พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในคาบสมุทรสทิงพระ
“โอม มณี ปัทเม หุม” ดวงแก้วมณีที่อุบัติขึ้นในดอกบัว บทสวดสรรเสริญพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
          พระโพธิสัตว์ มาจากคำว่า “โพธิ” หมายถึง ความรู้แจ้งเห็นจริงในทุกสิ่ง และ “สัตว์” หมายถึง แก่น สาระ และ ปัจจัย ตามคติพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานพระโพธิสัตว์มีหน้าที่ช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์และบรรลุนิพพาน พระโพธิสัตว์ในคติความเชื่อของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนั้นมีมากมายเปรียบเสมือนเม็ดทรายในมหาคงคานที โดยพระโพธิสัตว์ที่มีการนับถืออย่างแพร่หลายมีนามว่า “อวโลกิเตศวร” อวโลกิเตศวร ตามรูปศัพท์แปลว่า ผู้มองลงเบื้องล่าง ด้วยความเมตตากรุณาอันยิ่งใหญ่ คุณสมบัติคือ “มหากรุณา” ด้วยทรงปฏิเสธนิพพานเพื่อประสงค์จะช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหมดให้หลุดพ้นจากความทุกข์ยาก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ถือกำเนิดจากธยานิพุทธอมิตาภะ มีหน้าที่ปกป้องดูแลสัตว์โลกในยุคปัจจุบัน หรือ “ภัทรกัลป์” กล่าวคือ ในช่วงที่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน (โคตมพุทธเจ้า) เสด็จปรินิพพาน จนกว่าจะมีพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ (พระศรีอาริยะเมตไตรย) มาตรัสรู้จึงจะหมดหน้าที่ ในภายหลังที่ลัทธิตันตระหรือวัชรยานถือกำเนิด พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรได้รับยกย่องเป็น “ผู้คุ้มครองโลก” ปรากฏในนาม “พระโลกนาถ” คัมภีร์โลเกศวรศตกะ ระบุว่า พระองค์เป็นผู้เป็นใหญ่ในโลก ให้แสงสว่างอันมั่นคง แสงของพระองค์ที่คงอยู่ตลอดกาลได้กำจัดความมืดมนอันหนาแน่นแห่งอวิชชาซึ่งเกิดจากสังสารวัฏ รูปแบบสำคัญของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่พบแพร่หลายในลัทธินี้ คือ “พระโพธิสัตว์ปัทมปาณี” หมายถึง “อวโลกิเตศวรผู้ถือดอกบัว” โดยดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจในการสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นอำนาจที่ได้รับจากธยานิพุทธอมิตาภะ นอกจากนี้ ยังพบการเคารพบูชาพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในปางสมันตมุข หรือเอกาทศมุข โดยเป็นการเนรมิตกายในรูป 11 เศียร 22 กร สมันตมุข แปลว่า มีพระพักตร์รอบทิศหรือเห็นได้โดยรอบ มีความหมายสอดคล้องกับข้อความที่ปรากฏในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑรีกสูตรที่กล่าวว่า พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรทรงดูแลสรรพสัตว์ทุกภพทุกภูมิทุกทิศ ช่วยเหลือให้พ้นจากมหันตภัยนานัปการ คติการบูชาพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรแพร่หลายเข้าสู่คาบสมุทรสทิงพระและบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา อย่างน้อยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ผ่านการรับนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-15 พุทธศาสนาลัทธิตันตระหรือวัชรยานได้เข้ามามีอิทธิพลต่อผู้คน ในช่วงเวลานี้พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรได้รับความเคารพอย่างสูงสุด ปรากฏหลักฐานประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรจำนวนมากกระจายอยู่ตามชุมชนโบราณทั้ง 2 ฝั่งทะเลสาบสงขลา ทั้งในรูปแบบของพระโพธิสัตว์โลกนาถ พระโพธิสัตว์ปัทมปาณี และพระโพธิสัตว์สมันตมุข เหตุแห่งความแพร่หลายนั้น สันนิษฐานว่ามาจากคุณสมบัติเฉพาะของพระองค์คือ ทรงเป็นผู้ปกป้องรักษาผู้เดินทางให้ปลอดภัย





























“Om mani padme hum” Jeweled Ornament Emerging in the Lotus Chantra for Avalokitesvara Bodhisattva Bodhisattva is derived from “Bodhi”, which means transcendental enlightenment, and “Sattva”, which means cores or qualities. According to Mahayana Buddhism, Bodhisattva is committed to enable all beings to let go of suffering and achieve enlightenment or “nibbhana”. For Mahayanists, Bodhisattvas are as countless as the grains of sand at the bottom of the sacred river Ganges. A Bodhisattava that is widely worshipped is “Avalokitesvara”. The name Avalokitesvara means “The Lord who looks down with divine compassion.” One of his quality is “great mercy”, for he postponed his own enlightenment in order to free all creatures from their suffering. Avalokitesvara is an emanation of Amitabha, presiding to safeguard all beings in the present age which is a period between the time the present Buddha, Gautama Buddha, attained Parinibbhanaand – the total release from the cycle of rebirth – and the enlightenment of the future Buddha, “Phra Sri-Araya-Metrai”. After Tantrism or Vajrayana Buddhism originated, Avalokitesvara was revered as the “Protector of The Universe” or “Lokanath”. According to the Lokesvara-Sataka scripture, he is a supreme being who shines an eternal cleansing light upon the darkness of Avijja; the ignorances born of the cycle of rebirth. One of the most prominent form of Avalokitesvara among Vajrayana Buddhism tradition is “Padmapani Bodhisattva”, which means “the Lord who holds the lotus”; the lotus symbolizes the power of creation given by Amitabha Buddha. Avalokitesavara Samuntamuk Bodhisattva, the form in which he possessed 11 heads and 22 hands, was also worshipped. “Samuntamuk” means having circumambient faces and abilities to see all that surround, which is consistent with the scripture in the Lotus Sutra: “Avalokitesvara Bodhisattva tended to all beings in all worlds, protecting them from calamities.” The worship of Avalokitesvara Bodhisattva has been manifested to Sathing Phra Peninsula and Songkhla Lake Basin since the 12th century Buddhist Era (BE) through Mahayana Buddhism. Later in the 14th-15th centuries BE, Tantric or Vajrayana Buddhism started to have more influence. It was during this era that Avalokitesvara Bodhisattva gained the highest veneration. A myriad of Avalokitesvara Bodhisattva statues was found in forms of Lokanath Bodhisattva, Padmapani Bodhisattva, and Samuntamuk Bhodisatava in the two ancient communities on the sides of Songkhla Lake. It is assumed that his prevalence came from the belief that he protects travelers from harm

............................................................

เรียบเรียง/ ออกแบบกราฟฟิก : นางสาวธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ / ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
แปล: นางสาวพุทธวรรณ เจนจิต, นายณัฐพงศ์ ไพรัชวรรณ

อ้างอิง:
1. ชัยวุฒิ พิยะกูล. พระพุทธศาสนาบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ. ใน พระราชศีลสังวร (ผ่อง จิรธมโม). ประสิทธิ์ ฤทธาภิรมย์. 205 - 236. สงขลา: วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร (พระอารามหลวง), 2562. 2. ผาสุข อินทราวุธ. พุทธปฏิมาฝ่ายมหายาน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2543. 3. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช. ปฐมบทพระพุทธศาสนาในภาคใต้ ประเทศไทย: หลักธรรมและหลักฐานโบราณคดี. นครศรีธรรมราช: ไทม์ พริ้นติ้ง จำกัด, 2557. 4. สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2549. 5. องอาจ ศรียะพันธ์. รูปเคารพในพุทธศาสนามหายานก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 พบที่เมืองสทิงพระ. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบิณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2533.

ที่มาของข้อมูล : https://www.facebook.com/pg/songkhlanationalmuseum/photos/?tab=album&album_id=3039042366159678

(จำนวนผู้เข้าชม 27995 ครั้ง)

Messenger