รอยพระพุทธบาทจำลอง ที่ภูถ้ำพระยายืน
          พุทธศาสนิกชนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ต่างมีความเชื่อตาม “ตำนานพระเจ้าเลียบโลก” ว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังคงพระชนม์ชีพอยู่ เคยเสด็จมาโปรดสรรพสัตว์ยังดินแดนแถบนี้ และมีพุทธทำนายไว้หลายประการเกี่ยวกับบ้านเมืองต่าง ๆ รวมทั้งทรงประทับรอยพระบาทไว้เป็นที่สักการะบูชาแก่สรรพสัตว์และมวลมนุษย์ทั้งหลาย ดังตำนาน เรื่องเล่า เกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทสำคัญต่าง ๆ ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เช่น พระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน พระพุทธบาทสี่รอย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พระพุทธบาทเวินปลา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม พระพุทธบาทเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

          ในปี 2557 สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี (ขณะนั้น) ได้ดำเนินงานสำรวจแหล่งโบราณคดีในเขตพื้นที่ตอนเหนือของจังหวัดอุบลราชธานี และได้พบรอยสลักคล้ายกับรอยเท้ามนุษย์บนพื้นหินในบริเวณเขตพื้นที่ภูถ้ำพระยายืน ตำบลหนามแท่ง อำเภอศรีเมืองใหม่ จำนวน 2 รอย เป็นรอยเท้าข้างซ้ายและรอยเท้าข้างขวา ไม่มีลวดลายใด ๆ ประดับ โดยมีรอยเท้าขวาอยู่หน้า รอยเท้าซ้ายอยู่หลัง ระยะห่างกันประมาณ 125 เมตร ซึ่งแสดงการก้าวเดินของเท้าทั้งสองข้างนั่นเอง ปลายเท้าค่อนข้างเสมอกัน มุ่งไปทางทิศเหนือ รอยเท้ามีขนาดใกล้เคียงกัน คือ รอยเท้าข้างซ้ายยาวประมาณ 40 เซนติเมตร ปลายเท้ากว้างประมาณ 15 เซนติเมตร ส้นเท้ากว้างประมาณ 10 เซนติเมตร รอยเท้าข้างขวายาวประมาณ 42 เซนติเมตร ปลายเท้ากว้างประมาณ 16 เซนติเมตร ส้นเท้ากว้างประมาณ 10 เซนติเมตร ลักษณะเป็นรอยจมลึกลงไปในพื้นหินประมาณ 2 เซนติเมตร


          สภาพภูมิประเทศเป็นลานหินกว้างบนภูเขา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 250 เมตร มีต้นไม้ขึ้นเป็นหย่อม ๆ ใกล้เคียงมีเพิงผาหินทางทิศเหนือและลำห้วยแซะทางทิศตะวันตก

          จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ ทราบความว่ารอยเท้าทั้ง 2 รอยนี้มีมานานแล้ว ไม่ทราบว่าสร้างขึ้นเมื่อใดหรือใครมาสร้างไว้ แต่มีผู้ศรัทธาขึ้นมาสักการะบูชาอยู่เสมอ และเรียกบริเวณนี้ว่า “ภูถ้ำพระยายืน” ดังนั้นในเบื้องต้นจึงสันนิษฐานว่า รอยสลักรูปเท้าทั้งสองรอยนี้ ผู้สร้างน่าจะสลักขึ้นเพื่อให้เป็นรอยพระพุทธบาทจำลองในอิริยาบถก้าวเดิน ศิลปะกรรมแบบพื้นถิ่นอีสาน (ลาว-ล้านช้าง) ซึ่งเน้นความเรียบง่าย ในช่วงพุทธศตวรรคที่ ๒๓

ข้อมูล : วสันต์ เทพสุริยานนท์ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี

อ้างอิง : สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีและโบราณสถาน โครงการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อศึกษาแหล่งผลิตกลองมโหระทึกในพื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงตอนกลาง ปีที่ 2 พ.ศ. 2557. เอกสารอัดสำเนา. 2557. : นาคฤทธิ์. พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง. เชียงใหม่ : ลานนาการพิมพ์, 2545.

(จำนวนผู้เข้าชม 1416 ครั้ง)