ภาชนะแบบมีปุ่มแหลม(Knobbed ware) เป็นภาชนะที่นำเข้าจากต่างประเทศ วัตถุดิบที่ใช้ผลิตภาชนะรูปแบบนี้มีทั้งหิน โลหะ และดินเผา ซึ่งมีรูปทรงที่แตกต่างกันออกไป อาทิ ทรงจานก้นโค้งและจานก้นแบน เป็นต้น แต่มีลักษณะเด่นที่เหมือนกัน คือมีปุ่มแหลมตรงกลางด้านในของภาชนะ ภาชนะบางใบอาจมีร่องวงกลมล้อมรอบนักวิชาการได้ให้ความคิดเห็นว่าภาชนะแบบมีปุ่มแหลม ไม่ใช่ภาชนะที่ใช้สำหรับหุงต้มในชีวิตประจำวัน โดยเอียน โกลเวอร์ (Ian Glover) นักโบราณคดีผู้ทำการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร ให้ความคิดเห็นว่าภาชนะรูปแบบนี้ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมต่างๆ อาทิ การฝังศพ และยังได้ตีความว่า ปุ่มแหลมของภาชนะ หมายถึง เขาพระสุเมรุ
         ในต่างประเทศได้พบภาชนะแบบมีปุ่มแหลมที่แหล่งโบราณคดี Wari-Bateshwar ประเทศบังกลาเทศ ซึ่งเป็นเมืองท่าที่เจริญอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๓ – ๘ในบริเวณอ่าวเบงกอลและพบในรัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย นอกจากนี้ยังพบภาชนะแบบมีปุ่มแหลมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประเทศเวียดนาม จังหวัดธันฮัว(Than Hoa) และในประเทศไทย
          สำหรับในประเทศไทยพบในภาคกลางที่แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี ที่ภาคใต้พบในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้วจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นเมืองท่าที่เจริญอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๓ - ๙ นอกจากนี้ยังพบที่แหล่งโบราณคดีถ้ำเสือและแหล่งโบราณคดีหาดปากคลองกล้วย จังหวัดระนอง ภาชนะแบบมีปุ่มแหลมใบนี้จึงเป็นตัวแทนของวัตถุที่ถูกนำเขามาในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของภาคใต้ เป็นโบราณวัตถุชิ้นเด่นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง

...............................................................
ข้อมูลโดย : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง









(จำนวนผู้เข้าชม 2054 ครั้ง)

Messenger