เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
อักษรพระปรมาภิไธยย่อ จปร ในจังหวัดราชบุรี
อักษรพระปรมาภิไธยย่อ คืออักษรที่ย่อจากพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ให้เหลือเพียง ๓ อักษร สำหรับอักษรพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มาจากคำว่า “มหาจุฬาลงกรณ์ปรมราชาธิราช” จึงมีอักษรพระปรมาภิไธยว่า “จ.ป.ร.” เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปตามสถานที่ต่างๆ ได้ทรงจารึกอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จปร ไว้ อันเป็นเครื่องหมายการเสด็จเยือนของพระองค์ ซึ่งได้เดินทางไปในที่นั้นๆ
ราชบุรีเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินเมืองราชบุรีถึง ๑๐ ครั้ง โดยเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อประกอบพระราชกรณียกิจและเป็นการเสด็จประพาสต้น มีการพบจารึกอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ซึ่งนับเป็นหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่จังหวัดราชบุรีนี้เช่นกัน จารึกอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จปร ในจังหวัดราชบุรีพบทั้งหมด ๕ แห่ง ดังนี้
๑. ถ้ำจอมพล ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี พบจารึกอักษร จปร ๑๑๔ นับเป็นอักษรพระปรมาภิไธยที่ ๒๑ ในรัชกาลที่ ๕
๒. ถ้ำจระเข้ ต.เกาะพลับพลา อ.เมือง จ.ราชบุรี พบจารึกอักษร จปร ๑๑๔ (ปัจจุบันยังสำรวจหาถ้ำไม่พบ สันนิษฐานว่าปากถ้ำได้ถูกปิดทับไปแล้ว) นับเป็นอักษรพระปรมาภิไธยที่ ๒๒ ในรัชกาลที่ ๕
๓. ถ้ำระฆัง(ถ้ำค้างคาว) ในเขตพื้นที่ค่ายบุรฉัตร ต.เกาะพลับพลา อ.เมือง จ.ราชบุรี พบจารึกอักษร จปร ๑๑๘ นับเป็นอักษรพระปรมาภิไธยที่ ๓๓ ในรัชกาลที่ ๕
๔. เขาวังสะดึง ต.เขาแร้ง อ.เมือง จ.ราชบุรี พบจารึกอักษร จปร ๑๑๘ นับเป็นอักษรพระปรมาภิไธยที่ ๓๔ ในรัชกาลที่ ๕
๕. ถ้ำสาริกา ต.ธรรมเสน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี พบจารึกอักษร จปร ๑๑๘ นับเป็นอักษรพระปรมาภิไธยที่ ๓๕ ในรัชกาลที่ ๕
ในการเสด็จพระราชดำเนินแต่ละครั้งจะมีพระราชหัตถเลขาบรรยายไว้ทุกครั้ง ดังเช่น การเสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลราชบุรี เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๒
“...วันที่ ๑๒ ตุลาคม...ครั้นเสวยเครื่องว่างเวลาเช้าแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปตามทางบนเขาวังสดึง ถึงที่ไหล่เขาแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้จัดการรับเสด็จได้จัดเปนที่ทรงจารึกพระบรมนามาภิไธย ได้ทรงจารึกพระบรมภิไธยโดยย่อ จ ป ร แลเลข ๑๑๘ ที่น่าผา แห่งเขาวังสดึงด้านตะวันตกแล้วเสด็จพระราชดำเนินต่อไป...”
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงบันทึกเรื่องราวของอักษรพระปรมาภิไธยย่อที่ทรงได้พบอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี ในรายงานเสด็จตรวจราชการมณฑลราชบุรี เมืองราชบุรีและเมืองสมุทรสงคราม พ.ศ.๒๔๔๑ ร.ศ. ๑๑๗ เมื่อครั้งเสด็จถ้ำห้วยตะแคง ซึ่งอยู่ทางด้านเหนือของเขางู ถ้ำนี้ไม่สามารถพายเรือเข้าไปได้ พระองค์ทรงพบรอยถ่านไฟ เขียนอักษรพระนาม จปร. ความว่า “... เข้าไปพบของประหลาด คือมีรอยถ่านไฟเขียนไว้บนเพดานถ้ำเปนอักษรพระนาม จ.ป.ร. รูปอย่างที่ทรงจำหลักศิลาในสถานที่ต่างๆ แลมีตัวเลข ๑๑๔ อยู่ใต้นั้นด้วย เปนที่ฉงนสนเท่ห์ใจเปนอย่างยิ่ง ด้วยเมื่อศก ๑๑๔ เสด็จประพาศเมืองราชบุรี ฉันก็ตามเสด็จในเที่ยวนั้น จำได้ว่าทรงอักษรพระนามจำหลักไว้แต่ปากถ้ำจอมพลที่เขากลางเมือง ถึงว่าเมื่อเสด็จกลับจากจอมบึงได้ทรงม้าเลียบเขางูมาทางนี้ก็ไม่ปรากฏว่าได้เสด็จประพาศถ้ำห้วยตะแคง เหตุใดจึงมีอักษรพระนามเขียนไว้ที่หลังถ้ำนี้ แลเหตุใดจึงไม่มีจำหลัก แปลไม่ออกเกิดเปนความสงไสยว่าจะเปนลายพระราชหัตถเลขาแท้หรือใครไปแลเห็นที่ปากถ้ำจอมพลแลลองเอามาเขียนไว้ที่นี้ เพื่อบูชาหรือประการใด มีความสงสัยอยู่ดังนี้ จึงยังไม่กล้าสั่งให้จำหลักรอยลงในศิลา...”
“อักษรพระปรมาภิไธยย่อ” ที่พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วโปรดให้จารึกไว้ในสถานที่ต่างๆ นี้ ถือเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติที่สำคัญ ที่แสดงให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจทรงเยี่ยมทุกข์สุขของราษฎรถึงแม้จะอยู่ในถิ่นทุรกันดารเพียงใด พร้อมกับทอดพระเนตรโบราณสถานต่างๆ ความประทับใจในความงามของธรรมชาติที่ได้เสด็จไปทั่วทุกแห่งหนบนผืนแผ่นดินของพระองค์ และแสดงให้เห็นถึงความสนพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ที่ทรงถ่ายทอดเหตุการณ์และทรงสร้างสรรค์หลักฐาน จารึกเรื่องราวให้คนรุ่นหลังได้สามารถศึกษาอดีตได้
ภาพ ๑ อักษรพระปรมาภิไธยย่อที่จารึกไว้ ณ ถ้ำจอมพล
ภาพ ๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ประทับบนแคร่ไม้ บริเวณถ้ำจอมพล
ภาพ ๓ อักษรพระปรมาภิไธยย่อที่จารึกไว้ ณ เขาวังสะดึง
ภาพ ๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเขาวังสะดึง เมื่อวันที่ ๑๒ ต.ค. พ.ศ. ๒๔๔๒
ภาพ ๕ อักษรพระปรมาภิไธยย่อ ที่จารึกไว้ ณ ถ้ำสาริกา
ภาพ ๖ อักษรพระปรมาภิไธยย่อ ที่จารึกไว้ ณ ถ้ำระฆัง
--------------------------------------------
เรียบเรียง : นางสาวปราจิน เครือจันทร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี
--------------------------------------------
อ้างอิง
กรมศิลปากร, พระปรมาภิไธยที่พบในประเทศไทย, กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๕๔. มโน กลีบทอง,พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี,สำนักพิมพ์สมาพันธ์ จำกัด,พ.ศ.๒๕๔๔. สถาบันดำรงราชานุภาพ “รายงานการเสด็จตรวจราชการมณฑลราชบุรี เมืองราชบุรีและเมืองสมุทรสงคราม พ.ศ.๒๔๔๑ ร.ศ.๑๑๗” การเสด็จตรวจราชการหัวเมืองของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรง ราชานุภาพ,๒๕๕๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 9824 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน