พระแสงศรกำลังราม เป็นหนึ่งในพระแสงอัษฎาวุธ ประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะเป็นเนื้อสัมฤทธิ์ เก่าแก่ สง่า และงดงามยิ่ง เป็นของโบราณชิ้นสำคัญมาสู่พระบารมี เมื่อครั้งต้นรัชกาล พระแสงศรกำลังรามนี้มีพร้อมทั้งลูกศรและคันศร ตามหลักฐานการค้นพบที่บันทึกไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๒๘ ภาค ๑ วันที่ ๙ เมษายน รัตนโกสินทร ศก ๑๓๐ หน้า ๓๗ - ๔๒ เรื่อง ธงพระกระบี่ธุชพระครุฑพาหน้อยแลพระแสงศรกำลังราม อธิบายความไว้ว่า พระอธิการรุ่ง วัดหนองตานวล ท้องที่กิ่งอำเภอตากคลี อำเภอพยุหคีรี มณฑลนครสวรรค์ ได้คุมคนงานและช้างไปตัดไม้ในดงหนองคันไถ ครั้นเมื่อ ณ วันอังคาร เดือนยี่ แรม ๓ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๑๗ มกราคม รัตนโกสินทร ศก ๑๒๙ พระอธิการรุ่งได้ใช้ให้นายตี่กับเด็กแบนซึ่งเป็นศิษย์ ไปหาใบตองกล้วยป่า เพื่อนำมามวนบุหรี่บน เขาชอนเดื่อ เมื่อทั้งสองถึงไหล่เขาพบว่ามีศิลา ๒ ก้อนตั้งอยู่เคียงกัน นายตี่มองเห็นศีรษะนาคโผล่จากใบไม้ที่ร่วงสะสมอยู่ในซอกศิลา เข้าใจว่าเป็นพระพุทธรูปจึงหยิบยกขึ้นมาดูเห็นเป็นศรทั้งคัน เมื่อเห็นเป็นเช่นนั้นเด็กแบนจึงทำการค้นหาที่ซอกศิลาต่อจึงพบลูกศรอีกลูกหนึ่ง ทั้งสองจึงนำศรและลูกศรที่พบ ถวายพระอธิการรุ่ง ในเวลานั้นขุนวิจารณ์พยุหพล ปลัดว่าการกิ่งอำเภอตากคลี กำลังเดินทางตรวจราชการในท้องที่ ได้ข่าวเรื่องศรจึงไปขอดูแล้วรายงานขึ้นไปยังมณฑลนครสวรรค์ พระยาศิริไชยบุรินทร์ (ศุข) ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครสวรรค์ จึงได้พาพระอธิการรุ่ง นายตี่และเด็กแบน พร้อมด้วยศรเข้ามายังกรุงเทพ ฯ เพื่อทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ศรที่พบนี้มีลักษณะเป็นเครื่องสัมฤทธิ์ ศีรษะเปนนาคราช ๓ เศียรและลูกศรสัมฤทธิ์ มีขนนกสามใบ ปลายคมเป็นรูปวัชระ เป็นฝีมือโบราณอันประณีต ไม่มีรอยมือจับหรือสิ่งที่จะส่อให้เห็นว่าได้ทำขึ้นไว้สำหรับเทวรูปถือ สันนิษฐานว่าศรนี้น่าจะได้สร้างขึ้นไว้สำหรับการพิธีตามลัทธิพราหมณ์โดยเฉพาะใช้ชุบน้ำทำน้ำมนต์หรือแช่งน้ำสาบานดังเช่นทำน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
          ครั้นในการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ซึ่งเป็นพระราชพิธีสุดปีตามจันทรคติ รัตนโกสินทร ศก ๑๒๙ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๒๕ - ๒๙ มีนาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๒๙ คันศรและลูกศรที่พบได้ถูกอันเชิญขึ้นสมโภชในการพระราชพิธีนี้ด้วย ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๖ มีนาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๒๙ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงนำศรเครื่องสัมฤทธิ์ ศีรษะเปนนาคราช ๓ เศียรและลูกศรสัมฤทธิ์ ทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจิมศรสัมฤทธิ์ และโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพนักงานพาดบันไดแก้วตั้งเข้าพระราชพิธีไว้ในพระแท่นมณฑลด้านหน้าพระพักตร์ แล้วพระราชทานนามศรนี้ว่า พระแสงศรกำลังราม จากนั้นพระราชทานพัดครุฑทอสำหรับงานมงคลแก่พระอธิการรุ่ง และพระราชทานเงินแก่ศิษย์พระอธิการรุ่งทั้งสองคนที่เป็นผู้เก็บพระแสงศรกำลังรามนี้ได้ คนละ ๑๐๐ บาท ดังปรากฏข้อความในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เล่มที่ ๒๘ ภาค ๑ วันที่ ๙ เมษายน รัตนโกสินทร ศก ๑๓๐ หน้า ๒๙ - ๓๗
          จากเหตุการณ์อันได้พระแสงศรกำลังราม มาสู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งต้นรัชกาล พระแสงศรกำลังรามได้ถูกอัญเชิญนำมาใช้ในงานพระราชพิธีสำคัญ โดยเฉพาะ ในการพระราชพิธีศรีสัจปานการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มหาราชครูพิธีพราหมณ์เชิญพระแสงศรกำลังรามเข้าร่วมในพระราชพิธีดังกล่าว โดยเชิญพระแสงศรกำลังรามแทงน้ำในพระขันหยก และเชิญลงชุบแทงในหม้อน้ำพระพุทธมนต์ร่วมกับพระแสงอีก ๓ องค์ ซึ่งตรงกับวันที่ ๑ เมษายน รัตนโกสินทร ศก ๑๓๐ ดังปรากฏข้อความที่มีการบันทึกในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง พระราชพิธีศรีสัจปานการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เล่มที่ ๒๘ ภาค ๑ วันที่ ๙ เมษายน รัตนโกสินทร ศก ๑๓๐ หน้า ๔๓ - ๔๖ และในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งที่ ๒ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ๒ ธันวาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๓๐ ในขบวนเสด็จพระราชดำเนินด้วยกระบวนพยุหยาตราโดยทางสถลมารคเลียบพระนคร ซึ่งตรงกับวันที่ ๓ ธันวาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๓๐ เจ้าพนักงานได้อัญเชิญพระแสงอัษฎาวุธประจำพระองค์ จำนวน ๘ องค์ ตามขบวนเสด็จพระราชดำเนินทางเบื้องซ้ายและเบื้องขวา พระแสงศรกำลังรามถูกอัญเชิญอยู่ในแถวที่ ๔ ในกระบวนเสด็จทางเบื้องซ้าย โดยมี นายสุดจินดา (จำลอง สวัสดิชูโต ภายหลังเป็นพระยาจินดารักษ์) เป็นผู้ถืออัญเชิญเสด็จ
          การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้ของโบราณอันสำคัญมาสู่พระบารมี ภายในต้นปีแห่งรัชสมัย ทำให้ทรงรู้สึกปีติโสมนัสยิ่งนัก เปรียบดั่งได้ช้างเผือกซึ่งเป็นสิ่งหายาก เป็นสิ่งสำคัญ เป็นสวัสดีมงคลมาสู่พระบรมราชวงศ์และสยามประเทศ ดังปรากฏอยู่ในลายพระราชหัตถเลขา ที่มีถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๒๙ ว่า

“การที่ได้แผ่นสัมฤทธิ์รูปกระบี่ธุช ครุฑพ่าห์จากนครไชยศรีซึ่งได้ให้ประกอบเปนธงกระบี่ธุช ครุฑพ่าห์ขึ้นแล้วนั้นอย่าง ๑ กับการที่ได้ศรนี้อีกอย่าง ๑ ทำให้หม่อมฉันรู้สึกปลื้มอิ่มใจเปนอย่างยิ่ง รู้สึกว่าคล้ายๆ ได้ช้างเผือก เปนอันเข้าใจดีว่าพระราชหฤทัยพระราชาธิบดีแต่ก่อนๆ มาท่านจะทรงรู้สึกอย่างไร เมื่อมีช้างเผือกเพราะรู้อยู่ว่านับวันนั้นจะหายากเข้าทุกที ได้เคยนึกเสียดายตะหงิดๆ นี่ก็นับว่าเปนโชคดี เปนบุญนักหนาที่ได้ของสำคัญๆ เช่น กระบี่ธุช ครุฑพ่าห์ และศรโบราณนี้มาภายใน ปีต้นแห่งรัชสมัย นับเปนสวัสดีมงคลแก่ตัวหม่อมฉันและพระราชบรมวงษ์จักรี ทั้งสยามรัฐสีมาประชาชนที่หม่อมฉันนี้ได้รับภารเปนผู้ทำนุบำรุง ดูเหมือนมาเปนเครื่องเตือนใจให้รู้สึกหน้าที่ของตน ที่จะต้องแผ่อาณาแก่ประชาชนทั้งหลายในสยามรัฐ และจะต้องทำนุบำรุงให้ชาติดำเนินไปสู่ ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นให้ราษฎรได้รับความร่มเย็นเปนศุขทั่วกัน ให้ได้คงเปนใหญ่อยู่จริงสมนามแห่งชาติเรานี้ชั่วกัลปาวสาน”


ภาพ : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินด้วยกระบวนพยุหยาตราโดยทางสถลมารคเลียบพระนคร ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๗ ธันวาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๓๐


ภาพ : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับพระราชอาสน์ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๗ ธันวาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๓๐


ภาพ : พระแสงศรกำลังราม


ภาพ : ลูกศรสัมฤทธิ์มีหัวลูกศรเป็นรูปวชิระ


ภาพ : ต้นฉบับราชกิจจานุเบกษา เรื่อง “ธงพระกระบี่ธุชพระครุฑพาหน้อย แลพระแสงศรกำลังราม” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๘ ภาค ๑ (๙ เมษายน ร.ศ. ๑๓๐) ๓๗ - ๔๒.


ภาพ : ต้นฉบับราชกิจจานุเบกษา เรื่อง “พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๘ ภาค ๑ (๙ เมษายน ร.ศ. ๑๓๐) ๒๙ - ๓๗.


ภาพ : ต้นฉบับราชกิจจานุเบกษา เรื่อง “พระราชพิธีศรีสัจปานการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๘ ภาค ๑ (๙ เมษายน ร.ศ. ๑๓๐) ๔๓ - ๔๖.

------------------------------------------- 
เรียบเรียงข้อมูล : นางสาวรวิวรรณ พุฒซ้อน บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
-------------------------------------------
บรรณานุกรม
จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒนากร, ๒๔๖๖. “ธงพระกระบี่ธุชพระครุฑพาหน้อยแลพระแสงศรกำลังราม” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๘ ภาค ๑ (๙ เมษายน ร.ศ. ๑๓๐) ๓๗ - ๔๒. ประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๕๐. ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๐. “พระราชพิธีศรีสัจปานการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๘ ภาค ๑ (๙ เมษายน ร.ศ. ๑๓๐) ๔๓ - ๔๖. “พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๘ ภาค ๑ (๙ เมษายน ร.ศ. ๑๓๐) ๒๙ - ๓๗. สารานุกรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๑ พระราชประวัติ บุคคล และเรื่องที่เนื่องในพระองค์. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2540.

(จำนวนผู้เข้าชม 3493 ครั้ง)

Messenger