วี.ไอ.พี. ยุคก่อนประวัติศาสตร์
          V.I.P. ย่อมาจาก very important person คือ บุคคลสำคัญ บุคคลพิเศษ หรือที่สมัยนี้นิยมเรียกกันว่า เซเล็บ (celebrity) มี วี.ไอ.พี.ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทยด้วยหรือ รู้ได้อย่างไรว่าเขาหรือเธอเป็นบุคคลพิเศษ เมื่อนักโบราณคดีขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่เป็นแหล่งฝังศพ มักมีโครงกระดูกที่พบหลักฐาน เช่น สิ่งของอุทิศในพิธีกรรมการฝังศพ เครื่องประดับตกแต่งร่างกาย ที่มีปริมาณและความหลากหลายแตกต่างจากโครงกระดูกอื่นๆในแหล่งเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด หลักฐานเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็น วี.ไอ.พี. หรือบุคคลสำคัญที่มีฐานะ สถานะพิเศษในชุมชนที่ผู้ทำพิธีฝังศพยอมรับ หรือมีความผูกพัน แสดงออกด้วยการมอบสิ่งของอุทิศจำนวนมาก หายาก และมีค่าให้กับผู้ตาย
          ในสมัยหินใหม่มีตัวอย่าง วี.ไอ.พี. หรือบุคคลสำคัญที่แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เป็นเพศหญิง ตายเมื่ออายุ ๓๕ ปี กำหนดอายุประมาณ ๓,๖๐๐ ปีมาแล้ว หลุมศพของเธอมีขนาดใหญ่ ร่างกายตกแต่งด้วยเครื่องประดับจำนวนมากอย่างหรูหรา จนได้รับการขนานนามว่า “เจ้าแม่โคกพนมดี” เป็นโครงกระดูกที่แสดงถึงความร่ำรวยที่สุดในแหล่ง จากลักษณะของกระดูกแสดงว่าเมื่อยังมีชีวิตเป็นคนที่ทำกิจกรรมที่ใช้แขนท่อนล่างและมือมาก ประกอบกับสิ่งของในหลุมฝังศพเป็นอุปกรณ์เกี่ยวข้องกับการทำภาชนะดินเผา ได้แก่ หินดุ หินขัดภาชนะ และแท่งดินเหนียวดิบจำนวนมากวางสุมทับลำตัวเป็นกองสูงมีภาชนะดินเผาทุบแตกวางไว้ด้านบน ทำให้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นช่างปั้นภาชนะดินเผาหญิงที่มีความสำคัญมากของชุมชน




ลูกปัดเปลือกหอย

          เครื่องประดับของ “เจ้าแม่โคกพนมดี” ได้แก่ ลูกปัดเปลือกหอยมากกว่า ๑๒๐,๐๐๐ เม็ด บริเวณกระดูกอกและแผ่นหลังลักษณะที่น่าจะเย็บติดกับผ้าเป็นเสื้อหรือเสื้อคลุมมากกว่าจะเป็นสายสร้อย เครื่องประดับศรีษะทำจากเปลือกหอย แผ่นวงกลมมีเดือยทำจากเปลือกหอย ๒ วงที่ไหล่ซ้ายขวา กำไลเปลือกหอยสวมข้อมือซ้าย เขี้ยวสัตว์เจาะรู ๕ เขี้ยวบริเวณอก และลูกปัดทรงตัวไอกว่า ๙๕๐ เม็ด ลักษณะที่อาจร้อยเป็นสายหรือเย็บติดกับผ้าสวมบริเวณอกและใต้แขน


ลูกปัดเปลือกหอยทรงตัวไอกว่า ๙๕๐ เม็ด


เครื่องประดับศรีษะ ทำจากเปลือกหอย

          ชุมชนโบราณสมัยเหล็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็พบหลักฐาน วี.ไอ.พี.เช่นกัน ที่แหล่งโบราณคดีเนินอุโลก อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา มีบุคคลพิเศษเป็นเพศหญิง ๑ โครง เพศชาย ๑ โครง อายุ ๑,๗๐๐ - ๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว เป็นเพียง ๒ โครงเท่านั้นที่พบเครื่องประดับทองคำ ขณะที่โครงกระดูกอื่นๆในแหล่งตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับสำริดและหิน ได้แก่ กำไลสำริด แหวนสำริด จี้หินอาเกต ลูกปัดหินคาร์นีเลียนฯ วี.ไอ.พี. ชายหญิง ๒ โครงนี้ ประดับร่างกายด้วย สร้อยลูกปัดทองคำและแหวนเงิน ซึ่งเป็นวัสดุมีค่าหายากในสมัยนั้น ไม่สามารถผลิตเองได้เป็นสินค้านำเข้าจากต่างแดน โครงกระดูกเพศหญิงตกแต่งร่างกายโดดเด่นพิเศษมาก ด้วยสายสร้อยลูกปัดทองคำถึง ๖๘ เม็ดร่วมกับลูกปัดอะเกต จี้อะเกตบริเวณคอ ขดเกลียวสำริดที่หูซ้ายขวา กำไลสำริดอย่างน้อย ๓๘ วง แหวนนิ้วมือสำริด ๖๔ วง แหวนเงิน ๑ วง แหวนนิ้วเท้าสำริด ๙ วง และสวมแหวนเงิน ๑ วง ส่วนโครงกระดูกเพศชาย มีสร้อยคอลูกปัดทองคำ ๕๓ เม็ด แต่เครื่องประดับสำริดมีน้อยชิ้น




ลูกปัดทองคำ ในหลุมฝังศพ วี.ไอ.พี. สมัยเหล็ก อายุ ๑,๗๐๐ - ๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว

          สิ่งของอุทิศในพิธีกรรมการฝังศพยุคก่อนประวัติศาสตร์นี้ เป็นเสมือนตัวแทนความผูกพัน ความอาลัย การให้เกียรติและการแสดงความระลึกถึงของญาติพี่น้อง ผู้คนในชุมชนต่อผู้ตาย และบางส่วนคงเป็นของใช้ เครื่องมือประกอบอาชีพ เครื่องประดับที่ผู้ตายเคยใช้เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่นั่นเอง.

ข้อมูล : นางศิริพันธ์ ตาบเพ็ชร์ นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ กองโบราณคดี

(จำนวนผู้เข้าชม 6427 ครั้ง)

Messenger