ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยสมัยอยุธยา นันโทปนันทสูตรคำหลวง

ต้นฉบับหนังสือสมุดไทย เรื่องนันโทปนันทสูตรคำหลวง หมวดตำราภาพ เลขที่ ๒๐


ภาพแสดงเส้นสีของตัวอักษรแต่ละชนิดตามฐานะของข้อมูล


หนังสือต้นฉบับสมุดไทยสมัยอยุธยา นันโทปนันทสูตรคำหลวง จัดพิมพ์โดย สำนักหอสมุดแห่งชาติ

          เอกสารโบราณ เรื่อง นันโทปนันทสูตรคำหลวง นี้เป็นวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาที่เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร ( เจ้าฟ้ากุ้ง ) ได้ทรงพระนิพนธ์เมื่อพุทธศักราช ๒๒๗๙ จากคัมภีร์นันโทปนันทปกรณ์ที่พระพุทธสิริแต่งเป็นภาษาบาลีไว้ ตัวต้นฉบับเอกสารโบราณเป็นหนังสือสมุดไทยขาวได้มาจาก ขุนวิทูรดรุณากร กรมศึกษาธิการ ทูลเกล้าฯ ถวายให้หอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งปัจจุบันคือ หอสมุดแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๕๑ หนังสือสมุดไทยเรื่องนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกของประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ จากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกในคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)
           นันโทปนันทสูตรคำหลวง เป็นวรรณคดีคำหลวงที่เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรทรงพระนิพนธ์โดยยกข้อความภาษาบาลีขึ้นก่อนแล้วแปลเป็นภาษาไทยที่ไพเราะงดงามสลับกันไปตลอดทั้งเรื่อง ข้อความภาษาไทยเก็บจากข้อความบาลีไว้เกือบทุกคาถา
          วรรณคดีเรื่องนี้นอกจากจะเป็นวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาที่มีคุณค่าเกี่ยวกับหลักธรรมแล้วยังมีคุณค่าด้านต่าง ๆ อีกหลายประการ คือ
          ๑. มีความเป็นต้นฉบับหลวงที่สืบทอดมาจากสมัยอยุธยาด้วยปัจจัยหลายประการ ได้แก่
           - บอกพระนามผู้ทรงนิพนธ์และวันเดือนปีที่ทรงนิพนธ์แล้วเสร็จ พร้อมประวัติความเป็นมาของ เนื้อเรื่อง
           - บอกนามอาลักษณ์ผู้ชุบเส้นตัวอักษรทั้ง ๒ แบบ
           - ต้นฉบับเล่มนี้บันทึกเนื้อหาเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องนันโทปนันทสูตรคำหลวงเพียงเรื่องเดียว
           - บันทึกเนื้อหาเรื่องราวหน้าละ ๔ – ๖ บรรทัด อย่างเป็นระเบียบสวยงามด้วยตัวอักษรไทยแบบ ประดิษฐ์ ตามความนิยมในสมัยอยุธยาเรียกว่า อักษรไทยย่อ ซึ่งอักษรไทยย่อที่ปรากฎใน เอกสารฉบับนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นอักษรไทยย่อที่งดงามที่สุดฉบับหนึ่ง ซึ่งเมื่อนับอายุถึง ปัจจุบัน (๒๕๖๓) มีอายุได้ ๒๘๕ ปีแล้ว
           ๒. การลงสีเส้นตัวอักษรสะท้อนทัศนคติและความนับถือพุทธศาสนาอย่างแรงกล้ากล่าวคือ มีวิธีการลงเส้นสีตัวอักษรให้ต่างกันตามความสำคัญของเนื้อหาแต่ละตอน
           เส้นทอง ใช้บันทึกพระนามบุคคลสำคัญ เช่น เมื่อเอ่ยอ้างถึงพระพุทธเจ้า และพระนามผู้ทรงนิพนธ์ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร ไชยเชษฐสุริวงษ
           เส้นชาด ใช้บันทึกคาถาอักษรขอมภาษาบาลีทั้งหมด
           เส้นหมึก ใช้บันทึกเนื้อหาเรื่องราวที่เป็นภาษาไทยด้วยอักษรไทยย่อ
          ๓. มีบันทึกจดหมายเหตุแสดงภูมิปัญญาในการเตรียมต้นฉบับของช่างเขียนในสมัยอยุธยาก่อนบันทึกข้อความ โดยบอกนามเจ้าของสูตรไว้ด้วย ซึ่งหลักฐานนี้ไม่เคยปรากฏอยู่ในต้นฉบับวรรณกรรมเรื่องใด ๆ ของสังคมไทยทั้งสิ้น
          ๔. อักษรและอักขรวิธีของอักษรไทยย่อในสมุดไทยเรื่องนันโทปนันทสูตรคำหลวงฉบับนี้พบว่ามีพยัญชนะไทยครบทั้ง ๔๔ ตัวเป็นครั้งแรก
          เรื่องย่อนันโทปนันทสูตรคำหลวงกล่าวถึงพระพุทธเจ้าเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ในกรุง ราชคฤห์ เย็นวันหนึ่ง มีมหาเศรษฐี ชื่อ อนาถบิณฑิกะมาทูลอาราธนาพระพุทธองค์และพระอรหันตสาวก ๕๐๐ องค์ไปรับบิณฑบาตที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น สมเด็จพระบรมศาสดารับอาราธนาแล้วก็ประทับอยู่ ณ พระวิหารจนสิ้นราตรี ครั้นเวลาใกล้รุ่งพระพุทธเจ้าทรงตรวจดูโลกธาตุและทราบโดยพระญาณว่าพระยานันโทปนันท นาคราช ควรจะได้รับรสพระธรรม ด้วยพระยานาคราชตนนี้ได้เคยสร้างกุศลไว้ในชาติก่อน แต่พระยา นันโทปนันทนี้ยังมีความเห็นผิดเป็นมิจฉาทิฐิอยู่ แต่ก็สามารถที่จะสั่งสอนให้เข้าถึงพระรัตนตรัยได้ พระบรมศาสดาทรงพิจารณาเห็นว่าพระโมคคัลลานะอัครสาวกเบื้องซ้าย มีฤทธิ์อาจทรมานพระยานาคราชตนนี้ให้ละพยศเสียได้ ดังนั้นพอรุ่งเช้าพระพุทธเจ้าจึงมีพุทธฎีกาแก่พระอานนท์ว่าจะเสด็จไปยังเทวโลก พระอานนท์และพระสาวกจึงเตรียมตามเสด็จด้วย พระพุทธองค์และพระสาวกได้เหาะไปเหนือวิมานของพระยานันโทปนันท พระยานาคราชแลเห็นว่าพระพุทธเจ้าและพระสาวกจะเหาะมาเหนือปราสาทของตน ฝุ่นใต้เท้าก็จะเรี่ยรายลงมา ก็โกรธบังเกิดมิจฉาทิฐิ สำคัญตนว่าเป็นผู้มีศักดิ์ใหญ่ จึงแสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยการจำแลงกายเป็นนาคราชใหญ่พันเขาพระสุเมรุไว้เจ็ดรอบและแผ่พังพานบังโลกธาตุจนมืดมิดเพื่อขวางทางไม่ให้พระพุทธเจ้าเสด็จผ่าน พระสาวกองค์ต่างๆ ทูลขอเป็นผู้ปราบพญานันโทปนันทะ แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงอนุญาต ทรงให้เฉพาะพระโมคคัลลานะเท่านั้นเป็นผู้ไปปราบ จึงเกิดการต่อสู้ครั้งใหญ่ระหว่างพญานันโทปนันทะและพระโมคคัลลานะ ในที่สุดพญานาคราชก็มิอาจสู้ได้ จึงยอมจำนนและละมิจฉาทิฐิ เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและถือเอาพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นางศิวพร เฉลิมศรี นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
------------------------------------------

(จำนวนผู้เข้าชม 13398 ครั้ง)

Messenger