เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ตริปุรานตกะมูรติ (Tripurāntakamūrti)
ตริปุรานตกะมูรติ (Tripurāntakamūrti)
พระศิวะ (Śivā) ปางทำลายเมืองอสูรทั้งสาม (Tripura) เมืองทั้งสามเป็นปราการอันมั่นคงของเหล่าอสูรสร้างโดยมายาสุร (Mayāsura) สถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ฝ่ายอสูร ให้กับบุตรทั้งสามของอสูรตารกะ (Tāraka) คือ ตารกาษะ (Tārakākṣa) วิทยุนมาลิ (Vidyunmāli) และกมลากษะ (Kamalākṣa) เมืองทั้งสามนี้ได้รับพรจากพระพรหม (Brahmā) ไม่อาจทำลายได้ เว้นแต่ศรดอกเดียวอันทำลายทั้งสามเมืองพร้อมกัน เมืองแรกมีกำแพงสร้างด้วยเหล็กตั้งอยู่บนพื้นโลก เมืองที่สองกำแพงสร้างด้วยเงินตั้งอยู่บนท้องฟ้า และเมืองที่สามกำแพงสร้างด้วยทองตั้งอยู่บนสวรรค์ เมืองทั้งสามเคลื่อนที่ตลอดเวลา ไม่เคยอยู่ในระนาบเดียวกัน ในรอบ 1,000 ปี จึงจะบรรจบกันครั้งหนึ่ง เมืองอสูรทั้งสามจึงเป็นเมืองที่รุ่งเรืองด้วยทรัพย์และอำนาจอันยิ่งใหญ่เหนือโลก ยากที่ผู้ใดจะทำลายลงได้
เมื่อได้รับพรแล้ว อสูรทั้งสามได้ก่อความเดือดร้อนแก่เล่าเทวดา (devas) และฤษี (Ṛṣi) ทั้งได้จับพระอินทร์ (Indra) และคณะเทพไปขังไว้ยังปราสาทเหล็ก เทพทั้งหลายจึงพากันไปอ้อนวอนพระศิวะให้ช่วยเหลือ เมื่อถึงวาระเมืองทั้งสามมาบรรจบกัน เทพเจ้าทั้งปวงจึงได้แบ่งกำลังให้แก่พระศิวะไปปราบอสูรทั้งสาม ทรงประทับบนราชรถอันเป็นนิรมิตของพระปฤถวี (Pṛithivī) เทพีแห่งพื้นปฐพี มีพระอาทิตย์ (Sun) และพระจันทร์ (Moon) เป็นวงล้อ พระพรหมทรงเป็นสารถี เขาพระสุเมรุ (Meru) เป็นคันธนู นาควาสุกรี (Vāsukī) เป็นสายธนู และพระวิษณุ (Viṣṇu) ทรงเป็นศรแห่งจักรวาล พระศิวะทรงแผลงศร ปลดปล่อยคณะเทวดาให้ออกจากที่คุมขัง และเผาทำลายเมืองทั้งสามจนสูญสิ้นไป
พระศิวะปางตริปุรานตกะ มีหลายลักษณะ มักทำยืนอยู่บนรถเทียมม้า (อัศวะ-aśva) ในท่าอาลีฒาสนะ (ālīḍāsana) คือเหยียดพระชงฆ์ขวาและงอพระชงฆ์ซ้าย อันเป็นท่ายืนของผู้น้าวศร แสดงกฏกมุทรา (kaṭakamudrā) และกรรตรีมุทรา (kartarīmudrā) พระหัตถ์ขวาถือคันธนูและพระหัตถ์ซ้ายเหนี่ยวสายธนู และแสดงมุทราอื่น ๆ เช่น สูจิมุทรา (sūcimudrā) และ วิสมยะมุทรา (vismayamudrā)
บางครั้งทำ 2 กร โดยปกติทำ 4 กร กรคู่บนถือขวาน (ปรศุ-paraśu) และกวาง (มฤค-mṛga) กรคู่ล่าง อาจถือคันธนู (ธนุส-dhanus) และลูกศร (śara) นอกจากนี้ ถืออาวุธอื่น ๆ เช่น จักร (cakra) คทา (gadā) กระดิง (ฆัณฏา-ghaṇṭā) ดาบ (ขัฑคะ- Khaḍga) โล่ (เขฏกะ-Kheṭa) สังข์ (śankha) สิ่ว (ฏังกะ-ṭaṅka) ตรีศูล (trīiśura) และวัชระ (vajra) รูปแบบอื่น ทรงยืนด้วยบาทข้างหนึ่งเหยียบอยู่เหนืออปัสมารบุรุษ (Apasmārapuruṣa)
ภาพ 1. พระศิวะปางตริปุรานตกะ ศิลปะอินเดีย ศิลาสลัก มี 10 กร ถืออาวุธต่าง ๆ เช่น ตรีศูล, ขัฏวางคะ (ไม้เท้าทำด้วยกระดูกยอดกะโหลก) หอก ดาบ โล่ ฯ ยืนท่าอาลีฒาสนะ งอพระชงฆ์ซ้าย เหยียดพระชงฆ์ขวา พระบาทซ้ายเหยียบอยู่บนอปัสมารบุรุษ จาก Asian Art Museum
ภาพ 2. พระศิวะปางตริปุรานตกะ ศิลปะอินเดีย หล่อโลหะ ยืนบนรถเทียมม้า 4 กร ถือขวาน กวาง คันธนูและลูกศร ภาพจาก Asian Art Museum
ภาพ 3. พระศิวะปางตริปุรานตกะ ศิลปะอินเดียแบบโจฬะ หล่อโลหะ มี 4 กร ถือขวาน กวาง คันธนูและลูกศร (ไม่ปรากฏอยู่แล้ว) ภาพจาก The Metropolitan Museum of Art
------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล: นางเด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
อ้างอิงจาก
1. Liebert, Gosta. Iconographic Dictionary of the Indian Religions Hinduism-Buddhism-Jainism. Leiden: E.J. Brill, 1976. 2. Stutley , Margaret. The illustrated dictionary of Hindu iconography. London : Routledae & Kegan Paul, 1985. 3. ผาสุข อินทราวุธ. รูปเคารพในศาสนาฮินดู. กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2522
(จำนวนผู้เข้าชม 4237 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน