หน้าบันศาลาตรีมุขวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
          ศาลาตรีมุข ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพระวิหารหลวง (ภาพที่ ๑) เป็นศาลาโถงที่ตั้งคร่อมบนแนวกำแพงแก้ว ลักษณะทางสถาปัตยกรรมมีความผสมผสานกันระหว่างแบบประเพณีนิยมและแบบพระราชนิยม กล่าวคือ ส่วนหลังคาเป็นแบบประเพณีนิยม เช่นเดียวกับวัดทั่วไปที่เป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันเครื่องไม้สลักปิดทองประดับกระจก ส่วนตัวอาคารเป็นแบบพระราชนิยมใน เนื่องจากมีการใช้เสาสี่เหลี่ยมทำนองเดียวกับเสาพาไลรับน้ำหนักผืนหลังคา (ภาพที่ ๒) ความน่าสนใจของโบราณสถานหลังนี้อยู่ที่ลวดลายบนหน้าบัน ที่สลักเป็นรูปเทพบุตร ประทับยืนภายในเรือนแก้ว พระหัตถ์ทั้งสองถือสมุดข้างละหนึ่งเล่ม (ภาพที่ ๓) รูปเทพบุตรนี้นำแบบอย่างมาจาก “ตราพระสุภาวดี” (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, ๒๕๕๓ : ๙๓) ตราประจำตำแหน่งเจ้ากรมพระสุรัสวดี ผู้ทำหน้าที่รักษาทะเบียนหางว่าวบัญชีไพร่พล ทั้งฝ่ายทหาร พลเรือนในกรุงและหัวเมือง (สำราญ ถาวรายุศม์, ๒๕๑๓ : ๑๑) รูปสลักพระสุภาวดีบนหน้าบัน สันนิษฐานว่าสื่อความหมายถึง ราชทินนามของผู้สร้างวัดกัลยาณมิตรฯ ซึ่งก็คือ พระยาราชสุภาวดี (โต) เจ้ากรมพระสุรัสวดีกลาง ราชทินนามเดิมของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ในสมัยรัชกาลที่ ๓
           จากการตรวจสอบเอกสารเก่า ไม่พบประวัติปีการก่อสร้างศาลาตรีมุขที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามผู้เขียนสันนิษฐานว่า ศาลาตรีมุขคงสร้างขึ้นในระยะแรกของการก่อสร้างวัด คราวเดียวกันกับการก่อสร้างพระวิหารหลวง ราวปี พ.ศ. ๒๓๘๐ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) เนื่องจาก
          ๑. ภาพสลักรูปพระสุภาวดีบนหน้าบันศาลาตรีมุข สื่อความหมายถึง พระยาราชสุภาวดี ราชทินนามเดิมของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ที่ได้รับพระราชทานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และดำรงอยู่ในตำแหน่งนี้จนสิ้นรัชกาล (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์, ๒๕๔๕ : ๕๖)
          ๒. เมื่อพิจารณาแผนผังของวัดกัลยาณมิตรฯแล้ว ตำแหน่งที่ตั้งของศาลาตรีมุข สัมพันธ์กับแนวกึ่งกลางของเขตพุทธาวาส อันมีวิหารหลวงเป็นอาคารประธาน มุขหน้าของศาลาหันไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นด้านหน้าของวัด รับกับศาลาจตุรมุขหรือสะพานท่าฉนวนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา นั่นหมายความว่า ศาลาตรีมุขน่าจะสร้างขึ้นพร้อมกับการวางผังกลุ่มอาคารหลักของวัดซึ่งมีพระวิหารหลวงเป็นอาคารประธาน (ภาพที่ ๔)

---------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นายณัฐพงศ์ ศิริวัฒนพิเชษฐ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มวิชาการทะเบียนโบราณสถาน กองโบราณคดี
---------------------------------
บรรณานุกรม
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ เล่ม ๓. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป, ๒๕๕๓. สำราญ ถาวรายุศม์ (บรรณาธิการ). “พระราชดำรัส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน.” ใน วารสารข้าราชการ. ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๖ (มิถุนายน ๒๕๑๓). พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์. เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์. พิมพ์ครั้งที่ ๕. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๕. พระมหาเฮง (เรียบเรียง). ประวัติวัดกัลยาณมิตร. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระวินัยกิจโกศล (ตรี) กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ท่าพระจันทร์, ๒๔๙๐.







(จำนวนผู้เข้าชม 2168 ครั้ง)

Messenger