แหล่งภาพเขียนสีแหลมไฟไหม้
แหลมไฟไหม้ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ บ้านอ่าวน้ำ ต.แหลมสัก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ในเขตอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี
กรมศิลปากรได้มีการสำรวจพบเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๓๐ – ๒๕๓๑ เป็นแหล่งโบราณคดีที่ตั้งอยู่บนเกาะหรือเขาใสโต๊ะดำ ส่วนหนึ่งของแหลมที่อยู่ด้านทิศตะวันตกของแหลมสัก ล้อมรอบด้วยป่าชายเลน คลอง ทะเล และเกาะ สภาพพื้นที่เป็นเพิงผาโค้งเว้าเข้าไปลักษณะรอยบาก (Notch) ซึ่งเกิดจากการกัดเซาะของคลื่นในช่วงระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุด เมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว เพิงผามีความยาวประมาณ ๕ เมตร และมีระดับสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๓ เมตร
มนุษย์ในอดีตจึงสามารถใช้เพิงผาแห่งนี้และใกล้เคียงเป็นแหล่งพักพิงชั่วคราวหรือประกอบกิจกรรม หรือใช้พื้นที่เป็นแหล่งหลบลมมรสุมกระแสคลื่นลมระหว่างการเดินทางได้ และอาจมีการขีดเขียนวาดภาพบนผนังเพิงผาเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว วิถีชีวิตความเป็นอยู่ หรือเป็นภาพเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มคน
กลุ่มภาพเขียนสีปรากฏชัดเจนบริเวณผนังของเพิงผา เป็นภาพเขียนด้วยสีแดงกลุ่มใหญ่เกือบเต็มพื้นที่ โดยส่วนใหญ่ใช้เทคนิคการเขียนแบบระบายทึบ บางภาพเขียนเป็นโครงร่างภายนอกและตกแต่งรายละเอียดลวดลายภายใน ลักษณะคล้ายบุคคล สัตว์ ลายเรขาคณิต และลวดลายคล้ายธรรมชาติ
จากข้อมูลการสำรวจ สามารถจำแนกกลุ่มของภาพตามรูปร่างที่ปรากฏ ดังนี้
๑. ภาพบุคคล ใช้เทคนิคระบายทึบและเขียนเฉพาะโครงร่าง ภาพที่มีความโดดเด่นที่สุดคือภาพระบายสีแดงทึบทั้งภาพ คล้ายบุคคล ๒ คน ยืนอยู่ชิดติดกัน ลักษณะคล้ายคนแฝด หรือคนหนึ่งอาจเป็นคนพิการหรือร่างกายผิดปกติและอีกคนกำลังพยุงอยู่ ขนาดของภาพสูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร และยังมีภาพโครงร่างบุคคล ส่วนศีรษะกลมรี ลำตัวด้านบนกว้างสอบลงด้านปลาย มีแขน ๒ แขน ไม่มีนิ้วมือ ส่วนภาพอื่นๆ เป็นภาพคล้ายบุคคลแสดงกิริยาต่างๆ กระจัดกระจายทั่วไป และปรากฏอยู่รวมเป็นกลุ่มกับภาพสัตว์และภาพเรขาคณิต
๒. ภาพสัตว์ เขียนลายเส้นโครงร่างภายนอกและเขียนตกแต่งภายในด้วยลายเส้นและจุดสีแดง ปรากฏภาพสัตว์คล้ายปลา ที่มีส่วนตา ปาก ไม่มีครีบหาง ๑ ภาพ ขนาดภาพสูงประมาณ ๓๐ เซนติเมตร และยังมีภาพลายเส้นโครงร่างคล้ายปลาแต่สีซีดจางไม่ชัดเจนอยู่เหนือภาพคล้ายบุคคล ภาพสัตว์อื่นๆ เป็นภาพคล้ายนก เขียนลายเส้นเป็นโครงร่างและเขียนตกแต่งภายในด้วยสีแดง ลักษณะลำตัวเป็นรูปวงกลมซ้อนกันหลายวง มีส่วนศีรษะ ลำตัว หาง และขา นอกจากนี้ยังมีภาพสัตว์คล้ายแมงกะพรุน ๒ ภาพ อยู่ใกล้กัน เป็นลายเส้นโครงร่างสีแดง ส่วนหางคล้ายโบว์และมีหางยาวต่อลงมา
๓. ภาพคล้ายพระจันทร์เสี้ยว เขียนสีแดงแบบระบายทึบ มีส่วนโค้งเว้าเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว ขนาดของภาพสูงประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ปรากฏอยู่ใกล้กับภาพเรขาคณิตรูปกากบาทและภาพปลา
๔. ภาพเรขาคณิต ปรากฏภาพรูปกากบาทติดกัน ๓ ภาพ เขียนเป็นลายเส้นสีแดง อยู่ใกล้กับภาพพระจันทร์เสี้ยว และยังมีภาพวงกลมสีแดงคล้ายหัวหอมผ่าซีกหรือดอกบัว ส่วนปลายสอบแหลม นอกจากนี้ยังมีภาพที่เป็นลายจุดคล้ายใช้ปลายนิ้วมือกดประทับลงไปเป็นจุดๆด้วยสีแดง แสดงโครงร่างคล้ายรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ และยังมีภาพที่เกิดจากการเขียนเส้นต่อกันเป็นรูปสี่เหลี่นมและสามเหลี่ยมจนมีลักษณะคล้ายเรือที่มีภาพบุคคลหรือสัตว์อยู่ด้านบนอีกด้วย
หลักฐานภาพเขียนสีที่ปรากฏที่แหลมไฟไหม้นี้ อาจแสดงถึงความสัมพันธ์กับภาพที่แหล่งภาพเขียนสีอื่นๆ ในเขตอ่าวพังงาและอ่าวลึก เรื่องราวของภาพแสดงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางน้ำเป็นส่วนใหญ่ เพราะปรากฏภาพที่ชัดเจนของสัตว์น้ำ เช่น ภาพปลา ภาพแมงกะพรุน และยังมีภาพนก ซึ่งพบเห็นอยู่ทั่วไป ผู้คนหรือกลุ่มคนที่ทำการเขียนภาพเหล่านี้ น่าจะเป็นพวกที่ดำรงชีพด้วยการหาและใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหลัก โดยอาจออกหาอาหารหรือเร่ร่อนไปในทะเล เมื่อพบเพิงผาจึงอาจใช้เป็นที่หลบพักอาศัยชั่วคราว และขีดเขียนภาพเหล่านี้ไว้ และกลุ่มคนนี้น่าจะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกลุ่มคนบนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งอาจมีการนำของที่หามาได้มาแลกเปลี่ยนกัน จนอาจมีการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวของกลุ่มคนในพื้นที่บริเวณนี้
อายุสมัยของภาพเขียนสี กำหนดได้โดยการเปรียบเทียบกับอายุสมัยของการเกิดรอยบากซึ่งเกิดจากการกระทำของคลื่นในช่วงระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุด เมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว ดังนั้นอายุของภาพเขียนสี จึงควรมีอายุไม่เก่าไปกว่าอายุสมัยของการเกิดรอยบาก อีกทั้งสามารถเปรียบเทียบกับแหล่งภาพเขียนสีที่พบบริเวณใกล้เคียง และร่องรอยหลักฐานจากแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในพื้นที่อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ จึงสามารถที่จะอนุมานได้ว่าภาพเขียนสีแหลมไฟไหม้และแหล่งอื่นๆในพื้นที่บริเวณนี้ น่าจะมีอายุสมัยอยู่ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ ๓,๐๐๐ – ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ที่มาของข้อมูล : นายธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
กรมศิลปากรได้มีการสำรวจพบเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๓๐ – ๒๕๓๑ เป็นแหล่งโบราณคดีที่ตั้งอยู่บนเกาะหรือเขาใสโต๊ะดำ ส่วนหนึ่งของแหลมที่อยู่ด้านทิศตะวันตกของแหลมสัก ล้อมรอบด้วยป่าชายเลน คลอง ทะเล และเกาะ สภาพพื้นที่เป็นเพิงผาโค้งเว้าเข้าไปลักษณะรอยบาก (Notch) ซึ่งเกิดจากการกัดเซาะของคลื่นในช่วงระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุด เมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว เพิงผามีความยาวประมาณ ๕ เมตร และมีระดับสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๓ เมตร
มนุษย์ในอดีตจึงสามารถใช้เพิงผาแห่งนี้และใกล้เคียงเป็นแหล่งพักพิงชั่วคราวหรือประกอบกิจกรรม หรือใช้พื้นที่เป็นแหล่งหลบลมมรสุมกระแสคลื่นลมระหว่างการเดินทางได้ และอาจมีการขีดเขียนวาดภาพบนผนังเพิงผาเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว วิถีชีวิตความเป็นอยู่ หรือเป็นภาพเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มคน
กลุ่มภาพเขียนสีปรากฏชัดเจนบริเวณผนังของเพิงผา เป็นภาพเขียนด้วยสีแดงกลุ่มใหญ่เกือบเต็มพื้นที่ โดยส่วนใหญ่ใช้เทคนิคการเขียนแบบระบายทึบ บางภาพเขียนเป็นโครงร่างภายนอกและตกแต่งรายละเอียดลวดลายภายใน ลักษณะคล้ายบุคคล สัตว์ ลายเรขาคณิต และลวดลายคล้ายธรรมชาติ
จากข้อมูลการสำรวจ สามารถจำแนกกลุ่มของภาพตามรูปร่างที่ปรากฏ ดังนี้
๑. ภาพบุคคล ใช้เทคนิคระบายทึบและเขียนเฉพาะโครงร่าง ภาพที่มีความโดดเด่นที่สุดคือภาพระบายสีแดงทึบทั้งภาพ คล้ายบุคคล ๒ คน ยืนอยู่ชิดติดกัน ลักษณะคล้ายคนแฝด หรือคนหนึ่งอาจเป็นคนพิการหรือร่างกายผิดปกติและอีกคนกำลังพยุงอยู่ ขนาดของภาพสูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร และยังมีภาพโครงร่างบุคคล ส่วนศีรษะกลมรี ลำตัวด้านบนกว้างสอบลงด้านปลาย มีแขน ๒ แขน ไม่มีนิ้วมือ ส่วนภาพอื่นๆ เป็นภาพคล้ายบุคคลแสดงกิริยาต่างๆ กระจัดกระจายทั่วไป และปรากฏอยู่รวมเป็นกลุ่มกับภาพสัตว์และภาพเรขาคณิต
๒. ภาพสัตว์ เขียนลายเส้นโครงร่างภายนอกและเขียนตกแต่งภายในด้วยลายเส้นและจุดสีแดง ปรากฏภาพสัตว์คล้ายปลา ที่มีส่วนตา ปาก ไม่มีครีบหาง ๑ ภาพ ขนาดภาพสูงประมาณ ๓๐ เซนติเมตร และยังมีภาพลายเส้นโครงร่างคล้ายปลาแต่สีซีดจางไม่ชัดเจนอยู่เหนือภาพคล้ายบุคคล ภาพสัตว์อื่นๆ เป็นภาพคล้ายนก เขียนลายเส้นเป็นโครงร่างและเขียนตกแต่งภายในด้วยสีแดง ลักษณะลำตัวเป็นรูปวงกลมซ้อนกันหลายวง มีส่วนศีรษะ ลำตัว หาง และขา นอกจากนี้ยังมีภาพสัตว์คล้ายแมงกะพรุน ๒ ภาพ อยู่ใกล้กัน เป็นลายเส้นโครงร่างสีแดง ส่วนหางคล้ายโบว์และมีหางยาวต่อลงมา
๓. ภาพคล้ายพระจันทร์เสี้ยว เขียนสีแดงแบบระบายทึบ มีส่วนโค้งเว้าเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว ขนาดของภาพสูงประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ปรากฏอยู่ใกล้กับภาพเรขาคณิตรูปกากบาทและภาพปลา
๔. ภาพเรขาคณิต ปรากฏภาพรูปกากบาทติดกัน ๓ ภาพ เขียนเป็นลายเส้นสีแดง อยู่ใกล้กับภาพพระจันทร์เสี้ยว และยังมีภาพวงกลมสีแดงคล้ายหัวหอมผ่าซีกหรือดอกบัว ส่วนปลายสอบแหลม นอกจากนี้ยังมีภาพที่เป็นลายจุดคล้ายใช้ปลายนิ้วมือกดประทับลงไปเป็นจุดๆด้วยสีแดง แสดงโครงร่างคล้ายรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ และยังมีภาพที่เกิดจากการเขียนเส้นต่อกันเป็นรูปสี่เหลี่นมและสามเหลี่ยมจนมีลักษณะคล้ายเรือที่มีภาพบุคคลหรือสัตว์อยู่ด้านบนอีกด้วย
หลักฐานภาพเขียนสีที่ปรากฏที่แหลมไฟไหม้นี้ อาจแสดงถึงความสัมพันธ์กับภาพที่แหล่งภาพเขียนสีอื่นๆ ในเขตอ่าวพังงาและอ่าวลึก เรื่องราวของภาพแสดงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางน้ำเป็นส่วนใหญ่ เพราะปรากฏภาพที่ชัดเจนของสัตว์น้ำ เช่น ภาพปลา ภาพแมงกะพรุน และยังมีภาพนก ซึ่งพบเห็นอยู่ทั่วไป ผู้คนหรือกลุ่มคนที่ทำการเขียนภาพเหล่านี้ น่าจะเป็นพวกที่ดำรงชีพด้วยการหาและใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหลัก โดยอาจออกหาอาหารหรือเร่ร่อนไปในทะเล เมื่อพบเพิงผาจึงอาจใช้เป็นที่หลบพักอาศัยชั่วคราว และขีดเขียนภาพเหล่านี้ไว้ และกลุ่มคนนี้น่าจะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกลุ่มคนบนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งอาจมีการนำของที่หามาได้มาแลกเปลี่ยนกัน จนอาจมีการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวของกลุ่มคนในพื้นที่บริเวณนี้
อายุสมัยของภาพเขียนสี กำหนดได้โดยการเปรียบเทียบกับอายุสมัยของการเกิดรอยบากซึ่งเกิดจากการกระทำของคลื่นในช่วงระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุด เมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว ดังนั้นอายุของภาพเขียนสี จึงควรมีอายุไม่เก่าไปกว่าอายุสมัยของการเกิดรอยบาก อีกทั้งสามารถเปรียบเทียบกับแหล่งภาพเขียนสีที่พบบริเวณใกล้เคียง และร่องรอยหลักฐานจากแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในพื้นที่อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ จึงสามารถที่จะอนุมานได้ว่าภาพเขียนสีแหลมไฟไหม้และแหล่งอื่นๆในพื้นที่บริเวณนี้ น่าจะมีอายุสมัยอยู่ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ ๓,๐๐๐ – ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ที่มาของข้อมูล : นายธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
(จำนวนผู้เข้าชม 4397 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน