อาคารสโมสรจังหวัดสงขลา: โบราณสถานแห่งความทรงจำของคนสงขลาแต่แรก
          โบราณสถานที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากหาดสมิหลา เป็นโบราณสถานที่มีความสวยงาม และมีสำคัญทางประวัติศาสตร์ของสงขลาซึ่งไม่ค่อยมีคนรู้จัก นั่นคือ สงขลาสโมสร หรือ สโมสรข้าราชการจังหวัดสงขลา
          สงขลาสโมสร หรือ สโมสรข้าราชการจังหวัดสงขลา" ได้ก่อตั้งมาอย่างน้อยประมาณ ร.ศ.๑๓๑ หรือปี พ.ศ. ๒๔๕๕ (ในช่วงต้นร. ๖) แต่ตัวอาคารของสโมสรนั้นได้ก่อสร้างในภายหลังคือเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยพระยาภัทรนาวิกธรรมจำรูญ (เอื้อน ภัทรนาวิก) อธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลนครศรีธรรมราช ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองสงขลาในขณะนั้นเป็นผู้ริเริ่มให้มีการก่อสร้างขึ้นเป็นอาคารที่มีฝาผนังก่อด้วยหิน พร้อมด้วยสนามเทนนิส และโต๊ะบิลเลียดที่มีอุปกรณ์ครบครัน ใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น ๒๕,๐๐๐ บาท ซึ่งช่วงเวลานั้นตรงกับสมัยที่พระยาศรีธรรมราชชาติเดโชไชยมไหสุริยาธิบดีพิริยพาหุ (ทองคำ กาญจนโชติ) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชคนสุดท้าย
           ในระยะแรกคงเรียกขานกันว่า สถานสงขลาสโมสร เพื่อเป็นสถานที่ให้ข้าราชการได้พบปะ อุปการะช่วยเหลือกัน ส่งเสริมความสามัคคี และกิจกรรมการกุศลสาธารณประโยชน์ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งให้ถูกต้องตามกฎหมาย
           ในคืนวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๔๘๔ (หรืออาจเป็นคืนวันที่ ๕ ธ.ค.๘๔) กงศุลใหญ่ญี่ปุ่นได้เชิญข้าราชการทหารและพลเรือนของไทยเข้าร่วมงานเลี้ยงที่สโมสรฯ โดยมีหลวงเสนาณรงค์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ (นครศรีธรรมราช) ซึ่งมาราชการที่สงขลาได้ไปร่วมในงานเลี้ยงดังกล่าวด้วย หลังจากนั้นในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกและยึดสถานที่ราชการบริเวณแหลมสมิหลาแล้ว กองทัพญี่ปุ่นจึงใช้อาคารสโมสรข้าราชการจังหวัดสงขลาเป็นที่ตั้งกองบัญชาการชั่วคราวในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒
           หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น อาคารสโมสรจังหวัดสงขลาจึงมีการใช้งานที่สำคัญอีกครั้งเป็นพลับพลาที่ประทับชั่วคราวของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันพุธที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๐๒ เพื่อทอดพระเนตรการแสดงกีฬาชนโค และการรำมโนราห์ของนักเรียนจากโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดสงขลา เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเยียนพสกนิกรจังหวัดสงขลา และจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒
           ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๐ นายชิต นิลพานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในขณะนั้นได้ริเริ่มประชุมคัดเลือกคณะกรรมการชุดแรก ๑๐ คน และเสนอเรื่องขอจัดตั้งสโมสร เป็นสมาคมสโมสรจังหวัดสงขลา โดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติตอบอนุญาตเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๓๑ และนายทะเบียนสมาคมจังหวัดสงขลาได้รับจดทะเบียนเป็นเลขลำดับที่ ๑๙๘ ไว้ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๓๑
           ในปีพ.ศ. ๒๕๓๑ บริษัท สถานสงขลา จำกัด ได้ขอทำสัญญาเช่าอาคารสโมสรจังหวัดสงขลาอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๘ (หมดสัญญาเช่าวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๘) โดยผู้เช่าได้ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสโมสรฯ ตามแบบของกรมโยธาธิการและผังเมืองมาแล้วสองครั้ง คือ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นเงินจำนวน ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท (สองล้านห้าแสนบาทถ้วน) และครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นเงินจำนวน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน)
           โบราณสถานแห่งนี้จึงนับเป็นอาคารสโมสรข้าราชการหลังแรกของจังหวัดสงขลา และมีบทบาทอยู่ในเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดสงขลาทั้งช่วงเริ่มต้นและในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ อีกทั้งยังเป็นอาคารสำคัญหนึ่งในไม่กี่แห่งของจังหวัดสงขลาที่ไม่ได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิดในช่วงสงครามโลกดังกล่าว เพราะอาคารสำคัญอื่นๆที่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันมักจะได้รับความเสียหายจากภัยสงคราม และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคืออาคารหลังนี้ได้ทำหน้าที่เสมือนเป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำและความภาคภูมิใจของพสกนิกรชาวสงขลาที่ได้มาเข้าเฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันพุธที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๐๒ อีกด้วย
           นอกจากประวัติแห่งการก่อสร้างและประวัติการใช้งานที่สำคัญแล้ว ความน่าสนใจของอาคารหลังนี้ คือการใช้หินแกรนิตสอด้วยปูนก่อขึ้นเป็นผนังอาคาร ซึ่งน่าจะเป็นเทคนิคและความสามารถเฉพาะของบรรพบุรุษชาวสงขลาในงานก่อสร้างที่ใช้หินเป็นวัสดุหลัก โดยผ่านการเรียนรู้สะสมประสบการณ์และถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่เมื่อครั้งก่อสร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการต่างๆที่เมืองสงขลาเก่าฝั่งหัวเขาแดงในสมัยอยุธยาตอนกลาง เรื่อยมาจนถึงการก่อสร้างกำแพงเมืองสงขลาเก่าฝั่งบ่อยาง ในสมัยรัชกาลที่ ๓ และการสร้างกำแพงวัดมัชฌิมาวาสกับวัดแจ้งด้วย จึงถือได้ว่าเป็นอัตลักษณ์งานก่อสร้างเฉพาะตัวของพื้นถิ่นสงขลา และอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์อื่นๆในเมืองสงขลาก็ไม่ปรากฏการก่อสร้างโดยใช้หินสอปูนก่อขึ้นเป็นผนังอาคารด้วยเช่นกัน อาคารสโมสรจังหวัดสงขลาจึงน่าเป็นอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์เพียงแห่งเดียวในเมืองสงขลาที่ยังคงเก็บรักษาและแสดงอัตลักษณ์งานก่อสร้างโดยใช้หินสอปูนก่อขึ้นเป็นผนังอาคารของช่างชาวสงขลาได้เป็นอย่างดี
           สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ การเลือกใช้คำในภาษาบาลีมาเป็นข้อความประกอบด้านล่างตราสัญลักษณ์จังหวัดสงขลาที่หน้าจั่วด้านหน้าของอาคาร คือคำว่า “ปณฺฺฑิตานญฺฺจเสวนา” ซึ่งเป็นมงคลข้อที่ ๒ ของมงคล ๓๘ ประการ ในคำสอนทางพระพุทธศาสนามีความหมายว่า การคบหาสมาคมกับบัณฑิต นักปราชญ์ หรือผู้มีปัญญา จัดเป็นมงคลแก่ชีวิต ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะอาจจะทำให้ได้รับความรู้ เกิดปัญญา และความเจริญสุขสวัสดิ์แก่ตน ตรงกับสำนวนไทยที่ว่า คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล
          การมีข้อความนี้ปรากฏอยู่ด้านหน้าอาคารสโมสรจังหวัดสงขลา อาจจะต้องการสื่อความหมายเพื่อเป็นสิ่งเตือนใจให้ข้าราชการในสโมสรรู้จักคบหาแต่คนดีมีความรู้ เพื่อจะได้ช่วยกันนำความรู้ไปพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป หรืออีกนัยยะหนึ่ง หมายถึง สโมสรจังหวัดสงขลา เป็นสถานที่แห่งการเสวนาพบปะกันของข้าราชการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบัณฑิตผู้มีความรู้ความสามารถนั่นเอง



















------------------------------------
เรียบเรียงมาจาก : รายงานการสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณสถานอาคารสโมสรจังหวัดสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ปี ๒๕๖๐ ซึ่งจัดทำโดย นางสาวชนาธิป ไชยานุกิจ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
------------------------------------

ที่มาของข้อมูล
หนังสือ-วารสาร ๑. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ .วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสงขลา.กรุงเทพ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๕. ๒.คณะศาลจังหวัดสงขลา.อนุสสรเมืองสงขลา.พิมพ์แจกเป็นที่ระฤกในงานพิธีเปิดที่ทำการใหม่ศาลจังหวัดสงขลา วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๔. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๘๔ ๓. ศรีสมร ศรีเบญจพลางกูร. ประวัติศาสตร์เมืองสงขลา. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : หจก.ภาพพิมพ์, ๒๕๔๔. ๔. ศิลปกรรมพิเศษ, ขุน (แปลก ศิลปกรรมพิเศษ). ๒๕๓๑. “เมื่อญี่ปุ่นบุกสงขลา” วารสารรูสมิแล ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๒ : หน้า ๘๓-๘๔, มกราคม – เมษายน ๒๕๓๑. ๕. สรศัลย์ แพ่งสภา. สงครามมืด วันญี่ปุ่นบุกไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : สารคดี, ๒๕๕๘. ภาพถ่ายเก่า ๑. หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา ๒. อาจารย์จรัส จันทร์พรหมรัตน์ โรงเรียนมหาวชิราวุธ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

(จำนวนผู้เข้าชม 2039 ครั้ง)

Messenger