อความที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในศาสนาอิสลาม ดังนี้
ด้านที่ ๑ จารึกข้อความว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ ไม่มีภาคีใดเสมอพระองค์
ด้านที่ ๒ จารึกข้อความว่า มุฮัมมัดศาสนทูตของอัลลอฮ์ อัดล์(ยุติธรรม?)
เหรียญของชาวอาหรับ ผลิตขึ้นหลังการปฏิรูปเหรียญตรา โดยเปลี่ยนจากต้นแบบเหรียญโรมัน-เปอร์เซียที่มีรูปบุคคล เป็นเหรียญแบบที่มีแต่ตัวอักษรอาหรับ ระบุข้อความที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในศาสนาอิสลาม เช่น ข้อความจากคัมภีร์อัล-กุรอ่าน คำปฏิญาณ รวมถึงปีและสถานที่ผลิตเหรียญ เมื่อปี พ.ศ. ๑๒๓๙ ในสมัยคอลีฟะฮ์อับดุลมาลิค บิน มัรวาน (Caliph Abd al-Malik ibn Marwan) คอลีฟะฮ์หรือกาหลิบแห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์ (Umayyad Dynasty, พ.ศ. ๑๒๐๔ – ๑๒๙๓) ซึ่งเป็นราชวงศ์ของชาวอาหรับที่นับถือศาสนาอิสลาม เหรียญอาหรับที่ผลิตขึ้นในสมัยดังกล่าว ใช้วัสดุแตกต่างกัน ๓ ชนิด ได้แก่ เหรียญทอง ดีนาร์ (Dinar) เหรียญเงิน ดิรฮัม (Dirham) และเหรียญทองแดง ฟิลส์ (Fils)
เหรียญอาหรับที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง กำหนดอายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว โดยสันนิษฐานว่าผลิตขึ้นในสมัยคอลีฟะฮ์อัล-มันซูร (Caliph al-Mansur) แห่งราชวงศ์อับบาสิยะห์ (Abbasid Dynasty, พ.ศ. ๑๒๙๓ – ๑๘๐๑) ทรงครองตำแหน่งในระหว่าง พ.ศ. ๑๒๙๗ – ๑๓๑๘ เป็นผู้ทรงริเริ่มก่อสร้างนครแบกแดด (ปัจจุบันกรุงแบกแดดเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐอิรัก) ซึ่งในเวลานั้นเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าสำคัญที่มีการติดต่อค้าขายทางทะเลกับประเทศจีน และดินแดนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การค้นพบเหรียญอาหรับจากเมืองโบราณอู่ทอง ถือเป็นหลักฐานหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ มีการติดต่อสัมพันธ์กับผู้คนจากดินแดนตะวันออกกลาง มาตั้งแต่สมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากเหรียญที่พบมีจำนวนไม่มากนัก จึงสันนิษฐานว่า เหรียญดังกล่าว อาจไม่ได้ใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนหรือค้าขาย แต่อาจเป็นของที่ระลึก หรือของที่นำติดตัวมากับพ่อค้าชาวตะวันออกกลาง ซึ่งเดินทางเข้ามาในพื้นที่บริเวณเมืองโบราณอู่ทองในช่วงเวลาดังกล่าว
--------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
--------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
โครงการศิลป์เสวนา ฝ่ายวิชาการ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑). สุนิติ จุฑามาศ. โบราณคดีอิสลาม การค้าทางทะเลสู่อิสลามานุวัตรในยุคโบราณทวารวดี-ศรีวิชัย สู่รัฐสุลต่านมลายูปาตานี. ศิลป์เสวนาเรื่อง “โบราณคดีอิสลาม จากรัฐทวารวดี ศรีวิชัย ถึงอยุธยา”. [Video file]. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=8INszwEqcuA วิภาดา อ่อนวิมล. “เหรียญตราในประเทศไทยช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๖”. วิทยานิพนธ์ปริญญา ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๖๑. สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง. ทวารวดี : ประตูสู่การค้าบนเส้นทางสายไหมทางทะเล. กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๘.
(จำนวนผู้เข้าชม 3689 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน