เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
อานันทะตาณฑวะ (Ānandatāṇḍava)
อานันทะตาณฑวะ เป็นนามประเภทหนึ่งของ นฤตตมูรติ (Nṛtamūrti) คือปางเต้นรำของพระศิวะในฐานะเจ้าแห่งการเต้นรำและศิลปะการละคร (นาฏราช-Śiva Naṭarāja) //รูปแบบการเต้นรำของพระศิวะ พบมากที่สุด 2 รูปแบบ คือ ลาสยะ (Lāsya) เป็นรูปแบบการเต้นรำที่นุ่มนวล แสดงออกถึงความความสุข ความสง่างาม เกี่ยวข้องกับการสร้างโลก และ ตาณฑวะ (Tāṇḍava) รูปแบบการเต้นรำที่ดุดัน มีท่วงท่าการเคลื่อนไหวที่แข็งแรงและรวดเร็ว เกี่ยวข้องกับการทำลายล้างโลก ทั้งสองรูปแบบเป็นการแสดงถึงธรรมชาติ 2 ด้านของพระศิวะ ผู้ทำลายล้าง เพื่อการสร้างสรรค์ใหม่
การเต้นรำของพระศิวะรูปแบบ ตาณฑวะ ได้รับการอธิบายว่า เป็นการเต้นรำที่มีพลัง เป็นที่มาของวัฏจักรแห่งจักรวาล คือ การสร้าง การดำงอยู่ และการเสื่อมทำลาย จำแนกเป็น อานันทตาณฑวะ (Ānandatāṇḍava) เป็นการแสดงออกด้วยความสุข และ รุทระตาณฑวะ (Rudratāṇḍava) แสดงให้เห็นถึงธรรมชาติที่รุนแรง ในฐานะผู้สร้างและผู้ทำลายจักรวาล แม้กระทั่งความตาย
พระศิวะปางอานันทะตาณฑวะ แปลตามศัพท์ว่า “การเต้นรำแห่งความสุข” เรียกอีกว่า ภุชงคตราสิตะ (Bhujaṅgatrāsita) แปลว่า “งูตกใจกลัว” มีความเกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับรูปประติมากรรมนาฏราชสกุลช่างโจละ (Cola school) ในอินเดียภาคใต้ พระศิวะปางนี้ มี ๔ กร ทรงเต้นรำ (นาฏยสถานะ-nāṭyasthāna) โดยพระชงฆ์ข้างขวาย่อเล็กน้อย ยืนเหยียบอยู่บนพื้น ส่วนพระชงฆ์ข้างซ้ายยกขึ้น พับไปทางพระชงฆ์ขวา (กุญจิตปาทะ-Kuñcitapāta) แสดงพลังในการเต้นรำ ล้อมรอบด้วยวงรัศมีรูปเปลวไฟ สัญลักษณ์แทนไฟจักรวาล ที่สร้างและทำลายทุกสิ่งที่ดำรงอยู่เป็นวัฏจักรของชีวิต (แสดงวงจรของจักรวาล การเกิดขึ้น การคงอยู่ การเสื่อมทำลาย และการฟื้นฟูขึ้นใหม่)
พระพักตร์แสดงอาการแย้มพระโอษฐ์ สื่อถึงความสุขสงบ มี 3 เนตร เป็นแทนของพระอาทิตย์และพระจันทร์ และเนตรที่สามได้รับการตีความว่า หมายถึงตาภายใน หรือสัญลักษณ์แห่งความรู้ (ชญาน-Jñāna) พระเกศาเกล้า ทรงชฏามกุฏ (Jaṭāmakuṭa) แผ่กระจายออกที่เบื้องหลังพระเศียร ด้วยความรุนแรงและสนุกสนานของการเต้นรำ เบื้องขวาของพระเศียรมีรูปขนาดเล็กของพระคงคา (Gaṅgā) ครึ่งร่างของพระวรกายคล้ายกับน้ำไหล ตามความในเทวปกรณ์ ซึ่งกล่าวว่าพระศิวะทรงใช้พระเกศาชะลอพระคงคาที่เสด็จลงจากสวรรค์อย่างรวดเร็วให้สงบลงสำหรับการฟื้นฟูชีวิต พระเกศตกแต่งด้วยหัวกะโหลกมนุษย์ สัญลักษณ์ของความตาย ทัดเสี้ยวจันทร์ (Candra) และ ดอกธัตตูระ (Dhattūra-ดอกลำโพง อันเป็นพิษ ทำให้เกิดโรค ซึ่งใช้ในการบูชาพระศิวะ) เป็นเครื่องประดับ
กรขวาบนแสดงฑมรุหัสตะ(Ḍamaruhasta) ถือกลองสองหน้าขนาดเล็ก (ฑมรุ-Ḍamaru) เป็นสัญลักษณ์ของจังหวะและกาลเวลา พระหัตถ์ซ้ายแสดงอรรธจันทรมุทรา (Ardhacandramudrā) ฝ่ามือหงายรูปเสี้ยวจันทร์ ถือไฟ (อัคนิ-Agni) เป็นเครื่องหมายของการสร้างสรรค์และการทำลายล้าง แสดงภาวะที่ขัดแย้งกันของชีวิต กรขวาล่างมีงูพันรอบพระกร พระหัตถ์แสดงอภยมุทรา (Abhayamudrā) เป็นสัญลักษณ์แห่งการปกป้องคุ้มครองผู้ศรัทธาให้ปราศจากความหวาดกลัวจากความชั่วร้ายและความไม่รู้ที่อยู่โดยรอบ พระหัตถ์ซ้ายล่างแสดงคชมุทรา (Gajamudrā) เหยียดพระกรข้ามผ่านพระอุระอย่างสง่างาม พระหัตถ์ชี้ลงยังพระบาทที่ยกลอยขึ้น แสดงภาวะการปกปิด
พระบาทข้างขวาเหยียบอยู่บนอปัสมารปุรุษ (Apasmārapuruṣa) ภาษาทมิฬเรียกว่า มูยฬกะ (Mūyaḷaka) หรือ มูยฬกัน (Mūyaḷakan) มีรูปเป็นคนแคระ ในมือถืองู สัญลักษณ์ของความชั่วร้ายและอวิชา (ความไม่รู้) ซึ่งการเต้นรำอันศักดิ์สิทธิ์ของพระศิวะ ทำให้ได้รับชัยชนะ
----------------------------------------------
ผู้เรียบเรียง: นางสาวเด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
----------------------------------------------
อ้างอิง
Liebert, Gosta. Iconographic Dictionary of the Indian Religions Hinduism-Buddhism-Jainism. Leiden: E.J. Brill, 1976. Stutley , Margaret. The illustrated dictionary of Hindu iconography. London : Routledae & Kegan Paul, 1985. https://en.wikipedia.org/wiki/Lasya https://en.wikipedia.org/wiki/Tandava https://en.wikipedia.org/wiki/Nataraja
(จำนวนผู้เข้าชม 3304 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน