เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ "ด้ามมีดรูปพระคเณศ"
ด้ามมีดรูปพระคเณศ
วัสดุ สำริด ศิลปะสมัยอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 23
พบที่ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส
พระคเณศองค์นี้ เป็นพระคเณศขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นพระคเณศ 2 กร (มือ) ประทับนั่งชันพระชานุ (เข่า) ทั้งสองข้าง พระบาท (เท้า) ขวาวางทับพระบาท (เท้า) ซ้าย ประทับนั่งบนฐานทรงกลม ด้านล่างฐานมีรู สำหรับเสียบด้ามมีด พระหัตถ์ (มือ) ขวาถือบ่วงบาศแนบพระอุระ (อก) โดยบ่วงบาศ หรือเชือกบ่วงมีความหมายในเชิงเปรียบเทียบว่า เป็นเสมือนโลกียวิสัยหรือตัณหาราคะในทางโลกที่ถูกควบคุมโดยพระคเณศ เมื่อบ่วงบาศอยู่ในมือของพระองค์ และยังมีการตีความกันอีกว่า บ่วงบาศ หรือเชือกบ่วงเป็นสัญลักษณ์ของพลังที่รัดรึงคนดีเอาไว้กับพระเจ้า หรือคล้องคนดีพาไปสู่การเข้าไปรวมกับพระเจ้า พระหัตถ์ (มือ) ซ้าย ถือขอสับช้าง (อังคุกะ) ด้ามยาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องมือที่ใช้ในการถากถาง และสยบอุปสรรคหรือสิ่งกีดขวางทั้งปวง พระเศียร (ศีรษะ) คาดเครื่องประดับ สวมทองพระกร (กำไลข้อมือ) กำไลใต้ศอก และพาหุรัด (กำไลต้นแขน) สวมสังวาลย์ 2 เส้นไขว้กัน ด้านหลังมีตาบหลังทำเป็นลายประจำยาม ทรงพระภูษา (ผ้านุ่ง) ยาวเกือบถึงข้อพระบาท (ข้อเท้า) 3
พระคเณศองค์นี้เป็นพระคเณศในลักษณะของ “บรมครูช้างผู้ยิ่งใหญ่” ตามคติความเชื่อที่ยึดถือสืบต่อกันมาของผู้มีอาชีพเกี่ยวกับช้าง เชื่อกันว่าประติมากรรมรูปเคารพพระคเณศเป็นของสำคัญของผู้มีหน้าที่เป็นคชบาล ผู้มีตำแหน่งเป็นครูอาจารย์ในทางคชกรรมต้องมีพระคเณศ ซึ่งแกะด้วยงาช้างตระกูลพิฆเนศมหาไพฑูรย์ไว้บูชา ในขณะที่ไปแทรกโพน (การจับช้างกลางแปลง) ช้างเถื่อนก็นำเอาติดตัวไปเป็นเครื่องราง บางคนใช้งาช้างตระกูลพิฆเนศมหาไพฑูรย์แกะเป็น “พระคเณศ” ที่ด้ามมีด ไว้สำหรับใช้เป็นอาวุธประจำตัวในขณะไปทำการคล้องช้างก็มี จากลักษณะของประติมากรรม เครื่องแต่งกาย ลักษณะการใช้งาน และคติการสร้างทำให้สันนิษฐานได้ว่า พระคเณศองค์นี้น่าจะเป็นส่วนด้ามมีดหมอของหมอช้าง หรือด้ามมีดชะน็อก ซึ่งใช้ในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับช้าง
การพบประติมากรรมพระคเณศองค์นี้ในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ อาจเนื่องมาจากชุมชนบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ และชุมชนโดยรอบทะเลสาบสงขลา เป็นชุมชนที่รับอิทธิพลคติความเชื่อ ศาสนา และศิลปวัฒนธรรมมาจากอินเดียโดยตรง ดังจะเห็นได้จากร่องรอยหลักฐานอันเนื่องในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูทั้งลัทธิไศวนิกายและไวษณพนิกาย อีกทั้งตามตำนานนางเลือดขาวเชื่อกันว่า ชุมชนบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ และชุมชนโดยรอบทะเลสาบสงขลาเป็นชุมชนเลี้ยงช้างมาก่อนที่จะขยายตัวเป็นชุมชนเมืองที่มีขนาดใหญ่ และช้างยังเป็นสัตว์สำคัญในการค้าข้ามสมุทรอีกด้วย
--------------------------------------------------------
เรียบเรียง :
นางสาวจันทร์สุดา ทองขุนแก้ว นักวิชาการวัฒนธรรม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
ถ่ายภาพ :
นางสาวธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
อ้างอิง :
1. กรมศิลปากร. สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2549.
2. กรมศิลปากร. สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. พระคเณศ เทพแห่งศิลปากร. กรุงเทพฯ: สมาพันธ์, 2554.
3. จิรัสสา คชาชีวะ. พระพิฆเนศวร์ : คติความเชื่อและรูปแบบของพระพิฆเนศวร์ที่พบในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2547.
4. ผาสุก อินทราวุธ. “พระคเณศ: ที่พบในภาคใต้.” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 10 (2542): 4863-4876.
5. พิริยะ ไกรฤกษ์. ศิลปทักษิณก่อนพุทธศตวรรษที่ 19. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2523.
6. ศรีศักร วัลลิโภดม. “เมืองพัทลุง” ใน อู่อารยธรรมแหลมทองคาบสมุทรไทย, 217-242. กรุงเทพฯ: มติชน, 2548.
7. ศรีสมร ศรีเบญจพลางกูร. ประวัติศาสตร์เมืองสงขลา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏสงขลา, 2544.
8. สันติ เล็กสุขุม. ประวัติศาสตร์ศิลปะไทย (ฉบับย่อ): การเริ่มต้นและการสืบเนื่องงานช่างในศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2548.
9. อายัณโฆษณ์ [นามแฝง]. “เรื่องพระคเณศที่เกี่ยวกับช้าง” ใน เทพนิยายสงเคราะห์เรื่องเมขลา-รามสูรและพระคเณศ, 70-75. เสถียรโกเศศ [นามแฝง] และนาคะประทีป [นามแฝง], บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2555.
10. อุไร จันทร์เจ้า. "ร่องรอยหลักฐานของศาสนาพราหมณ์ในชุมชนโบราณบนคาบสมุทรสทิงพระ ก่อนพุทธศตวรรษที่ 19." วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2560.
ที่มาของข้อมูล :
https://www.facebook.com/songkhlanationalmuseum/posts/3040984572632124
(จำนวนผู้เข้าชม 2109 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน