เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
โบราณสถานวัดพระสี่อิริยาบถตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือที่เป็นเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร ผังของตัววัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้าวัดมีอาคารอาบน้ำและบ่อน้ำที่ขุดเจาะลงไปในชั้นศิลาแลงเพื่อนำศิลาแลงมาใช้ในการก่อสร้างอาคาร
สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัดประกอบด้วยอาคารวิหารที่ตั้งอยู่ด้านหน้า มีฐานสองชั้นโดยฐานชั้นล่างหรือที่เรียกว่าฐานประทักษิณสร้างเป็นแบบฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ริมผนังด้านข้างใช้ศิลาแลงก่อเป็นลูกกรงเตี้ย ๆ เลียนแบบเครื่องไม้ ส่วนฐานวิหารที่อยู่ด้านบนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ภายในปรากฏแท่นอาสนสงฆ์และแท่นชุกชีที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูป เสารองรับเครื่องบนเป็นศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยม
ด้านหลังวิหารเป็นอาคารมณฑปขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว มีประตู ๓ ด้าน คือ ด้านทิศเหนือ ด้านทิศตะวันตกและด้านทิศใต้ ยกเว้นด้านทิศตะวันออกที่เชื่อมต่อกับท้ายวิหาร ลักษณะมณฑปเป็นแบบจัตุรมุข กึ่งกลางเป็นแท่งสี่เหลี่ยมเพื่อรับส่วนยอดหลังคา มีมุขยื่นออกมาทั้ง ๔ ทิศ แต่ละด้านของแท่งสี่เหลี่ยมก่อผนังให้เว้าเข้าไปและประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นใน ๔ อิริยาบถ คือ ผนังด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปอิริยาบถเดิน (ลีลา) ด้านทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถนอน (ไสยาสน์) ด้านทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถนั่งและด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถยืน ซึ่งเป็นด้านที่พระพุทธรูปยังคงปรากฏสภาพค่อนข้างสมบูรณ์มากกว่าด้านอื่น ๆ โดยเป็นพระพุทธรูปในศิลปะสุโขทัย หมวดกำแพงเพชร พิจารณาจากลักษณะของพระพักตร์ คือพระนลาฏกว้าง (หน้าผากกว้าง) และพระหนุเสี้ยม (คางแหลม)
พระอุโบสถเป็นอาคารขนาดเล็กฐานเตี้ย อยู่ติดกับแนวกำแพงวัดทางด้านทิศใต้ มีใบเสมาทำจากหินชนวนปักบนพื้นดินโดยรอบ ตัวอาคารก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานอุโบสถก่อเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยม ๒ ชั้น
ที่มาของการสร้างพระพุทธรูปในอิริยาบถต่าง ๆ ที่ประดิษฐานภายในอาคารมณฑปนั้น ปรากฏในหลายแนวคิด เช่น เป็นรูปแบบอิริยาบถที่ใช้ในการพักผ่อนภายในหนึ่งวันของพระพุทธเจ้าหรือเป็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏในพุทธประวัติ คือ อิริยาบถยืนเป็นปางห้ามพระแก่นจันทร์หรือปางแสดงธรรม อิริยาบถนั่งเป็นปางสมาธิหรือปางมารวิชัย อิริยาบถนอน (ไสยาสน์) เป็นปางโปรดอสุรินทราหู และอิริยาบถเดิน (ลีลา) เป็นปางเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
พระราชนิพนธ์ “เสด็จประพาสต้น” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ระบุถึงการเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ โดยได้เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรโบราณในเขตอรัญญิก ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๙ และได้ทรงมีพระราชนิพนธ์บรรยายเกี่ยวกับโบราณสถานวัดพระสี่อิริยาบถ ดังนี้
“...ตั้งชื่อไว้ว่าวัดพระยืน มีสะพานข้ามคู...ชิ้นกลางเห็นจะเป็นวิหารยอดจัตุรมุข แต่สูงใหญ่เหลือเกิน มุขหน้าเป็นพระเดิน มุขหลังเป็นพระยืน มุขซ้ายเป็นพระนอน มุขขวาเป็นพระนั่ง ที่มุมปั้นเป็นรูปนารายณ์ขี่ครุฑใหญ่มาก จะรับหลังคาอย่างไรน่าคิด แต่พระเหล่านี้เป็นพระปั้นด้วยปูน ใครจะมาซ่อมมาทำเพิ่มเติมอย่างไรภายหลัง แต่รูปพรรณสัณฐานคงเป็นพระกำแพง ไม่ใช่ช่างเมืองอื่นมาทำ พระยืนนั้นขนาดพระโลกนาถวัดเชตุพน แต่ประเปรียวกว่า เห็นว่าให้ชื่อว่าวัดพระยืนไม่เข้าเค้า จึงเปลี่ยนให้เรียกว่าวัดพระเชตุพนไปพลาง กว่าจะมีชื่ออื่นดีกว่า เหตุด้วยเมืองสุโขทัยมีวัดเชตุพน บางทีเขาจะตั้งชื่อซ้ำกันบ้าง...”
การเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ได้เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรโบราณในเขตอรัญญิก ในระหว่างวันที่ ๑๕ – ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๐ และได้ทรงมีพระราชนิพนธ์บรรยายเกี่ยวกับโบราณสถานวัดพระสี่อิริยาบถ ดังนี้
“…ส่วนที่วัดพระสี่อิริยาบถนั้น มีชิ้นสำคัญอยู่ คือวิหารสี่คูหา มีพระยืนด้านหนึ่ง พระนั่งด้านหนึ่ง พระลีลาด้านหนึ่ง พระไสยาสน์ด้านหนึ่ง พระยืน พระนั่ง พระลีลา ยังอยู่พอเป็นรูปร่างเห็นได้ถนัด แต่พระนอนนั้นชำรุดจนไม่เป็นรูป รอบวิหารมีผนังลูกกรงโปร่ง มองเข้าไปได้ทั้งสี่ด้าน แต่วัดนี้เหมือนวัดเชตุพนที่สุโขทัยเกือบจะไม่มีผิด…”
วัดพระสี่อิริยาบถจึงถือเป็นโบราณสถานอีกแห่งในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรที่มีความสำคัญยิ่ง ทั้งงานศิลปกรรมที่ปรากฏผ่านทางงานสถาปัตยกรรมและประติมากรรม รวมทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดี
-------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์ กำแพงเพชร
-------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ: บริษัทบางกอกอินเฮ้าส์จำกัด, ๒๕๖๑. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒๖. กรุงเทพฯ : ไทยร่มเกล้า, ๒๕๒๙. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๑๙. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. “กำแพงเพชรกับสุโขทัย นอนไม่เหมือนกัน” ศิลปวัฒนธรรม. (ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๕,มีนาคม ๒๕๔๐). ภัคพดี อยู่คงดี. “พระสี่อิริยาบถ เมืองกำแพงเพชร” สาระนิพนธ์ปริญญาศิลปะศาสตร์บัณฑิต. ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๒๓. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๑.
(จำนวนผู้เข้าชม 1176 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน