ในภาคใต้ได้พบเครื่องประดับที่แกะลายลึกลงไปในเนื้อหินแบบที่เรียกว่า Intaglio ทั้งในฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ยกตัวอย่างเช่น ฝั่งอันดามันที่แหล่งโบราณคดีภูเขาทอง จังหวัดระนอง เมืองท่าที่เจริญอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๖ – ๙ พบเครื่องประดับทำจากหินคาร์เนเลียนและอาเกต แกะสลักรูปบุคคลโรมัน รูปคนขี่ม้า และรูปม้า ที่แหล่งโบราณคดีคลองท่อม (ควนลูกปัด) จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นเมืองท่าที่เจริญอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๖ – ๙ เครื่องประดับที่พบทำจากหินคาร์เนเลียนและหินตระกูลควอร์ทซ์ แกะเป็นรูปบุคคลเลียนแบบศิลปะโรมัน และรูปสัตว์ คือ ไก่คู่ และโค
          สำหรับในฝั่งอ่าวไทยพบที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เมืองท่าที่เจริญอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๓– ๙ แกะเป็นรูปสัตว์และสัญลักษณ์มงคล อาทิ สิงห์ ตรีรัตนะหรือนนทิบาท และศรีวัตสะ เป็นต้น และที่แหล่งโบราณคดีโคกทอง ซึ่งเป็นเมืองท่าที่เจริญอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๖– ๙ แกะเป็นรูปสัตว์และสัญลักษณ์มงคล คือ โคหมอบ และสวัสดิกะ
          ส่วนเครื่องประดับที่แกะเป็นลายนูนต่ำ หรือ Cameo พบเพียงชิ้นเดียวที่แหล่งโบราณคดีนางย่อน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ทำจากหินอาเกตแกะรูปช้าง



          จากที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่าเครื่องประดับหินแกะสลักที่พบทั้งทางฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ในแหล่งโบราณคดีซึ่งเป็นเมืองท่าที่เจริญอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๖ – ๙ เป็นหลักฐานที่แสดงว่าคนในสมัยนั้นมีความนิยมเครื่องประดับที่แกะสลักลงบนหิน หินที่นิยมนำมาทำเครื่องประดับรูปแบบนี้ คือ หินคาร์เนเลียน และหินอาเกต ลวดลายที่แกะมีทั้งลายบุคคล สัตว์ และสัญลักษณ์มงคล 





          การค้นพบเครื่องประดับหินแกะสลักในแหล่งโบราณคดีคลองท่อม ภูเขาทอง นางย่อนเขาสามแก้ว และโคกทองยังแสดงให้เห็นว่าแหล่งโบราณคดีเหล่านี้เป็นเมืองท่าของทั้งสองชายฝั่งทะเลที่เจริญอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันอีกด้วย 



เรียบเรียงข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง


ที่มาข้อมูล
- บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ. ทุ่งตึก เมืองท่าการค้าโบราณ. กรุงเทพ : บริษัท สำนักพิมพ์สมาพันธ์ จำกัด, ๒๕๕๐.
- พรทิพย์ พันธุโกวิท และคณะ. โครงการเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์และแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลาและสตูล. กรุงเทพฯ : บริษัท บางกอกอินเฮ้า จำกัด, ๒๕๕๗.

(จำนวนผู้เข้าชม 3242 ครั้ง)

Messenger