ประติมากรรมรูปสิงห์
ประติมากรรมรูปสิงห์
วัสดุ : ปูนปั้น
อายุ/สมัย : ทวารวดี (อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗)
ขนาด : กว้าง ๙๖ เซนติเมตร สูง ๑๔๖ เซนติเมตร
สถานที่พบ : ไปรษณีย์กลางอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
ปัจจุบัน : จัดแสดง ณ ห้องศาสนาและความเชื่อทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์
_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _
ประติมากรรมรูปสิงห์ เป็นประติมากรรมรูปแบบหนึ่งที่พบมากในวัฒนธรรมทวารวดี นิยมนำมาใช้ประดับส่วนฐานและทางเข้าของสถาปัตยกรรมหรือสิ่งก่อสร้างในพุทธศาสนา รวมทั้งยังนิยมทำเป็นประติมากรรมลอยตัวขนาดเล็ก เช่น ประติมากรรมนูนสูงประดับฐานเจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม, ลวดลายสลักบนหินฐานเสาธรรมจักร จังหวัดนครปฐม, ประติมากรรมลอยตัวขนาบเจดีย์ทิศ วัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม ,ประติมากรรมดินเผารูปสิงห์ขนาดเล็ก พบที่เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น
ประติมากรรมรูปสิงห์ขนาดใหญ่ชิ้นนี้ เป็นประติมากรรมนูนสูงอยู่ในท่านั่ง อ้าปากกว้าง แสดงเขี้ยวขนาดใหญ่ ตากลมโต มีแผงคอเป็นรูปสามเหลี่ยม และมีขนขมวดเป็นลอนเรียงต่อกันเต็มลำตัว ด้านหลังเรียบ คาดว่าได้รับแรงบันดาลใจจากอิทธิพลศิลปะเขมรในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ และน่าจะเคยใช้ประดับอยู่ที่ฐานเจดีย์ หรือ ด้านหน้าศาสนสถานในวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งอยู่บริเวณไปรษณีย์กลางอำเภอเมืองลพบุรี แต่ในปัจจุบันไม่ปรากฏร่องรอยโบราณสถานแล้ว มีการศึกษาความหมายของสิงห์ไว้มากมาย เช่น การค้ำจุนศาสนา, การแสดงถึงอำนาจพละกำลัง เป็นตัวแทนของผู้พิทักษ์และความดี เป็นต้น
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าชมประติมากรรมรูปสิงห์ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี ได้ทุกวันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา ๙.๐๐-๑๖.๐๐ น.
+ + + + + + + + + + + +
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์
อ้างอิง
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารดี วัฒนธรรมทางศาสนา ยุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. พิมพ์ ครั้งที่ ๒ นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 8220 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน