วัดศรีสวาย เมืองสุโขทัย
          วัดศรีสวายตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดมหาธาตุ และอยู่ใกล้กับกำแพงเมืองสุโขทัยด้านทิศใต้ โบราณสถานสำคัญประกอบไปด้วยปรางค์ ๓ องค์ ที่มีรูปแบบศิลปะลพบุรี ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอม แต่ลักษณะของปรางค์ค่อนข้างเพรียวตั้งอยู่บนฐานเตี้ย ๆ มีลวดลายปูนปั้นบางส่วนเหมือนลายบนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน ได้พบทับหลังสลักเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ชิ้นส่วนของเทวรูป และศิวลึงค์ ส่วนด้านหน้าขององค์ปรางค์ มีวิหาร ๒ หลังที่สร้างเชื่อมต่อกัน โบราณสถานทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงซึ่งก่อด้วยศิลาแลง
          จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบทำให้สันนิษฐานว่าวัดศรีสวายสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และมีการบูรณะเพิ่มเติมในสมัยอยุธยา สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานไว้ว่า วัดนี้เดิมคงเป็นเทวสถานและคงมีชื่อเรียกว่า “ศรีศิวายะ” ซึ่งหมายถึงพระศิวะ และเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ พระบาทสมเด็จพระมงกฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ พระบรมโอรสาธิราชได้เสด็จประพาสและทรงพบรูปพระสยม “พระศิวะ” ในวิหารและหลักไม้ปักอยู่ในโบสถ์ซึ่งทรงสันนิษฐานไว้ว่า “เดิมคงเป็นโบสถ์พราหมณ์ใช้ในพิธีโล้ชิงช้า(ตรียัมปวาย)” บริเวณรอบนอกกำแพงแก้วมีสระน้ำ ชาวบ้านเรียกว่า “สระลอยบาป” ตามศาสนาฮินดู อาจใช้ในพิธีลอยบาปหรือล้างบาป ในเวลาต่อมาวัดนี้จึงถูกแปลงให้เป็นวัดในพุทธศาสนา











//ข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

(จำนวนผู้เข้าชม 23815 ครั้ง)

Messenger