...

วัดอุโปสถาราม ตำบลสะแกกรัง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี
          ประวัติและลักษณะโบราณสถาน : วัดอุโปสถาราม หมู่ที่ ๑ ตำบลสะแกงกรัง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง เดิมชื่อวัดโบสถ์มโนรมย์ สร้างขึ้นเป็นวัดเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๔ โดยพระสุนทรมุนี (จัน) อดีตเจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานีรูปที่ ๒ ดำเนินการก่อสร้าง และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๔๒๕ ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดโบสถ์” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทอดพระเนตรวัดอุโปสถาราม เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาวจังหวัดอุทัยธานี และมีการสร้างแพรับเสด็จบริเวณท่าน้ำหน้าวัด
          กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดอุโปสถารามในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๑๗๔ วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๓๖ และประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕ ตอนพิเศษ ๓๗ง วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๑ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๔ไร่ สิ่งก่อสร้างสำคัญภายใน วัดประกอบด้วย อุโบสถ วิหาร เจดีย์ ตั้งอยู่บนฐานในที่เดียวกัน และมณฑปแปดเหลี่ยม
          อุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาด ๕ ห้อง ตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวร่วมกันกับวิหาร และเจดีย์ หันหน้าไปทางตะวันออก ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เขียนเรื่องราวที่เกี่ยวกับพุทธประวัติ ตามที่ปรากฏในปฐมสมโพธิกถา 

          วิหาร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาด ๕ ห้อง ตั้งคู่ขนานกับโบสถ์ผนังด้านหน้าทำประตู ๒ ช่อง ด้านข้างทำหน้าต่างด้านละ ๓ ช่อง ประตูและหน้าต่างทำซุ้มโค้งแบบอิทธิพลตะวันตก ผนังด้านหน้า และผนังด้านใน เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ พระมาลัย พระอสีติมหาสาวก และพระอสุรากรรมฐาน ๑๐


          เจดีย์ ตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถ และวิหาร เป็นเจดีย์ทรงระฆัง ตั้งเรียงกันอยู่จำนวน ๓ องค์ 

          มณฑปแปดเหลี่ยม เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงแปดเหลี่ยม ๒ ชั้น อิทธิพลตะวันตก(ยุโรป) ออกมุขด้านหน้าและด้านข้างทำบันไดขึ้นชั้นบนทั้งสองข้างขนาบมุขด้านหน้าหลังคาเรือนประธานเครื่องไม้มุงกระเบื้องซีเมนต์(กระเบื้องว่าว)หลังคามุขทั้งสองก่ออิฐถือปูน รูปโค้งครึ่งวงกลม กรอบหน้าต่างตกแต่งลวดลายปูนปั้น ผนังด้านนอกตกแต่งประติมากรรมปูนปั้นรูปพระอุ้มบาตร รายรอบด้วยลวดลายพรรณพฤกษา หงส์ และนกกระสา มณฑปแห่งนี้ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒ โดยหลวงพิทักษ์ภาษา(บุญเรือง พิทักษ์อรรณพ)




----------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี

----------------------------------------------

(จำนวนผู้เข้าชม 3080 ครั้ง)


Messenger