เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
กู่โพนวิจ จังหวัดร้อยเอ็ด
กู่โพนวิจ ตั้งอยู่บ้านกู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด อยู่ห่างจากกู่กาสิงห์ ไปทางทิศเหนือประมาณ ๕๐๐ เมตร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘ ตอนพิเศษ ๑๒๔ ง หน้า ๙ วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๔ มีพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ ๓ งาน ๓๖ ตารางวา
ชื่อ “กู่โพนวิจ” มาจากการพบหลักฐานส่วนฐานรูปเคารพสี่เหลี่ยมผืนผ้า บริเวณเนินโบราณสถานจำนวนหลายชิ้น ประกอบกับพบชิ้นส่วนรางน้ำมนต์ ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นฐานส้วม จึงเรียกโบราณสถานแห่งนี้ว่า “โพนเว็จ” หรือ “โพนวิจ”
กู่โพนวิจ ลักษณะเป็นอาคาร ๕ หลัง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ส่วนฐานอาคารก่อด้วยศิลาแลง แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สูงจากพื้นดินประมาณ ๒ เมตร ก่อเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย ไม่พบบันไดทางขึ้นสันนิษฐานว่าเดิมอาจใช้บันไดไม้ภายหลังได้ผุพังสลายไป เพราะมีร่องรอยของหลุมเสาบนฐานศิลาแลง ซึ่งน่าจะเป็นหลุมเสาไม้ แนวฐานด้านทิศเหนือหายไปเนื่องจากถูกขุดเอาศิลาแลงไปสร้างวัดประจำหมู่บ้าน ในสมัยหลัง พื้นบนฐานเป็นทรายอัดแน่นปูด้วยศิลาแลง บนฐานศิลาแลงก่อเป็นฐานอาคารสูงประมาณ ๗๐ เซนติเมตร จำนวน ๕ ฐาน สันนิษฐานว่าเป็นฐานรองรับอาคารเครื่องไม้ ด้านหน้าทิศตะวันออกของ ฐานอาคาร มีอาคารสองหลังตั้งอยู่ ลักษณะเป็นอาคารผังรูปสี่เหลี่ยมก่อผนังทึบทั้ง ๔ ด้าน อาคารด้าน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือถูกรื้อจนเหลือเพียงแนวหินชั้นเดียว ส่วนอาคารทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงสภาพเกือบสมบูรณ์ ภายในเป็นดินอัดแน่น สันนิษฐานว่าเป็นอาคารเครื่องไม้ที่มีฐานสูง ใช้เป็นบรรณาลัยประจำศาสนสถาน
จากการขุดแต่งโบราณสถานและขุดตรวจชั้นดินทางโบราณคดี ใน พ.ศ. ๒๕๔๕ ทำให้ทราบว่า กู่โพนวิจสร้างขึ้นบนพื้นที่ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย เนื่องจากพบโบราณวัตถุสมัย ก่อนประวัติศาสตร์และภาชนะบรรจุศพขนาดใหญ่ ซึ่งสัมพันธ์กับประเพณีการฝังศพครั้งที่ ๒ ในภาชนะดินเผา ที่มักพบในแหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ ต่อมาเมื่อเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ จึงมีการสร้างศาสนสถานเนื่องในศาสนาฮินดูขึ้น โดยพิจารณาจากโบราณวัตถุที่พบ ซึ่งส่วนมากเกี่ยวข้องกับเทพเจ้าในศาสนาฮินดู โดยเฉพาะพระนารายณ์และพระศิวะ เนื่องจากพบท่อนพระกรและพระหัตถ์ ของพระนารายณ์ในขนาดต่างๆกัน และจากการขุดแต่งยังพบแท่นโยนีมีช่องเดือย เป็นรูป ๘ เหลี่ยม ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับศิวลึงค์ อันเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของพระศิวะ นอกจากนี้ยังพบทวารบาลรูปมหากาล ซึ่งมักพบในเทวสถานของพระศิวะ
----------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นางสาวศุภภัสสร หิรัญเตียรณกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
----------------------------------------------
อ้างอิงจาก
สำนักงานศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี. โบราณสถาน กู่โพนวิจ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด. ม.ป.ท. : ม.ป.ป. (อัดสำเนา)
(จำนวนผู้เข้าชม 1453 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน