แวดินเผา ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร

แว
วัสดุ : ดินเผา
ขนาด : เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เซนติเมตร สูง 1.2 เซนติเมตร
สมัย : ก่อนประวัติศาสตร์
ลักษณะวัตถุ : แวดินเผาทรงกลมแบน มีรูตรงกลาง ด้านหนึ่งเรียบ อีกด้านหนึ่งโค้งมน

          แว เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการปั่นฝ้ายเพื่อให้เป็นเส้นด้าย แวที่พบจากแหล่งโบราณคดีส่วนใหญ่ทำมา จากดินเผา มีลักษณะครึ่งวงกลมหรือทรงคล้ายกรวยตัดหรือรูปลูกคิด เจาะรูตรงกลาง แว เป็นอุปกรณ์สำคัญในการปั่นด้าย โดยจะใช้เป็นตัวถ่วงน้ำหนักเส้นใย เพราะแวจะมีรูตรงกลางสำหรับเสียบแกน ปลายอีกด้านของแกนจะพันเข้ากับเส้นใย เมื่อปั่นแกนให้เกิดแรงเหวี่ยงหมุนรอบตัว แรงเหวี่ยงกับน้ำหนักถ่วงของแกนจะทำให้เส้นใยบิดเป็นเกลียวสม่ำเสมอกลายเป็นเส้นด้าย แวดินเผาเป็นโบราณวัตถุที่พบในแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนและกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี, แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว จังหวัดลพบุรี, แหล่งโบราณคดีบ้ายชัยบาดาล จังหวัดลพบุรีและแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร เป็นต้น
          สำหรับที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 5-10 หรือเมื่อประมาณ 1,500-2,000 ปีมาแล้ว เขาสามแก้วเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีลักษณะเป็นเมืองท่าค้าขายในอดีต ซึ่งพบหลักฐานการติดต่อกับต่างแดนทั้งจากฝั่งตะวันตกและตะวันออก คือ อินเดีย เวียดนาม และจีนตอนใต้นอกจากนี้ยังพบหลักฐานที่แสดงถึงการผลิตลูกปัดหินและแก้ว และพบแวดินเผา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนในชุมชนโบราณเขาสามแก้วสามารถผลิตเสื้อผ้าใช้ได้เองภายในชุมชนแล้ว ซึ่งวิธีการผลิตนั้นอาจจะมาจากความคิดของคนในชุมชนเอง หรืออาจจะมาจากการติดต่อและรับเอาวิธีการผลิตเสื้อผ้ามาจากต่างแดนก็เป็นได้

แหล่งที่พบ : แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว ตำบลนาชะอัง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร
ปัจจุบัน จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร
ที่มาข้อมูล ระบบทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร

(จำนวนผู้เข้าชม 3255 ครั้ง)

Messenger