เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
เล่าเรื่องประติมานวิทยา: วิชาธร/วิทยาธร
เล่าเรื่องประติมานวิทยา: วิชาธร/วิทยาธร (vijādhara/vidyādhara)
วิชาธร หรือ วิทยาธร แปลตามศัพท์ว่า “ทรงไว้ซึ่งวิชา” คำว่า “วิทยา” แปลว่า ความรู้ ส่วนคำว่า “ธร” แปลว่า แบก ถือ หมายถึง ผู้มีวิชากายสิทธิ์, ผู้มีฤทธิ์ที่สำเร็จด้วยวิทยาอาคมหรือของวิเศษ จัดเป็นเทวดาชั้นต่ำ ครึ่งเทพครึ่งมนุษย์ อาศัยระหว่างสวรรค์และโลกมนุษย์ มีหน้าที่บำเรอเทพเจ้า บางทีเรียกว่า พิทยาธ หรือ เพทยาธร เพศหญิงเรียกว่า วิทยารี หรือ พิทยารี (Vidyādharī) ปรากฏในคติศาสนาต่างๆ ของอินเดีย
ในศาสนาพราหมณ์ กล่าวกันว่าวิทยาธรเป็นผู้รับใช้พระศิวะ อาศัยอยู่ยังเทือกเขาหิมาลัย บางแห่งกล่าวว่าเป็นผู้รับใช้พระอินทร์ พวกวิทยาธรสร้างวิมานอากาศอยู่บนยอดเขาวินธัย มีบ้านเมืองงดงามราวกับสวรรค์ มีพระราชาปกครองกันเอง ราชาของวิทยาธรมีนามว่า สรรวารถสิทธะ (Sarvārthasiddha)
เหล่าวิทยาธรมีฤทธิ์และมนต์ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ จึงมีนามเรียกว่า เขจร (Khecara) หรือ นภาจร (Nabhacara) แปลว่า ผู้เคลื่อนไปในอากาศ ผู้ชายมีฤทธิ์ด้วยมนต์และพระขรรค์ชุบด้วยเหล็กวิเศษ เพียงแต่ร่ายมนต์แกว่งพระขรรค์ก็เหาะไปได้ สำหรับผู้หญิงไม่มีพระขรรค์ แต่มีปีกหางช่วยให้ลอยไปในอากาศ หรือต้องใช้เวทย์มนต์เรียกพระพายให้พัดตัวลอยไปในอากาศ มีนามอื่น ๆ เช่น กามรูปิน (Kāmarūpin) หมายถึงผู้บิดเบือนรูปได้ตามความใคร่ ปริยาวาท (Priyavada) ผู้มีวาจาอ่อนหวาน
วิทยาธร ทำรูปปราศจากปีก มีรูปร่างสวยสง่างาม ล่องลอยอยู่ระหว่างโลกมนุษย์และสวรรค์ ประกอบอยู่กับรูปของเทพเจ้า ตกแต่งตามวัดและเทวาลัย มือถือพระขรรค์ เป็นเครื่องตัดอวิชาและฟาดฟันปีศาจ หรือถือพวงมาลัย (วนมาลา-vanamālā) เป็นเครื่องหมายของชัยชนะ หรือแก้วรัตนะ (ratna) เป็นสัญลักษณ์ บางครั้งปรากฏในรูปครึ่งบนเป็นมนุษย์และครึ่งล่างเป็นนก
ในทางประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าวิทยาธรเป็นคนพวกหนึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณเขาวินธัยทางทิศใต้ของอินเดียตั้งแต่ดึกดำบรรพ เรียกชาติตนว่าวิทยาธร เพราะเป็นชาติที่ทรงศิลปวิทยาเจริญรุ่งเรืองในสมัยนั้น ชาติวิทยาธรคงเสื่อมสูญนานแล้ว แต่ยังคงปรากฏชื่อเสียงอยู่ในเรื่องนิทานเก่า ๆ คนบางพวกที่อาศัยอยู่ตามไหล่เขาวินธัยทุกวันนี้ คงสืบสายมาจากพวกวิทยาธรไม่มากก็น้อย วิทยาธรมักเกี่ยวข้องกับมนุษย์ โดยมากมักมีใจดี มีนิสัยชอบสตรี มักผิดศีลข้อกาเม หรือเกี่ยวข้องอยู่กับสตรี
ภาพประกอบ 1. วิทยาธร ถือช่อมาลา เหาะลอยในอากาศ ดินเผา ศิลปะอินเดีย ภาพจาก musée Guimet, Paris
ภาพประกอบ 2. วิทยาธร ศิลาสลัก ศิลปะอินเดีย ภาพจาก musée Guimet, Paris
ภาพประกอบ 3. วิทยาธร ในท่าเหาะไปในท้องฟ้า งาแกะสลัก ปากีสถาน ภาพจาก British Museum
ภาพประกอบ 4. วิทยาธร ภาพประกอบสมุดไทย ศิลปะรัตนโกสินทร์ ภาพจาก Asian Art Museum
---------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล: นางสาวเด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
อ้างอิงจาก
1. พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. 2. กถาสริตสาคร (สาครเป็นที่รวมกระแสนิยาย) กถาบิฐ และกถามุข โดย “เสถียรโกเศศ”. องค์การค้าของคุรุสภา, 2507. 3. เจือ สตะเวทิน. ตำรับวรรณคดี. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ, 2522. 4. Liebert, Gosta. Iconographic Dictionary of the Indian Religions Hinduism-Buddhism-Jainism. Leiden: E.J. Brill, 1976. 5. Stutley , Margaret. The illustrated dictionary of Hindu iconography. London : Routledae & Kegan Paul, 1985.
(จำนวนผู้เข้าชม 15534 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน