ทุ่งเขางูราชบุรี...ถิ่นนี้มีเรื่องเล่า
          “ทุ่งเขางู” ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ต.เกาะพลับพลา อ.เมือง จ.ราชบุรี ที่หน้าเขางูเป็นทุ่งกว้างใหญ่ และ ณ ทุ่งราบนี้เองเคยเป็นสมรภูมิรบในสงครามครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คือ“สงครามเก้าทัพ”
          บริเวณทุ่งเขางูจะมีเทือกเขางู ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองราชบุรี ทอดยาวเหมือนงูเลื้อยอยู่ตรงกลาง ด้านหน้าเขางูเป็นท้องทุ่งใหญ่ แต่เดิมในช่วงฤดูน้ำหลากคือตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน บริเวณทุ่งราบหน้าเขางูจะมีน้ำจะไหลบ่าจากพืดเขาต่างๆ มาขังเต็มไปหมดทั้งทุ่งและท่วมนองไปจนถึงเชิงเขาคล้ายกับทะเลสาบขนาดย่อมๆ นานอยู่หลายเดือน และมีความลึกพอที่เรือบรรทุกข้าวขนาดใหญ่และเรือยนต์ต่างๆ แล่นผ่านไปมาได้ ช่วงที่มีน้ำท่วมมากที่สุด คือเริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นต้นไป ในช่วงฤดูน้ำหลากนี้ ยังก่อให้เกิดเทศกาลประเพณีพายเรือไปนมัสการหลวงพ่อฤาษีและรอยพระพุทธบาทในช่วงวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ของทุกปี ถือเป็นงานประเพณีที่อยู่คู่กับท้องทุ่งแห่งนี้มาช้านาน คนในราชบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็นคนโพธาราม บ้านโป่งฯ ต่างรอคอยที่จะพายเรือมาไหว้พระที่เขางูแห่งนี้ ส่วนผู้ที่อยู่จังหวัดใกล้เคียงถึงกับลงทุนเช่าเรือยนต์มาเที่ยวงานนี้ก็มีไม่น้อย ดังนั้นในทะเลสาบทุ่งเขางู จึงแน่นขนัดไปด้วยเรือทุกชนิด จะมองไปในทิศทางใดก็จะพบแต่เรือแพน้อยใหญ่เต็มท้องน้ำไปหมด และที่นับว่าสนุกสนานกันอย่างยิ่งในงานนี้ ก็คือ การแข่งเรือ
          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จพระราชดำเนินทุ่งเขางูหลายครั้ง โดยในการเสด็จพระราชดำเนินเมื่อพ.ศ. ๒๔๓๑ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จประพาสไทรโยคครั้งที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบรรยายลักษณะของเทือกเขางูไว้ว่า
           “...ตรงหน้านั้นเขางูเป็นหมู่ยาว แต่หลายยอดหลายอย่างต่างชื่อเสียง ที่เล็กเคียงข้างลงมาหน้าผาขาว เป็นเขางูอยู่อยู่เท่านั้นปั้นเรื่องราว เขาหลักว่าวแลเป็นสูงในฝูงนี้ ยอดเป็นหลักปักเห็นเด่นถนัด เขาที่ถัดเป็นรากกล้วยพรวยแผกหนี ถ้าเป็นเขารอกไปได้จะดี ต่อยอดนี้เขาจุฬาคว้าพนัน ตามเขากล่าวว่าว่าวสุวรรณหงส์ ที่ตกลงตามไต่ป่านผายผัน เมืองมัดตังอยู่ราวสุพรรณ เพียงเท่านั้นคงกันดารยักษ์มารมี...”
          สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประทับใจกับทัศนียภาพและความงามของทุ่งเขางูมาก โดยได้เปรียบเทียบทุ่งเขางูกับสถานที่หลายแห่งที่พระองค์เคยเสด็จไป ดังปรากฏในรายงานการเสด็จตรวจราชการมณฑลราชบุรี เมืองราชบุรีและเมืองสมุทรสงคราม พ.ศ.๒๔๔๑ ร.ศ.๑๑๗ ซึ่งทรงกล่าวถึง “ทุ่งเขางู” ไว้ดังนี้
          “... ฉันพึ่งเคยมาเห็นที่ทุ่งเขางูในระดูน้ำคราวนี้ พอแลเห็นก็ทำยอมโดยทันทีว่า บรรดาทุ่งที่จะเที่ยวเล่นในระดูน้ำ จะเปนทุ่งหนึ่งทุ่งใดในกรุงเก่าก็ดี ท้องพรหมมาศเมืองลพบุรีก็ดี แม้ที่สุดถึงบึงบอระเพ็ดนครสวรรค์ก็ดี บรรดาที่เคยไปเห็นแล้วไม่มีแห่งใดที่จะสู้ทุ่งเขางูนี้เลย ด้วยเป็นทุ่งกว้างน้ำลึกแลมีเขาอยู่ใกล้ๆ จะเล่นเรือพายไปเท่าใดก็ไม่มีที่สุด โดยจะมีเรือใบเล็กๆมาแล่นเล่นก็ได้ กระบวนที่จะเที่ยวทุ่งเก็บกุ่ม เก็บสายบัวอย่างทุ่งกรุงเก่าก็ได้ หรือเอาเรือแวะจอดเข้าที่ดอนขึ้นไร่เก็บน้อยหน่าก็ได้ จะเดินเลยเที่ยวไปถึงเขาก็ไม่ทันเหนื่อย เพราะอย่างนี้ใครๆ จึงได้กลับมาชมกันว่าสนุกนัก...”
ิ          ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินเมืองราชบุรี ครั้งนั้นพระองค์ได้เสด็จประพาสทุ่งเขางูได้ทอดพระเนตรสภาพทุ่งเขางูในฤดูน้ำหลากด้วย และต่อมาภาพน้ำท่วมทุ่งที่เขางู ยังถูกใช้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดราชบุรี ในช่วงปีพ.ศ. ๒๕๐๐ -๒๕๐๙ อีกด้วย
          ปัจจุบันทุ่งเขางูแห่งนี้มีสภาพตื้นเขินกว่าเดิมมาก ไม่มีน้ำท่วมทุ่งเป็นทะเลสาบดังเช่นในอดีต ไม่สามารถนำเรือยนต์เข้าไปแล่น และไม่มีภาพบรรยากาศความงามของท้องทุ่งที่มีการแข่งเรือ การพายเรือเล่น ชมนกชมไม้ เก็บสายบัว กระจับ และสันตวาให้หวนคืนมาอีก นับตั้งแต่ที่ได้มีการตัดถนนหลวงผ่านหลายสายและมีการสร้างเขื่อนเมื่อปีพ.ศ.๒๕๑๖ ภาพชีวิตของผู้คนที่เคยผูกพันกับสายน้ำที่ทุ่งเขางูในอดีต จึงได้เลือนหายไปพร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม สภาพทุ่งเขางูที่คุ้นตาชาวราชบุรีในปัจจุบันคือเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนและเป็นพื้นที่เกษตรกรรมทำนาปลูกข้าวกระจายอยู่ทั่วไป


ภาพ ๑ ขบวนเรือเสด็จฯของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสเมืองราชบุรีผ่านบริเวณทุ่งเขางูเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๒


ภาพ ๒ เขางูเมื่อหน้าน้ำ ราวปีพ.ศ. ๒๔๘๒


ภาพ ๓ งานประจำปี เขางู เป็นภาพเที่ยวเขางูหน้าน้ำ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๔ จากนิตยสารสร้างตนเอง ฉบับ ๑ ตุลาคม ๒๔๘๔ ห้องสมุดอเนก นาวิกมูล


ภาพ ๔ ตราประจำจังหวัดราชบุรีเดิม เป็นอาร์มวงกลมใช้สัญลักษณ์รูปน้ำหลากทุ่ง มีภูเขาเป็นฉากหลัง ล้อมรอบด้วยงูใหญ่ส่วนท้องฟ้าเหนือภูเขามีตราครุฑ ซึ่งใช้เป็นตราแผ่นดินและเครื่องหมายของทางราชการ กำกับด้วยข้อความว่า “จังหวัดราชบุรี” ใช้ในช่วงระหว่างพ.ศ. ๒๕๐๐ - ๒๕๐๙


ภาพ ๕ ทุ่งเขางูในปัจจุบัน

..................................................................................

เรียบเรียง : นางสาวปราจิน เครือจันทร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

อ้างอิง

ตรี อมาตยกุล, “จังหวัดราชบุรี” เมืองราชบุรี พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในการประชุมเพลิงศพ คุณหญิงประพันธ์ดำรัสลักษณ์ (ชื่น ศุขะวณิช) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๐๙. มโน กลีบทอง,พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี,สำนักพิมพ์สมาพันธ์ จำกัด,พ.ศ.๒๕๔๔. สถาบันดำรงราชานุภาพ “รายงานการเสด็จตรวจราชการมณฑลราชบุรี เมืองราชบุรีและเมืองสมุทรสงคราม พ.ศ.๒๔๔๑ ร.ศ.๑๑๗” การเสด็จตรวจราชการหัวเมืองของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรง ราชานุภาพ.๒๕๕๕. สมุดราชบุรี พ.ศ.๒๔๖๘,พิมพ์ที่โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย ถนนพลับพลาไชย จังหวัดพระนคร. องค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี,พระบรมราชจักรีวงศ์กับเมืองราชบุรี,กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์,๒๕๒๕. อเนก นาวิกมูล,บางกอกกับหัวเมือง,กรุงเทพฯ:แสงดาว,๒๕๒๗.

(จำนวนผู้เข้าชม 7577 ครั้ง)

Messenger