วันที่ 24 กันยายน เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (กรมหลวงสงขลานครินทร์) พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย"

          ด้วยพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญแก่วงการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทยมาตลอดระยะเวลา 12 ปีนั้น ได้เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่โรงเรียนแพทย์ อีกทั้งได้ทรงพัฒนาการเรียนการสอน ตลอดจนการผลิตแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการวางรากฐานแก่การแพทย์ และการสาธารณสุขให้เจริญพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศในกาลต่อมา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงได้ขนานนามวันสำคัญนี้ว่า "วันมหิดล" เพื่อเป็นการถวายสักการะ และน้อมรำลึกต่อพระองค์ท่าน
          จอมพลเรือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระนามเดิม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช (1 มกราคม พ.ศ. 2435 – 24 กันยายน พ.ศ. 2472) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพแด่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระราชอัยกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

          พระองค์มีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีที่ประสูติร่วมพระราชมารดา 7 พระองค์ พระองค์มีคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของประเทศไทยประชาชนโดยทั่วไปคุ้นเคยกับพระนามว่า "กรมหลวงสงขลานครินทร์" หรือ "พระราชบิดา" และบางครั้งก็ปรากฏพระนามว่า "เจ้าฟ้าทหารเรือ" และ "พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย" ส่วนชาวต่างประเทศเรียกพระนามว่า "เจ้าฟ้ามหิดล" หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระองค์ทรงพระประชวรต้องประทับในพระตำหนักวังสระปทุม และสวรรคตเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 เวลา 16.45 น. ด้วยพระโรคฝีบิดในพระยกนะ (ตับ) โดยมีโรคแทรกซ้อนคือพระปัปผาสะบวมน้ำและพระหทัยวาย พระชนมายุได้ 37 พรรษา 8 เดือน 23 วัน

          ในปี พ.ศ. 2493 หรือ 21 ปี หลังจากที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทิวงคต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บรรดาศิษย์เก่าศิริราช ผู้ที่ได้รับทุนของพระองค์ไปศึกษา ณ ต่างประเทศ ผู้ที่เคยได้รับพระมหากรุณาในประการอื่นๆ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้ร่วมใจกันสร้างพระราชอนุสาวรีย์ขึ้น โดยประดิษฐานไว้ ณ ใจกลางโรงพยาบาลศิริราช เพื่อน้อมเกล้าถวายความกตัญญูกตเวที ด้วย สำนึกในพระเมตตาคุณของพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจแก่วงการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ได้มอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้าง โดยมีศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นผู้ควบคุมงาน ซึ่งพระราชานุสาวรีย์นี้ได้รับการตกแต่งเพิ่มเติมครั้งแรกเมื่อปี 2517 และอีกครั้งในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยสร้างรากฐานและบริเวณโดยรอบทั้งหมดเพื่อให้ถาวร สง่างามและสมพระเกียรติยิ่งขึ้น ดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้

          ครั้นพระราชอนุสาวรีย์สร้างเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิดพระราชนุสาวรีย์เมื่อวันที 24 เมษายน พ.ศ. 2493 หลีงจากนั้น 1 ปี วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2494 สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราชและนักศึกษาพยาบาล โดยการนำของนายบุญเริ่ม สิงหเนตร นายกสโมสรนัก ศึกษาแพทย์และนางสาวชายัญ ปรักกะมะกุล หัวหน้านักศึกษาพยาบาล ได้นำนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาพยาบาลตั้งแถวตามถนนจักรพงษ์หน้าพระบรมรูปสมเด็จพระราชบิดา จากนั้นหัวหน้านักศึกษาวางพวงมาลา แล้วผู้แทนนักศึกษาอ่านฉันท์ “ทูลกระหม่อมสดุดีอศิรวาท” ซึ่งประพันธ์โดย นายภูเก็ต วาจานนท์ หลังจากนั้น ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร และ ศ.นพ.เติม บุนนาค วางพวงมาลาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ขนานนามวันสำคัญนี้ว่า "วันมหิดล" เพื่อเป็นการถวายสักการะ และน้อมรำลึกต่อพระองค์ท่าน และนับตั้งแต่ปี 2494 เป็นต้นมา ทุกวันที่ 24 กันยายน จะมีกิจกรรมที่สำคัญคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลา ณ พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ภายในโรงพยาบาลศิริราช มีพิธีวางพวงมาลาถวายบังคมพระรูป พร้อมทั้งอ่านคำสดุดีพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์เป็นประจำทุกปี

--------------------------------------------
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้ นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี
--------------------------------------------

อ้างอิง
เว็บไซต์ kapook https://hilight.kapook.com/view/15723 เว็บไซต์ Hfocus https://www.hfocus.org/content/2014/12/8843 เว็บไซต์ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี https://th.wikipedia.org/.../%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80...

(จำนวนผู้เข้าชม 4399 ครั้ง)

Messenger