แหล่งโลหกรรมสมัยโบราณ อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์
          แหล่งโลหกรรมสมัยโบราณ อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า มีแหล่งโบราณคดีประเภทแหล่งเตาภาชนะดินเผาสำคัญ ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ อีกทั้งมีแหล่งตัดหินทรายสำคัญที่ถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างปราสาทหินพนมรุ้ง รวมไปถึงปราสาทหินต่างๆ ที่พบในแถบพื้นที่ใกล้เคียง แต่น้อยคนที่จะทราบว่าในพื้นที่อำเภอบ้านกรวดนั้นยังมีความสำคัญในฐานะแหล่งผลิตเหล็กขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตเหล็กที่ไม่ใช้แร่เหล็กตามธรรมชาติ แต่เป็นการใช้เม็ดแลง (Laterite) ที่พบได้มากในพื้นที่อำเภอบ้านกรวดเท่านั้น
          การศึกษาทางโบราณคดีในพื้นที่บ้านกรวด เริ่มขึ้นเมื่อพ.ศ. 2530 ในโครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) โดยกองโบราณคดี ได้สำรวจพบว่าในพื้นที่ของอำเภอบ้านกรวดมีเนินดินรูปร่างไม่สม่ำเสมอตั้งอยู่ภายในหมู่บ้านเขาดินใต้ รวมถึงโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับการถลุงเหล็ก ได้แก่ ตะกรันจากการถลุงเหล็ก ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วผิวดิน จึงทำให้เริ่มทราบกันว่าบ้านเขาดินใต้เป็นแหล่งโบราณคดีประเภทแหล่งถลุงเหล็กสมัยโบราณแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (ณัฏฐภัทร จันทวิช : 2532) รวมถึงในระหว่าง พ.ศ.2532 -2535 โครงการศึกษาทางโบราณคดีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการถลุงเหล็กและการผลิตเกลือโบราณในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยความร่วมมือระหว่าง ศาสตราจารย์อิจิ นิตตะ มหาวิทยาลัยคาโกชิมา ประเทศญี่ปุ่น รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ชลิต ชัยครรชิต จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ชลิต ชัยครรชิต 2540 : 35) ได้สำรวจร่องรอยการถลุงเหล็กในพื้นที่เนินดินทางทิศใต้ของหมู่บ้านเขาดินใต้ เป็นเนินดินที่เกิดจากการทับถมของตะกรันจากการถลุงเหล็ก
           ต่อมาใน พ.ศ.2548 โครงการวิจัยเรื่องการค้นหาและพัฒนาสารสนเทศภูมิศาสตร์ของถนนสมัยโบราณสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งมี พอ.ผศ.ดร.สุรัตน์ เลิศล้ำ และ ผศ.ดร.ปานใจ ธารทัศนวงศ์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ นายพงศ์ธันว์ สำเภาเงิน จากกรมศิลปากร และ รศ.ดร.สุรพล นาถะพินถุ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมที่แหล่งถลุงเหล็กสมัยโบราณ รวมทั้งแหล่งเตาเผาภาชนะดินเผาสมัยโบราณที่กระจายตัวอยู่ในเขตอำเภอบ้านกรวด ซึ่งผลจากการสำรวจนี้ได้ค้นพบและระบุแหล่งโลหกรรมในเขตพื้นที่อำเภอบ้านกรวดได้ถึง 67 แหล่ง (สุรัตน์ เลิศล้ำ และคณะ : 2550 – 2551 : 22)
           ในปีพ.ศ.2550 และ พ.ศ.2551 โครงการวิจัยเรื่องการค้นหาและพัฒนาสารสนเทศภูมิศาสตร์ของถนนโบราณสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ระยะที่สอง ได้ทำการขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งถลุงเหล็กสมัยโบราณบ้านเขาดินใต้ จำนวน 2 ครั้ง และทำการขุดค้นที่แหล่งถลุงเหล็กสมัยโบราญบ้านสายโท 7 ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด ในปีพ.ศ. 2553 โดยนักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ดำเนินงาน ซึ่งผลการวิเคราะห์ตัวอย่างเพื่อหาค่าอายุจากแหล่งโลหกรรมที่บ้านเขาดินใต้ กำหนดอายุได้ราว 200 AD หรือราว 1,800 ปีมาแล้ว (Pira Venunan:2015) โดยเป็นการถลุงเหล็กโดยใช้ Laterite เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเหล็กของพื้นที่
           ในเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2563 ได้มีการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านหนองจิก ในเขตตำบลบ้านกรวด อำเภอบ้านกรวด ในโครงการศึกษารูปแบบภาชนะดินเผาเพื่อบรรจุภัณฑ์ในวัฒนธรรมเขมร โดย ดร.ภัคพดี อยู่คงดี ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร และคณะ ก็ได้พบร่องรอยหลักฐานของการถลุงเหล็กในพื้นที่ดำเนินงานเช่นกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาวิเคราะห์และการหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์
          เป็นที่น่าเสียดายว่า ปัจจุบันในพื้นที่อำเภอบ้านกรวด เนินดินซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเนินเตาถลุงเหล็ก และเตาเผาภาชนะดินเผาหลายแห่งที่เคยสำรวจพบ ได้ถูกทำลายลง เนื่องจากการเติบโตของชุมชน และความต้องการขยายพื้นที่เกษตรกรรม


ภาพซากเตาถลุงเหล็กจากแหล่งโบราณคดีบ้านเขาดินใต้ อำเภอบ้านกรวด


ตัวอย่างเนินดินซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นเนินเตาถลุงเหล็กแห่งหนึ่งในอำเภอบ้านกรวด ซึ่งกำลังจะถูกทำลายลง

---------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : อิสราวรรณ อยู่ป้อม นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มวิจัยและพัฒนางานโบราณคดี กองโบราณคดี

---------------------------------------

(จำนวนผู้เข้าชม 2464 ครั้ง)

Messenger