เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
สายธารแห่งอยุธยา : ตอนที่ ๑ คลองสายหลักในเกาะเมืองอยุธยา
พระนครศรีอยุธยา หรือกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา เป็นที่ทราบกันดีว่าตำแหน่งและผังเมืองของอดีตเมืองหลวงแห่งนี้แสดงให้เห็นภูมิปัญญาด้านการจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างทรงประสิทธิภาพ แม้ว่าที่ตั้งจะเป็นจุดศูนย์รวมแม่น้ำสายสำคัญถึงสามสายแต่ชาวกรุงศรีอยุธยาก็สามารถปรับตัวและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับรัฐในระดับสากล ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๔ การเกษตรและการค้าขายเป็นปัจจัยสำคัญที่นำพาอยุธยาขึ้นสู่จุดสูงสุด แต่ทั้งนี้เบื้องหลังความเจริญดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากการควบคุมทรัพยากรน้ำโดยใช้ระบบคูคลองภายในเกาะเมืองอยุธยาเป็นหัวใจหลักอันหนึ่ง โดยสัณฐานเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยามีแม่น้ำล้อมรอบสามสาย ชาวอยุธยาเรียกแม่น้ำทั้งสามสายนี้รวมกันว่า “คลองคูเมือง” หรือ “คูเมือง”
คูเมืองทิศเหนือรับน้ำจากแม่น้ำลพบุรีและเจ้าพระยา คูเมืองทิศตะวันออกรับน้ำจากแม่น้ำป่าสัก คูเมืองทิศใต้เป็นจุดรวมแม่น้ำทุกสายไหลรวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางกระจะหรือบ้านน้ำวน ภายใน เกาะเมืองมีคลองหลักที่ผันน้ำจากคูเมืองทิศเหนือผ่านเกาะเมืองลงมายังคูเมืองทิศใต้ถึงสามสาย เรียงจาก ทิศตะวันตกไปตะวันออก ได้แก่ คลองฉะไกรใหญ่ (คลองท่อ) คลองประตูข้าวเปลือกหรือคลองประตูจีน และคลองนายก่าย (ภายหลังเรียก “คลองมะขามเรียง”) คลองทั้งสามนอกจากจะเป็นทางที่ตัดตรงจาก ทิศเหนือ–ใต้ ในมิติของการคมนาคม ยังเป็นคลองที่ใช้ระบายน้ำจากแม่น้ำลพบุรีลงมาออกแม่น้ำเจ้าพระยา ในฤดูที่น้ำเหนือไหลหลาก จากการที่เป็นเส้นทางคมนาคมหลักนี้เองจึงเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางด้านการเมือง การค้า และศาสนา
สถานที่สำคัญทั้งที่เป็นศูนย์กลางทางอำนาจ การเมือง ศาสนา และเศรษฐกิจ ของอยุธยา ตั้งอยู่ตลอดคลองทั้งสาม อันสมควรยกเป็นตัวอย่าง ทางด้านการปกครอง คือ พระราชวังหลวงของอยุธยา มีขอบเขตด้านทิศตะวันตกติดกับคลองฉะไกรใหญ่ (คลองท่อ) ยังปรากฏหลักฐานการผันน้ำจากคลองฉะไกรใหญ่เข้าสู่บ่อเก็บน้ำต่างๆ ในพระราชวัง ไม่ว่าจะเป็น สระแก้ว สระระฆัง โดยเฉพาะพระที่นั่ง บรรยงค์รัตนาสน์ หรือพระที่นั่งท้ายสระ ซึ่งมีคูน้ำล้อมรอบด้วยการผันน้ำจากคลองฉะไกรใหญ่ผ่านประตูน้ำชื่อ “อุดมคงคา” และออกทางประตูน้ำ “ชลชาติทวารสาคร” แสดงให้เห็นการจงใจเลือกตำแหน่งของพระราชวังหลวงให้สามารถใช้ประโยชน์ด้านอุปโภคบริโภคจากคลองฉะไกรใหญ่ได้สะดวก ทางทิศตะวันออกของ คลองฉะไกรใหญ่ยังมีคลองประตูข้าวเปลือกเป็นทางน้ำขนาดใหญ่ขุดผ่านกลางเกาะเมือง ปากคลองทิศเหนือเป็นที่ตั้งของป้อมประตูข้าวเปลือก ไหลลงทางใต้ผ่านวัดคู่บ้านคู่เมืองพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ วัดมหาธาตุ และวัดราชบูรณะ ซึ่งล้วนเป็นจุดศูนย์กลางทางศาสนา ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือวัดมหาธาตุซึ่งพระสังฆราช ฝ่ายคามวาสีของอยุธยาจำพรรษาอยู่ ความสำคัญของวัดมหาธาตุปรากฏดังเหตุการณ์ตอนหนึ่งในจดหมายเหตุราชทูตลังกาเดินทางมาสืบศาสนาในอยุธยา ราว พ.ศ. ๒๒๙๓ รัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กล่าวถึงเหตุการณ์เข้าพบพระสังฆราชของอยุธยา และบรรยายสภาพบริเวณสังฆาวาสของวัดมหาธาตุไว้ว่า “...ในบริเวณรอบตำหนักพระสังฆราช มีกุฎีภิกษุสามเณรต่อไปเป็นอันมาก มีทั้งที่พักอุบาสก อุบาสิกา และที่พักของพวกข้าพระโยมสงฆ์ ซึ่งมากระทำการอุปัฏฐากทุกๆ วัน...” แสดงให้เห็นว่าคลองประตูข้าวเปลือกเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่นำมาสู่ศูนย์กลางทางศาสนาของอยุธยา
ปัจจัยสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของอยุธยาเป็นเรื่องของการพานิชย์ปรากฏศูนย์กลางการค้าขายที่สำคัญที่สุดตั้งอยู่ปลายคลองนายก่ายทางทิศใต้ คือ ย่านนายก่าย ย่านสามม้า ต่อเนื่องถึงตลาดนานาชาติบริเวณ ป้อมเพชร พื้นที่ซึ่งชาวจีนตั้งย่านตลาดค้าขาย สินค้าทั้งที่นำเข้าจากต่างประเทศและผลิตโดยช่างชาวจีน บรรดาสินค้าจากต่างถิ่นซึ่งมีขายอยู่ในย่านนายก่าย ได้แก่ เครื่องกระเบื้อง ภาชนะโลหะต่างๆ ผ้าไหมและ ผ้าแพร เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ผลิตโดยช่างชาวจีน ได้แก่ ขนมแห้ง(จันอับ) รวมถึงขนมนานาชนิด เครื่องเรือนไม้ เครื่องใช้ไม้สอยจากโลหะ เป็นต้น จากตัวอย่างเพียงเล็กน้อยที่กล่าวมาพอจะให้ภาพสังคมของอยุธยาตั้งแต่เรื่องของการปกครอง ความเชื่อ และวิถีชีวิต ล้วนเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงอยู่กับลำน้ำทั้งสามสายนี้เสมือนเป็น ถนนสายหลักของชาวกรุงศรีอยุธยา
---------------------------------
ผู้เรียบเรียงข้อมูล : นายศุทธิภพ จันทราภาขจี นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา
เอกสารอ้างอิง : ๑. วินัย พงศ์ศรีเพียร. พรรณนาภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา เอกสารจากหอหลวง (ฉบับความสมบูรณ์). กรุงเทพ: อุษาคเนย์, ๒๕๕๑ ๒. ศิลปากร, กรม. โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่ม ๑. ทวีวัฒน์การพิมพ์: กรุงเทพฯ, ๒๕๕๑
(จำนวนผู้เข้าชม 7596 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน