ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในภาคใต้
หลักฐานศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในภาคใต้ของประเทศไทย ตอน ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในภาคใต้
          พบหลักฐาน ๒ ลิทธิหลัก คือ ๑. ไวษณพนิกาย นับถือพระวิษณุหรือพระนารายณ์เป็นเทพเจ้าสูงสุด ๒. ไศวนิกาย นับถือพระศิวะหรือพระอิศวรเป็นเทพเจ้าสูงสุด รวมทั้งยังพบลัทธิคาณปัตยะ (คาณปัถยัม) ซึ่งนับถือพระคเณศเป็นเทพองค์สำคัญที่สุด และลัทธิเสาระ ซึ่งนับถือพระสุริยะเป็นเทพเจ้าสูงสุด อีกด้วย
- ไวษณพนิกาย (Vaishnavism)
          ชื่อลัทธิดัดแปลงมาจากชื่อพระวิษณุซึ่งเดิมเป็นชื่อเทพแห่งสวรรค์ในศาสนายุคพระเวท (เทพแห่งพระอาทิตย์) คำว่าไวษณพปรากฏในคัมภีร์มหาภารตะ หมายถึง ชื่อที่รู้จักกันในนามต่างๆ คือ สูริ สุหฤต ภควตะ สัตตวตะ ปัญจกาลวิธ เอกานติกะ ตันมายะ และปาญจราตริกะ แต่ที่นิยมใช้คือ ภควตา เดิมราว พ.ศ. ๓๐๐ ศาสนาภควตาเริ่มเป็นที่สนใจของประชาชนแต่ยังไม่กว้างอยู่ในเมืองมถุราและเมืองใกล้เคียงต่อมาเริ่มแผ่ขยายไปทางทิศตะวันตกและทางเหนือของเดดข่าน ราว พ.ศ.๔๐๐ ต่อมามีหลักฐานจารึกหลายแห่งที่มีอายุก่อนคริสตกาลบรรยายความเกี่ยวข้องระหว่างวสุเทวะ ครุฑ กฤษณะ นารายณะ และก้อนหินศักดิ์สิทธิ์ กล่าวได้ว่าศาสนาภควตาวิวัฒนาการจากลัทธิเล็กๆ ที่นับถือในกลุ่มท้องถิ่นมาสู่ลัทธิใหญ่และกลายเป็นลัทธิสำคัญของศาสนาฮินดู


ภาพ : พระวิษณุ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เดิมอยู่ที่หอพระนารายณ์ ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช

- ไศวนิกาย (Saivism)
          มีประวัติเก่าแก่กว่าไวษณพนิกาย อาจเก่าแก่ลงไปถึงอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ โดยพบตราประทับมีรูปเทพนั่งขัดสมาธิอยู่ท่ามกลางสัตว์ป่า ซึ่งจอห์น มาร์แชลสันนิษฐานว่าเป็นต้นแบบของพระศิวะ รวมทั้งมีการพบลึงค์หินซึ่งในสมัยประวัติศาสตร์ลึงค์มีความสัมพันธ์กับการบูชาพระศิวะโดยกลายเป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะ ในรามายณะมีข้อความหลายตอนที่กล่าวถึงพระศิวะในชื่อต่างๆ เช่น ศิติกัณฐ์ มหาเทวะ รุทร ปศุปติ ศังการะ อิศานะ เป็นต้น ไศวนิกายแผ่ขยายไปและเป็นที่รู้จักดีในอินเดียใต้


ภาพ : ศิวลึงค์ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ได้จากบ้านนายพริ่ง อาจหาร หมู่ ๗ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๙ ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องศาสนาพราพมณ์-ฮินดู พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช

- ลัทธิคาณปัตยะ (คาณปัถยัม)
          นับถือพระคเณศ หรือ พิฆเนศวร์ ซึ่งเป็นเทพแห่งอุปสรรคและสิ่งกีดขวางทั้งปวง สามารถกีดขวางมนุษย์ เทวดา และมารร้ายต่างๆ ได้ และในขณะเดียวกันก็สามารถกำจัดเครื่องกีดขวางทั้งปวงได้ กำเนิดของพระคเณศมีบอกไว้ในคัมภีร์แตกต่างกันไป คัมภีร์ที่นิยมได้แก่ ลิงคปุราณะ ศิวปุราณะ มัสยาปุราณะ วราหปุราณะ และสกัณฑปุราณะ

- ลัทธิเสาระ
           นับถือพระสุริยะเป็นเทพเจ้าสูงสุด แม้ว่าการบูชาเทพแห่งแสงอาทิตย์จะปรากฏในอินเดียตั้งแต่สมัยโบราณ แต่เทพสุริยะยังไม่ได้รับการยกย่องมากนัก จนกระทั่งได้รับอิทธิพลจากอิหร่านในสมัยราชวงศ์กุษาณะ (พุทธศตวรรษที่ ๔-๗) โดยปุราณะกล่าวว่าลัทธินี้เข้ามาโดยนักบวชชาวอิหร่าน (ชาวซิเถียน) ซึ่งนักบวชเหล่านี้จะมีสายรัดเอวที่เรียกว่า อวยังคะ หมายถึงเข็มขัดศักดิ์สิทธิ์ของบรรดาผู้นับถือพระอาทิตย์ (โซโรอัสเตรียน) มีความหมายเท่ากับสายธุรำหรือสายยัชโญปวีตของพราหมณ์ ถือได้ลัทธิเสาระเป็นลัทธิที่รุ่งเรืองมากในอินเดียสมัยหลังคุปตะ (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔)

----------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : น.ส.สุขกมล วงศ์สวรรค์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
----------------------------------------------------

อ้างอิง :
- ผาสุข อินทราวุธ. รูปเคารพในศาสนาฮินดู. นครปฐม : มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์, ๒๕๒๒. - ผาสุข อินทราวุธ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์. “พระสุริยะในภาคใต้”, สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๖. กรุงเทพฯ : สถาบันทักษิณคดีศึกษา. ๒๕๒๙.

(จำนวนผู้เข้าชม 17348 ครั้ง)

Messenger