เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
พระพุทธรูปปางมารวิชัย (ฐานประดับลาย 12 นักษัตร)
พระพุทธรูปปางมารวิชัย
ทองเหลือง ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์
ฝีมือช่างท้องถิ่นภาคใต้ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 24
ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส
พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างท้องถิ่นภาคใต้ อยู่ในอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานหน้ากระดานหรือฐานเขียง ประดับลวดลายรูปสัตว์ พระหัตถ์แสดงปางมารวิชัย มีลักษณะพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรเปิดและมองตรง เส้นขอบเปลือกพระเนตรและพระขนงป้ายเป็นแผ่น พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เล็กบาง พระรัศมีเหนืออุษณีษะเป็นรูปเปลว ขมวดพระเกศาเล็ก พระวรกายมีลักษณะอวบอ้วน พระอังสาค่อนข้างใหญ่ ทรงจีวรห่มเฉียง บริเวณพระอังสาซ้ายสังฆาฏิแตกออกเป็นริ้ว และมีสังฆาฏิพาดเฉียงจากพระอังสาซ้ายผ่านกลางพระอุระลงมาจรดพระนาภี ชายสังฆาฏิเป็นแบบปลายตัด
ฐานพระพุทธรูปเป็นฐานทรงสูงประดับลวดลายรูปสัตว์ 12 ตัว โดยเริ่มจากรูปหนู วัว เสือ กระต่าย งูใหญ่ งูเล็ก ม้า แพะ ลิง ไก่ สุนัข และหมูตามลำดับ ซึ่งการเรียงสัตว์ในลักษณะเช่นนี้เป็นไปตามปีนักษัตร โดยเริ่มต้นจากปีชวดไปจนถึงปีกุน ซึ่งความสำคัญของปีนักษัตรนั้น พบว่าในประวัติศาสตร์ไทยปรากฏการใช้ปีนักษัตรมาเป็นเวลานาน แต่ในทางศิลปกรรมไม่ปรากฏมากนัก อีกทั้งการสะท้อนความหมายก็ไม่สามารถสืบความได้อย่างชัดเจนนัก นอกเหนือไปจากความเชื่อในเรื่องของโหราศาสตร์ก็อาจจัดเข้ากับการเป็นลวดลายประดับเพียงเท่านั้น
อย่างไรก็ตามในบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของไทย รวมทั้งในคาบสมุทรสทิงพระและบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พบว่ามีเรื่องราวที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องปีนักษัตรคือ จากตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-18 เมืองนครศรีธรรมราชมีเมืองภายใต้การปกครอง 12 เมือง เรียกว่าเมือง 12 นักษัตร ประกอบไปด้วยเมืองสายบุรี ปัตตานี กลันตัน ปาหัง ไทรบุรี พัทลุง ตรัง ชุมพร บันทายสมอ สะอุเลา ตะกั่วป่า และกระบุรี โดยแต่ละเมืองใช้ตราสัญลักษณ์รูปสัตว์ใน 12 นักษัตรเป็นตราประจำเมือง คือ เมืองสายบุรีใช้ตราหนู (ชวด) เมืองปัตตานีใช้ตราวัว (ฉลู) เมืองกลันตันใช้ตราเสือ (ขาล) เมืองปาหังใช้ตรากระต่าย (เถาะ) เมืองไทรบุรีใช้ตรางูใหญ่ (มะโรง) เมืองพัทลุงใช้ตรางูเล็ก (มะเส็ง) เมืองตรังใช้ตราม้า (มะเมีย) เมืองชุมพรใช้ตราแพะ (มะแม) เมืองบันทายสมอใช้ตราลิง (วอก) เมืองสะอุเลาใช้ตราไก่ (ระกา) เมืองตะกั่วป่าใช้ตราสุนัข (จอ) และเมืองกระบุรีใช้ตราหมู (กุน)
ทั้งนี้ ความเชื่อเรื่องเมือง 12 นักษัตรอาจจะส่งผลต่องานประดับตกแต่งงานศิลปกรรมในสมัยต่อมาก็เป็นได้ ดังจะเห็นได้จากในปัจจุบันจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองของเมืองทั้ง 12 เมืองนักษัตรในอดีตก็ใช้ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดเป็นรูปสัตว์ทั้ง 12 นักษัตร และยังพบว่ามีการนำเอารูปสัตว์ใน 12 นักษัตรมาใช้ในการประดับตกแต่งสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่พบในบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของไทย รวมทั้งในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระและบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอีกด้วย เช่น ขันน้ำลาย 12 นักษัตรทั้งแบบที่ทำจากสำริดและทำเป็นแบบเครื่องถมแบบนครศรีธรรมราช เข็มขัดเงินสลักดุนเป็นลาย 12 นักษัตรที่นิยมใช้กันในหมู่ผู้มีฐานะดีหรือมียศถาบรรดาศักดิ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นต้น
นอกจากนี้ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ความนิยมในการประดับลวดลายด้วยสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากจีนได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในสมัยนี้ โดยนิยมทำลวดลายประดับเป็นรูปสัตว์ใน 12 นักษัตรในงานศิลปกรรม ทั้งใช้ในการประดับตกแต่งฐานโบราณสถาน อาคารต่าง ๆ หรือฐานพระพุทธรูป เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการนำรูปสัตว์ใน 12 นักษัตรมาทำตราประทับบ้าง ทำเป็นสัญลักษณ์ประจำกระทรวงบ้าง เมืองต่าง ๆ บ้าง ซึ่งได้รับความนิยมมาก่อนแล้วในจีน อีกทั้งในบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของไทย รวมทั้งในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระและบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีชาวจีนเข้ามาอาศัยตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก ทำให้พบรูปแบบงานศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากจีนเป็นจำนวนมาก และอาจรวมถึงการนำรูปสัตว์ใน 12 นักษัตรมาใช้ในการประดับตกแต่งในงานศิลปกรรมด้วย
อย่างไรก็ตามในเรื่องที่มาและแรงบันดาลในการสร้างลวดลายประดับฐานพระพุทธรูป มีความเป็นไปได้ ว่าอาจจะเป็นเรื่องของความเชื่อในเรื่องของเมือง 12 นักษัตรที่สืบต่อกันมา หรืออาจจะเป็นคติที่มีมาก่อนแล้วในกลุ่มชาวจีนที่เข้ามามีบทบาทอย่างสูงในงานศิลปวัฒนธรรมของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งตรงกับอายุสมัยในการสร้างพระพุทธรูป คือสมัยรัตนโกสินทร์ก็เป็นได้
เรียบเรียง :
นางสาวจันทร์สุดา ทองขุนแก้ว นักวิชาการวัฒนธรรม /ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
กราฟฟิก :
นางสาวธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ปฎิบัติการ/ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
อ้างอิง :
1. กรมศิลปากร. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมัชฌิมาวาส. ม.ป.ท., 2525.
2. จินดา จันเส้ง. “ตราประจำจังหวัดในภาคใต้.” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 5 (2542): 2501-2505.
3. นฤมล สารากรบริรักษ์. "ฐานพระพุทธรูปกับงานประดับที่มีความหมายในศิลปะรัตนโกสินทร์จากพิพิธภัณฑ์ของวัดโชติทายการาม จังหวัดราชบุรี." สารนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2549.
4. ศรีสมร ศรีเบญจพลางกูร. ประวัติศาสตร์เมืองสงขลา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏสงขลา, 2544.
5. สมพร อยู่โพธิ์. พระพุทธรูปปางต่าง ๆ. พิมพ์ครั้งที่ 39. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2549.
6. สันติ เล็กสุขุม. ประวัติศาสตร์ศิลปะไทย (ฉบับย่อ): การเริ่มต้นและการสืบเนื่องงานช่างในศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2548.
7. สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. “เมืองสิบสองนักษัตร.” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 13 (2542): 6155-6159.
ที่มาของข้อมูล :
https://www.facebook.com/songkhlanationalmuseum/posts/3092279494169298
(จำนวนผู้เข้าชม 13493 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน