ใบเสมาหินทราย วัดประเดิม จังหวัดชุมพร
           เสมา หรือที่มีนักวิชาการบางท่านเรียกว่า “สีมา”ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ หมายถึง เขตกำหนดความพร้อมเพรียงของสงฆ์ หรือเขตชุมนุมของสงฆ์ หรือเขตที่สงฆ์ตกลงไว้สำหรับภิกษุทั้งหลายที่อยู่ภายในเขตนั้นจะต้องทำสังฆกรรมร่วมกัน
           เสมา แบ่งเป็น ๒ ประเภทคือ ๑. พัทธสีมา แปลว่า แดนที่ผูก ได้แก่เขตที่พระสงฆ์กำหนดขึ้นเอง ๒. อพัทธสีมา แปลว่า แดนที่ไม่ได้ผูก ได้แก่เขตที่ทางราชการกำหนดไว้ หรือเขตที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นเครื่องกำหนด และสงฆ์ถือเอาตามเขตที่กำหนดนั้น ไม่ได้ ทำหรือผูกขึ้นใหม่ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการกำหนดเขตที่ชัดเจนเป็นสัญลักษณ์ระวังไม่ให้ก้าวล่วงเข้าไปในเขต คัมภีร์อรรถกถาได้กล่าวถึงสิ่งหรือวัตถุ ซึ่งควรใช้เป็นตัวแสดงเขต ๘ ชนิด คือ ภูเขา, ศิลา, ป่าไม้, ต้นไม้, จอมปลวก, หนทาง, แม่น้ำ, และน้ำ
           ความสำคัญของการมีเสมานี้ เนื่องจากพระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดให้พระภิกษุต้องทำ อุโบสถ ปวารณา และสังฆกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะการสวดปาฏิโมกข์ ซึ่งต้องสวดพร้อมกันเดือนละ ๒ ครั้ง จึงเกิดหลักแดนในการที่สงฆ์จะร่วมกันกระทำสังฆกรรม โดยมีหลักบ่งชี้คือ ใบเสมา

          พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร ได้เก็บรักษาใบเสมาหินทราย พบที่วัดประเดิม ตำบลตากแดด อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เป็นใบเสมาที่มีรูปแบบศิลปะในสมัยอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ ๒๓) จากการค้นพบใบเสมาแสดงว่าในสมัยอยุธยาภายในวัดประเดิมมีสถาปัตยกรรม คือ อุโบสถ และอาจจะมีสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ด้วย แต่สิ่งก่อสร้างเหล่านั้นอาจจะพังหรือถูกรื้อถอนไปแล้ว และได้ค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ ในวัดประเดิมและบริเวณใกล้เคียง เช่น เศียรพระพุทธรูป, ชิ้นส่วนพระหัตถ์ของพระพุทธรูป, และแนวกำแพงวัด เป็นต้น ชุมชนวัดประเดิมจึงเป็นชุมชนโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นอย่างน้อย



-------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร
-------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง
- กรมศิลปากร. วิวัฒนาการพุทธสถานไทย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๓๓. - สมคิด จิระทัศนกุล. รู้เรื่อง วัด วิหาร โบสถ์ เจดีย์ พุทธสถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ: มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๕. - วิสันธนี โพธิสุนธร. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๒. - ระบบทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร

(จำนวนผู้เข้าชม 1549 ครั้ง)