เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
"จารึก" บนฐานพระคเณศสำริด พบที่โบราณสถานโบสถ์พราหมณ์ จ.นครศรีธรรมราช
"จารึก" บนฐานพระคเณศสำริด พบที่โบราณสถานโบสถ์พราหมณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
พระคเณศ เป็นเทพในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย คัมภีร์ปุราณะกล่าวถึงกำเนิดของพระคเณศว่าถือกำเนิดมาจากพระศิวะและพระนางปารวตี ชื่อ “พระคเณศ” หรือ “พระพิฆเนศวร์” แปลตามรูปศัพท์ว่า อุปสรรค ด้วยเหตุนี้พระคเณศจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพแห่งการขจัดอุปสรรคและสิ่งกีดขวางทั้งปวง เทพแห่งความสำเร็จ เทพแห่งความฉลาดรอบรู้ และยังเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาและการประพันธ์ด้วย
สำหรับคติการบูชาพระคเณศในภาคใต้ของไทย พบหลักฐานในชุมชนโบราณทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของคาบสมุทร ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ มาจนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒ โดยบริเวณฝั่งตะวันออกพบหลักฐานในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา ส่วนฝั่งตะวันตกพบหลักฐานในบริเวณจังหวัดกระบี่ และจังหวัดพังงา
โบสถ์พราหมณ์ เป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งในภาคใต้ที่พบคติการเคารพบูชาพระคเณศ โดยได้พบประติมากรรมรูปพระคเณศจำนวนทั้งสิ้น ๓ องค์ องค์หนึ่งที่จะนำมากล่าวถึงในที่นี้ คือ พระคเณศ ๔ กร สำริด ซึ่งมีจารึกปรากฏอยู่ที่ฐานทั้ง ๒ ด้าน สำหรับโบราณสถานแห่งนี้ตั้งอยู่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานว่าโบสถ์พราหมณ์สร้างขึ้นราวสมัยอยุธยา โดยมีฐานะเป็นเทวสถานประจำเมืองนครศรีธรรมราช ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมสำคัญของพราหมณ์ ภายในเคยประดิษฐานรูปเคารพเนื่องในศาสนาพราหมณ์ที่สำคัญหลายองค์ ได้แก่ พระศิวนาฏราชสำริด พระอุมาสำริด พระวิษณุสำริด พระหริหระสำริด หงส์สำริด และพระคเณศสำริด ภายหลังโบสถ์พราหมณ์มีสภาพชำรุดมาก ถูกรื้อลงในปี ๒๕๐๕ (ปัจจุบันโบสถ์พราหมณ์ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากรแล้ว ในปี ๒๕๖๓) จึงมีการเคลื่อนย้ายรูปเคารพบางส่วนรวมถึง “พระคเณศสำริด” ไปเก็บไว้ในหอพระอิศวรอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะนำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช เมื่อปี ๒๕๑๕ ปัจจุบันพระคเณศองค์นี้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
พระคเณศสำริด มีขนาดสูง ๔๖.๕ เซนติเมตร เป็นพระคเณศ ๔ กร ประทับยืนตรง (สมภังค์) บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกันสองชั้นซึ่งมีจารึกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง องค์พระคเณศสวมกรัณฑมกุฏ (คือ หมวกรูปชามคว่ำ เป็นหมวกที่เทพทั่วไปและกษัตริย์นิยมสวม) และเครื่องประดับต่าง ๆ งาข้างขวาหัก มีงาเดียว (จึงมีอีกนามว่า “เอกทันต์”) งวงตวัดไปทางด้านซ้าย สวมสายยัชโญปวีตพาดพระอังสาซ้าย ทรงผ้านุ่งแบบสมพรต (ถกเขมร) พระหัตถ์ซ้ายบนทรงถือบ่วงบาศ พระหัตถ์ขวาบนทรงถือขอสับช้างหรืออังกุศ พระหัตถ์ซ้ายล่างทรงถือขนมโมทกะ (คือ ขนมที่ปรุงจากข้าวและน้ำตาล เชื่อว่าขนมโมทกะเป็นสัญลักษณ์ของความฉลาดรอบรู้) และพระหัตถ์ขวาล่างทรงถืองาข้างขวาที่หัก ทั้งนี้ พบว่าลักษณะการถือสัญลักษณ์ในพระหัตถ์ของพระคเณศองค์นี้คล้ายกับพระคเณศในอินเดียใต้เป็นอย่างมาก
บริเวณฐานชั้นล่างของพระคเณศสำริด ปรากฏจารึกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จารึกด้านหน้าเป็นอักษรทมิฬ ภาษาทมิฬ อ่านว่า มะ ชหา ปิ จิ เท ศะ (ma jhā pi ci de śa) แปลว่า ประเทศอันรุ่งเรืองแห่งมัชหาปิ (มัชปาหิต) ส่วนด้านหลังเป็นจารึก อักษรไทย ภาษาไทย อ่านว่า มหาวิคิเนกสุระ แปลว่า มหาพิฆเณศวร เกี่ยวกับการกำหนดอายุสมัยและการตีความจารึกบนฐานพระคเณศองค์นี้ อาจารย์อัญชนา จิตสุทธิญาณ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึก แห่งภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กำหนดอายุตัวอักษรทมิฬที่ปรากฏในจารึกว่ามีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒ แม้ว่าจารึกภาษาทมิฬจะมีการกล่าวถึงราชวงศ์มัชปาหิต ซึ่งเป็นราชวงศ์หนึ่งของชวาที่รุ่งเรืองขึ้นในชวาตะวันออกในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๑ แต่พระคเณศองค์นี้ไม่ได้แสดงให้เห็นอิทธิพลจากศิลปะชวาแต่อย่างใด หากแต่กลับแสดงถึงอิทธิพลของศิลปะเขมรอย่างเด่นชัด จึงกำหนดอายุของพระคเณศองค์นี้ไว้ในสมัยอยุธยาตอนต้น
เรียบเรียง/กราฟฟิค :
นภัคมน ทองเฝือ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
อ้างอิง:
กรมศิลปากร. จารึกที่พบในจังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: สำนักโบราณคดีที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช, ๒๕๕๐. (อัดสำเนา) จิรัสสา คชาชีวะ. “คติความเชื่อและรูปแบบพระพิฆเนศวร์ที่พบในประเทศไทย” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๗. นภัคมน ทองเฝือ. รายงานการขุดค้นโบราณสถานโบสถ์พราหมณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช, ๒๕๕๙. ผาสุข อินทราวุธ. “พระคเณศ: ที่พบในภาคใต้” สารานุกรมวัฒนธรรม ภาคใต้ ๖ (๒๕๒๙): ๒๒๒๐ - ๒๒๓๐. ผาสุข อินทราวุธ. ศาสนาฮินดูและประติมานวิทยา. กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ม.ป.ป.
--------------------------
สามารถดูข้อมูลโบราณสถานโบสถ์พราหมณ์เพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง “โบสถ์พราหมณ์ แห่งเมืองนครศรีธรรมราช” https://www.facebook.com/nakonsrifad14/posts/464313600834893/
และสามารถดูภาพพระคเณศสำริดองค์นี้ในแบบ ๓ มิติ ได้ที่ http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/nakhonsithammarat/index.php/th/virtual-model-360/37-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%93%E0%B8%A8-2.html
(จำนวนผู้เข้าชม 8143 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน