เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
เรื่อง...แหวน แหวน
แหวน ....เป็นเครื่องประดับยอดนิยมของผู้คนทุกเพศทุกวัยในสมัยนี้ มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกซื้อได้อย่างง่ายดาย แล้วคนสมัยโบราณเขาประดับนิ้วด้วยแหวนแบบไหน และสวมกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ?
เมื่อราว ๓,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว ชาวอียิปต์โบราณสวมแหวนที่พัฒนารูปแบบมาจากตราประทับ (seal signet) ที่ชนชั้นผู้นำสวมเพื่อแสดงถึงอำนาจ สถานภาพ ฐานะทางสังคม และใช้ประทับตราในเอกสารสำคัญเพื่อยืนยันตัวตน เปรียบเสมือนลายเซนต์ในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อแหวนกลายเป็นเครื่องประดับเพื่อความสวยงาม ผู้หญิงชาวอียิปต์จึงนิยมสวมแหวนประดับหลายนิ้วๆละหลายวง และในราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ชาวโรมันโบราณก็รับความนิยมการสวมแหวนมาจากอียิปต์ โดยกำหนดว่าชนชั้นสูงสวมแหวนทองคำ สามัญชนสวมแหวนเหล็ก ภายหลังแหวนทองคำได้แพร่หลายในทุกชนชั้น ยกเว้นทาสที่สวมเฉพาะแหวนเหล็กเท่านั้น
ชาวโรมันโบราณมีแหวนพิเศษชนิดหนึ่ง เรียกว่า แหวนกุญแจ นอกจากรูปลักษณ์ที่เก๋ไก๋แล้วยังมีประโยชน์ใช้สอย คือตัวเรือนเชื่อมติดกับลูกกุญแจกล่องนิรภัยที่ใช้เก็บของมีค่า การสวมแหวนจึงเป็นการเก็บรักษากุญแจไว้กับตัวตลอดเวลา และยังแสดงถึงความมั่งคั่งของผู้สวมว่ามีทรัพย์สินเครื่องประดับมีค่าที่ต้องเก็บรักษาอย่างดีอีกด้วย
แหวนกุญแจ โรมันโบราณ
ในประเทศไทยเราพบหลักฐานการใช้แหวนรุ่นแรกๆ ในหลุมฝังศพยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหินใหม่ตอนปลาย อายุประมาณ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เป็นแหวนวัสดุธรรมชาติทำจากเปลือกหอยที่มีความบางมาก พบสวมที่นิ้วมือโครงกระดูกจำนวน ๘ วง และพบที่แหล่งร่วมสมัยอีกแห่งคือแหล่งโบราณคดีโคกเจริญ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี
แหวนเปลือกหอย แหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค จังหวัดลพบุรี อายุประมาณ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ต่อมาเมื่อคนก่อนประวัติศาสตร์รู้จักนำโลหะมาผลิตเครื่องมือ เครื่องใช้ พวกเขาก็เริ่มทำเครื่องประดับโลหะด้วย มีทั้งกำไล ห่วงคอ ห่วงเอว รวมทั้งแหวน ชุมชนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ในช่วงระหว่าง ๒,๕๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว นิยมใช้ แหวนสำริด กันอย่างแพร่หลาย ในพิธีกรรมการฝังศพพบว่าส่วนใหญ่สวมไว้กับโครงกระดูกผู้ใหญ่ทั้งเพศชายและเพศหญิง ส่วนเด็กและทารกมักเป็นการวางแหวนอุทิศให้ แหวนวัสดุอื่นมีพบบ้าง เช่น แหวนเหล็ก แหวนทองแดง แหวนโลหะผสม(สำริดกับเหล็ก) แหวนเงิน เป็นต้น
โครงกระดูกเพศชาย สวมแหวนสำริด ที่นิ้วชี้ นิ้วนางข้างซ้าย และนิ้วชี้ข้างขวา นิ้วละ ๕ วง และแม่พิมพ์แหวน แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา อายุ ๒,๕๐๐ -๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว
โครงกระดูกเพศชาย สวมแหวนสำริดที่นิ้วมือข้างซ้าย ๖๕ วง และนิ้วมือข้างขวา ๕๙ วง เป็นโครงที่พบสวมแหวนสำริดมากที่สุดในแหล่งโบราณคดีเนินอุโลก อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา อายุ ๒,๐๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว
ชุมชนโบราณเนินอุโลกนี้ นิยมใช้แหวนสำริดมาก พบร่วมกับโครงกระดูกถึง ๔๘๑ วง ส่วนใหญ่เป็นแหวนสำริดแบบเรียบ แบบและวัสดุอื่นพบบ้าง ได้แก่ แหวนแบบมีหัวแหวนประดับ แหวนโลหะผสม(สำริดผสมเหล็ก) และ แหวนเงิน
นอกจากการสวมแหวนประดับเพื่อความสวยงามแล้ว ที่แหล่งโบราณคดีสมัยเหล็กในเขตอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา อายุราว ๒,๕๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว พบการใช้แหวนในพิธีกรรมการฝังศพอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การใส่แหวนไว้ในปากผู้ตาย พิธีกรรมใส่เครื่องประดับอุทิศไว้ในปากผู้ตายนี้ พบในแหล่งโบราณคดีร่วมสมัยอื่นด้วย เช่นการใส่ลูกปัดหินอาเกตไว้ในปากผู้ตาย ที่แหล่งโบราณคดีโนนเมือง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
---------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : ศิริพันธ์ ตาบเพ็ชร์ นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ กองโบราณคดี
---------------------------------------------
(จำนวนผู้เข้าชม 3239 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน