พระนารายณ์บรรทมสินธุ์ เทพผู้ให้กำเนิดแห่งต้นน้ำลำโดมใหญ่
พระนารายณ์บรรทมสินธุ์ เทพผู้ให้กำเนิดแห่งต้นน้ำลำโดมใหญ่
บ้านแข้ด่อน ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี
โอมฺ ศฺรีมนฺนารายณาย นมะ
ขอนอบน้อมแด่พระนารายณ์ผู้เลิศที่สุด
โศลกภาษาสันสฤตและคำแปลในเนื้อความข้างต้นนี้ เป็นความขึ้นต้นของคัมภีร์วิษณุปุราณะ อันกล่าวถึงความยิ่งใหญ่แห่งองค์พระนารายณ์หรือพระวิษณุ พระองค์คือพรหมันอันเป็นสิ่งสูงสุด มีอยู่ชั่วนิรันดร์ ไม่เกิด ไม่เสื่อมสลาย ไม่เปลี่ยนแปลง มีลักษณะเป็นหนึ่งเดียวและบริสุทธิ์เสมอเพราะไม่มีสิ่งที่ไม่ดี พรหมันคือทุกสิ่งทุกอย่าง มีลักษณะทั้งที่ปรากฏและไม่ปรากฏ สถิตอยู่ในรูปของ ปุรุษะและกาลเวลา พระองค์ทรงเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งปวง ทรงบรรทมเหนืออนันตนาคราช หรือเ เศษนาค (Sēsa) เหนือเกษียรสมุทร มีดอกบัวผุดออกมาจากพระนาภี และมีพระพรหมประทับอยู่เหนือดอกบัวนั้น เพื่อสร้างโลกในลำดับต่อไป มีพระนามที่ได้รับการกล่าวขานว่า “วิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ”
รูปเคารพวิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ หรือพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่ปรากฏในประเทศไทยจากข้อมูลที่พอจะสืบค้นได้นั้นมีไม่น้อยกว่า ๑๔ องค์ โดยมากปรากฏอยู่ที่ทับหลังประดับตามปราสาทหินในวัฒนธรรมเขมร มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๕ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ กระจายตัวอยู่มากในภาคอีสาน มีปรากฏบ้างที่ภาคกลาง คือ จังหวัดลพบุรี และจังหวัดสุโขทัย จากที่กล่าวมานั้น ภาพลสลักรูปนี้ถือว่ามีความพิเศษกว่ารูปอื่นเพราะสลักไว้ข้างลำโดมใหญ่อันเป็นจุดที่ลำห้วยเดื่อไหลลงมาบรรจบกับลำโดมใหญ่ ซึ่งเรียกกันว่า “วังมน” ซึ่งถือว่าเป็นภาพสลักเดียวในประเทศไทยปรากฏบนลำน้ำธรรมชาติ นอกจากนี้ยังพบการสลักภาพในพื้นที่ลักษณะคล้ายกันนี้ ที่ ในกัมพูชา ที่เปิง กม-นู กบาลสะเปียน พนมกุเลน และในประเทศสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวลาวที่แขวงจำปาสัก ใกล้โต๊ะโม๊ะ กลางแม่น้ำโขง
ภาพ : สภาพโดยทั่วไปพื้นที่วังมน และบรรยากาศการบวงสรวง
จากคำบอกเล่าภาพสลักนี้ได้รับการค้นพบเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยพรานป่า ๕ คน และได้ลงไปเล่าสู่กันฟังในหมู่ชาวบ้านว่า มีภาพสลักพระนารายณ์อยู่ที่ภูเขาต้นลำโดมใหญ่ตรงที่เรียกว่าวังมน เป็นจุดที่มีน้ำขังตลอดปี และมีปลาชุกชุม จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒ ชาวตำบลโดมประดิษฐ์จึงได้ริเริ่มประเพณีขึ้นเขาบวงสรวงพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ จัดขึ้นในช่วงเดือน ๔ ตามปฎิทินจันทรคติ การเดินทางเริ่มจากวัดป่าภูวังน้ำจั้น บ้านแข้ด่อน ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยการเดินเท้าลัดเลาะขึ้นไปตามแนวลำโดมใหญ่ โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ ๔ – ๕ ชั่วโมง โดยมีจุดแวะพักระหว่างทางเป็นเวิ้งน้ำที่สวยงาม ๒ จุด ได้แก่ วังเวิน และวังเดื่อ จนกระทั่งถึงวังมน ถือเป็นจุดที่มีทัศนียภาพที่สวยงามอย่างยิ่ง มีทั้งลานหิน เพิงผา ต้นไม้รูปร่างสวยงาม และเวิ้งน้ำกว้างใสสะอาดมีน้ำขังตลอดปี ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานเห่งชาติภูจองนายอย(ทางทิศตะวันออก) และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม(ตะวันตกและเป็นที่ตั้งของภาพสลัก)
ภาพ : วังเวิน
ภาพ : วังเวิน
ภาพ : วังเดื่อ
ภาพ : ไทรน้ำไหล จุดบรรจบของห้วยเดื่อไหลลงลำโดมใหญ่
รูปเคารพนารายณ์บรรทมสินธุ์ มีการกล่าวถึงตามคัมภีร์ต่างหลายคัมภีร์ เช่น คัมภีร์วิษณุปุราณะ(Vishnu Purana) คัมภีร์ปัทมะปุราณะ(Padma Purana) คัมภีร์ไวขานสาคม(Vaikhanasagana) คัมภีร์เทวตามุตราประกม(Devatamutra Prakama) คัมภีร์วิษณุธรรโมตตร (Vishnudharmottara) คัมภีร์อปาราจิตปริฉฉะ(Aparajitaprichcha) เป็นต้น และมักกล่าวถึงโดยสอดคล้องกันว่าพระองค์บรรทมเหนืออนันตนาคราช ในเกษียรสมุทร ตอนที่พักผ่อนระหว่างกัลป์ซึ่งไม่ปรากฏดอกบัวผุดขึ้นมาจากพระนาภี บ้างก็ว่าเป็นตอนที่สร้างโลกใหม่ มีดอกบัวผุดจากพระนาภีและมีพระพรหมประทับเหนือดอกบัวนั้น
ลักษณะของภาพสลักและรูปแบบทางศิลปะ สลักเป็นภาพพระนารายณ์บรรทมตะแคงขวาบนลำตัวของพระยาอนันตนาคราช ๓ เศียร มี ๒ กร พระกรขวาตั้งขึ้นรองรับพระเศียร พระเกศามุ่นมวยรัดด้วยประคำ พระกรรณสวมกุณฑล(ตุ้มหู) พระศอประดับกรองศอสลักอย่างคร่าว ๆ พระกรซ้ายวางแนบไปกับพระองค์เหนือพระเพลา ทรงสมพต(ผ้านุ่งสั้น) ซ้อน ๒ ผืน ผืนในยกชายเป็นปีกโค้งออกสองข้าง ผืนนอกชักขอบผ้าด้านหน้าเป็นวงโค้ง ด้านล่างประดับเข็มขัดสลักคล้ายพวงอุบะห้อยลง ที่พระนาภี มีก้านบัวผุดชูขึ้นด้านบนเป็นดอกบัวตูม? ที่พระเพลามีพระลักษมี ๒ กร ประทับนั่ง พระเศียรสวมกระบังหน้า พระกรรณสวมกุณฑล(ตุ้มหู) ท่อนบนเปลือยเปล่า พระกรขวาวางไว้ใกล้พระชานุ พระกรซ้ายวางไกล้กับพระบาท เศียรพระยาอนันตนาคราชหันเข้าหาพระเศียร และเป็นนาคมีหงอนแบบหยาบ ๆ ลำตัวทอดยาวมาจนถึงพระบาทของพระนารายณ์ สลักปลายหางตวัดโค้งขึ้นแต่ยังคงเป็นเพียงเส้นโครงร่าง จากลักษณะทางศิลปะโดยรวมผู้เขียนเห็นว่าสามารถกำหนดอายุได้ในช่วง ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖
ภาพสลักพระนารายณ์บรรทมสินธุ์
ภาพ : สภาพที่ตั้งภาพสลัก ปัจจุบันมีทรายทับถมสูง
คติความเชื่อที่ปรากฏจากภาพสลัก โดยส่วนใหญ่แล้วในประเทศไทยสามารถพบภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์นี้ตามปราสาทหินหรือศาสนสถาน และมิได้จำกัดว่าต้องเป็นศาสนสถานของไวษณพนิกาย เนื่องจากภาพสลักส่วนใหญ่ปรากฏที่ศาสนสถานของไศวนิกาย ยกเว้นบางแห่งเท่านั้นที่ไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจน หากเชื่อมโยงแนวคิดคติความเชื่อของภาพสลักองค์นี้ คงพอจะอนุมานได้ว่า เป็นภาพสลักที่สลักขึ้นเนื่องในความเชื่อของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย โดยภาพสลักนี้สร้างเคร่งครัดตามแนวแกนทิศเหนือ – ใต้อย่างชัดเจน แม้กระทั้งสถานที่ตั้งเหมาะแก่การพักแรมหรืออยู่อาศัยได้ชั่วคราวย่อมแสดงถึงแรงผลักดันหรือความมุ่งหมายที่จะใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรม หรือบวงสรวงบูชา หรืออาจเป็นศาสนสถานอีกรูปแบบหนึ่ง รวมทั้งการเลือกพื้นที่อันอาจถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำย่อมแสดงเห็นถึงความเชื่อเรื่องการให้กำเนิดหรือการสร้างโลกอันบริสุทธิ์ และทุกอย่างที่สร้างแล้วโดยพรหมมันย่อมไหลลงไปข้างล่างก่อเกิดเป็นสรรพสิ่งต่าง ๆ อันเปรียบได้กับการสร้างโลกขององค์พระนารายณ์
อิติ วิวิธมชสฺย ยสฺย รูปํ ปฺรกฺฤติปราตฺมมยํ สนาตนสฺย
ปฺรทิศตุ ภควานเศษ(ปุง)สำ หริรปชนฺมชราทิกำ ส สิทฺธิมฺ
พระวิษณุผู้เป็นเจ้าพระองค์ใดผู้ไม่เกิด ผู้มีอยู่ชั่วนิรันดร์ ทรงมีพระรูปหลากหลาย
ทรงสร้างประกฤติและอาตมันอื่นๆ ขอพระวิษณุ (หริ) ผู้เป็นเจ้าพระองค์นั้น
โปรดแสดงความสำเร็จมีการไม่เกิดและไม่แก่เป็นต้นแก่มนุษย์ทั้งหมดด้วยเถิด
------------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นายพงษ์พิศิษฏ์ กรมขันธ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
อ้างอิง
-กษมา เกาไศยานนท์. รูปเคารพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ในประเทศไทย. สารนิพนธ์ศิลป ศาสตรบัณฑิต(โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๘.
-โชติวัฒน์ รุญเจริญ[Online]. จากเฟซบุ๊กชื่อ โชติวัฒน์ รุญเจริญ, เจาะประเด็น : นารายณ์-น้ำยืน รูปแบบศิลปะเพื่อการกำหนดอายุ. เผยแพร่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๙.๐๑ น. สืบค้นเมื่อ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๓.
วรณัย พงศาชลากร[Online]. เว็บไซต์ http://oknation.nationtv.tv/blog/voranai/2012/ 06/05/entry-2, “วิษณุอนันตศายิน - นารายณ์บรรทมสินธุ์” จากทั่วถิ่นเมืองไทย ...อยู่ที่ไหนบ้าง ?. เผยแพร่เมื่อ 5 มิถุนายน 2555. สืบค้นเมื่อ เมื่อ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๓.
-สุภาพร พลายเล็ก. การศึกษาเปรียบเทียบเรื่องจักรวาลวิทยาในคัมภีร์วิษณุปุราณะและไตรภูมิพระร่วง. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาสันสกฤต ภาควิชาภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๗.
-อมรา ศรีสุชาต. อุปนิษัท : อภิปรัชญาที่สอดคล้องกันและที่สอดคล้องกับทฤษฎีวิทยาศาสตร์เรื่องกำเนิดและการสิ้นสุดของจักรวาลโลก สรรพสิ่งและชีวิต. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาสันสกฤต ภาควิชาภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๑.
-สุภัทรดิศ ดิศกุล, ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า. ศิลปะขอม. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๓๘.
ที่มาของข้อมูล https://www.facebook.com/835594323191791/posts/2926449634106239/
บ้านแข้ด่อน ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี
โอมฺ ศฺรีมนฺนารายณาย นมะ
ขอนอบน้อมแด่พระนารายณ์ผู้เลิศที่สุด
โศลกภาษาสันสฤตและคำแปลในเนื้อความข้างต้นนี้ เป็นความขึ้นต้นของคัมภีร์วิษณุปุราณะ อันกล่าวถึงความยิ่งใหญ่แห่งองค์พระนารายณ์หรือพระวิษณุ พระองค์คือพรหมันอันเป็นสิ่งสูงสุด มีอยู่ชั่วนิรันดร์ ไม่เกิด ไม่เสื่อมสลาย ไม่เปลี่ยนแปลง มีลักษณะเป็นหนึ่งเดียวและบริสุทธิ์เสมอเพราะไม่มีสิ่งที่ไม่ดี พรหมันคือทุกสิ่งทุกอย่าง มีลักษณะทั้งที่ปรากฏและไม่ปรากฏ สถิตอยู่ในรูปของ ปุรุษะและกาลเวลา พระองค์ทรงเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งปวง ทรงบรรทมเหนืออนันตนาคราช หรือเ เศษนาค (Sēsa) เหนือเกษียรสมุทร มีดอกบัวผุดออกมาจากพระนาภี และมีพระพรหมประทับอยู่เหนือดอกบัวนั้น เพื่อสร้างโลกในลำดับต่อไป มีพระนามที่ได้รับการกล่าวขานว่า “วิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ”
รูปเคารพวิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ หรือพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่ปรากฏในประเทศไทยจากข้อมูลที่พอจะสืบค้นได้นั้นมีไม่น้อยกว่า ๑๔ องค์ โดยมากปรากฏอยู่ที่ทับหลังประดับตามปราสาทหินในวัฒนธรรมเขมร มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๕ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ กระจายตัวอยู่มากในภาคอีสาน มีปรากฏบ้างที่ภาคกลาง คือ จังหวัดลพบุรี และจังหวัดสุโขทัย จากที่กล่าวมานั้น ภาพลสลักรูปนี้ถือว่ามีความพิเศษกว่ารูปอื่นเพราะสลักไว้ข้างลำโดมใหญ่อันเป็นจุดที่ลำห้วยเดื่อไหลลงมาบรรจบกับลำโดมใหญ่ ซึ่งเรียกกันว่า “วังมน” ซึ่งถือว่าเป็นภาพสลักเดียวในประเทศไทยปรากฏบนลำน้ำธรรมชาติ นอกจากนี้ยังพบการสลักภาพในพื้นที่ลักษณะคล้ายกันนี้ ที่ ในกัมพูชา ที่เปิง กม-นู กบาลสะเปียน พนมกุเลน และในประเทศสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวลาวที่แขวงจำปาสัก ใกล้โต๊ะโม๊ะ กลางแม่น้ำโขง
ภาพ : สภาพโดยทั่วไปพื้นที่วังมน และบรรยากาศการบวงสรวง
จากคำบอกเล่าภาพสลักนี้ได้รับการค้นพบเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยพรานป่า ๕ คน และได้ลงไปเล่าสู่กันฟังในหมู่ชาวบ้านว่า มีภาพสลักพระนารายณ์อยู่ที่ภูเขาต้นลำโดมใหญ่ตรงที่เรียกว่าวังมน เป็นจุดที่มีน้ำขังตลอดปี และมีปลาชุกชุม จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒ ชาวตำบลโดมประดิษฐ์จึงได้ริเริ่มประเพณีขึ้นเขาบวงสรวงพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ จัดขึ้นในช่วงเดือน ๔ ตามปฎิทินจันทรคติ การเดินทางเริ่มจากวัดป่าภูวังน้ำจั้น บ้านแข้ด่อน ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยการเดินเท้าลัดเลาะขึ้นไปตามแนวลำโดมใหญ่ โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ ๔ – ๕ ชั่วโมง โดยมีจุดแวะพักระหว่างทางเป็นเวิ้งน้ำที่สวยงาม ๒ จุด ได้แก่ วังเวิน และวังเดื่อ จนกระทั่งถึงวังมน ถือเป็นจุดที่มีทัศนียภาพที่สวยงามอย่างยิ่ง มีทั้งลานหิน เพิงผา ต้นไม้รูปร่างสวยงาม และเวิ้งน้ำกว้างใสสะอาดมีน้ำขังตลอดปี ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานเห่งชาติภูจองนายอย(ทางทิศตะวันออก) และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม(ตะวันตกและเป็นที่ตั้งของภาพสลัก)
ภาพ : วังเวิน
ภาพ : วังเวิน
ภาพ : วังเดื่อ
ภาพ : ไทรน้ำไหล จุดบรรจบของห้วยเดื่อไหลลงลำโดมใหญ่
รูปเคารพนารายณ์บรรทมสินธุ์ มีการกล่าวถึงตามคัมภีร์ต่างหลายคัมภีร์ เช่น คัมภีร์วิษณุปุราณะ(Vishnu Purana) คัมภีร์ปัทมะปุราณะ(Padma Purana) คัมภีร์ไวขานสาคม(Vaikhanasagana) คัมภีร์เทวตามุตราประกม(Devatamutra Prakama) คัมภีร์วิษณุธรรโมตตร (Vishnudharmottara) คัมภีร์อปาราจิตปริฉฉะ(Aparajitaprichcha) เป็นต้น และมักกล่าวถึงโดยสอดคล้องกันว่าพระองค์บรรทมเหนืออนันตนาคราช ในเกษียรสมุทร ตอนที่พักผ่อนระหว่างกัลป์ซึ่งไม่ปรากฏดอกบัวผุดขึ้นมาจากพระนาภี บ้างก็ว่าเป็นตอนที่สร้างโลกใหม่ มีดอกบัวผุดจากพระนาภีและมีพระพรหมประทับเหนือดอกบัวนั้น
ลักษณะของภาพสลักและรูปแบบทางศิลปะ สลักเป็นภาพพระนารายณ์บรรทมตะแคงขวาบนลำตัวของพระยาอนันตนาคราช ๓ เศียร มี ๒ กร พระกรขวาตั้งขึ้นรองรับพระเศียร พระเกศามุ่นมวยรัดด้วยประคำ พระกรรณสวมกุณฑล(ตุ้มหู) พระศอประดับกรองศอสลักอย่างคร่าว ๆ พระกรซ้ายวางแนบไปกับพระองค์เหนือพระเพลา ทรงสมพต(ผ้านุ่งสั้น) ซ้อน ๒ ผืน ผืนในยกชายเป็นปีกโค้งออกสองข้าง ผืนนอกชักขอบผ้าด้านหน้าเป็นวงโค้ง ด้านล่างประดับเข็มขัดสลักคล้ายพวงอุบะห้อยลง ที่พระนาภี มีก้านบัวผุดชูขึ้นด้านบนเป็นดอกบัวตูม? ที่พระเพลามีพระลักษมี ๒ กร ประทับนั่ง พระเศียรสวมกระบังหน้า พระกรรณสวมกุณฑล(ตุ้มหู) ท่อนบนเปลือยเปล่า พระกรขวาวางไว้ใกล้พระชานุ พระกรซ้ายวางไกล้กับพระบาท เศียรพระยาอนันตนาคราชหันเข้าหาพระเศียร และเป็นนาคมีหงอนแบบหยาบ ๆ ลำตัวทอดยาวมาจนถึงพระบาทของพระนารายณ์ สลักปลายหางตวัดโค้งขึ้นแต่ยังคงเป็นเพียงเส้นโครงร่าง จากลักษณะทางศิลปะโดยรวมผู้เขียนเห็นว่าสามารถกำหนดอายุได้ในช่วง ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖
ภาพสลักพระนารายณ์บรรทมสินธุ์
ภาพ : สภาพที่ตั้งภาพสลัก ปัจจุบันมีทรายทับถมสูง
คติความเชื่อที่ปรากฏจากภาพสลัก โดยส่วนใหญ่แล้วในประเทศไทยสามารถพบภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์นี้ตามปราสาทหินหรือศาสนสถาน และมิได้จำกัดว่าต้องเป็นศาสนสถานของไวษณพนิกาย เนื่องจากภาพสลักส่วนใหญ่ปรากฏที่ศาสนสถานของไศวนิกาย ยกเว้นบางแห่งเท่านั้นที่ไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจน หากเชื่อมโยงแนวคิดคติความเชื่อของภาพสลักองค์นี้ คงพอจะอนุมานได้ว่า เป็นภาพสลักที่สลักขึ้นเนื่องในความเชื่อของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย โดยภาพสลักนี้สร้างเคร่งครัดตามแนวแกนทิศเหนือ – ใต้อย่างชัดเจน แม้กระทั้งสถานที่ตั้งเหมาะแก่การพักแรมหรืออยู่อาศัยได้ชั่วคราวย่อมแสดงถึงแรงผลักดันหรือความมุ่งหมายที่จะใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรม หรือบวงสรวงบูชา หรืออาจเป็นศาสนสถานอีกรูปแบบหนึ่ง รวมทั้งการเลือกพื้นที่อันอาจถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำย่อมแสดงเห็นถึงความเชื่อเรื่องการให้กำเนิดหรือการสร้างโลกอันบริสุทธิ์ และทุกอย่างที่สร้างแล้วโดยพรหมมันย่อมไหลลงไปข้างล่างก่อเกิดเป็นสรรพสิ่งต่าง ๆ อันเปรียบได้กับการสร้างโลกขององค์พระนารายณ์
อิติ วิวิธมชสฺย ยสฺย รูปํ ปฺรกฺฤติปราตฺมมยํ สนาตนสฺย
ปฺรทิศตุ ภควานเศษ(ปุง)สำ หริรปชนฺมชราทิกำ ส สิทฺธิมฺ
พระวิษณุผู้เป็นเจ้าพระองค์ใดผู้ไม่เกิด ผู้มีอยู่ชั่วนิรันดร์ ทรงมีพระรูปหลากหลาย
ทรงสร้างประกฤติและอาตมันอื่นๆ ขอพระวิษณุ (หริ) ผู้เป็นเจ้าพระองค์นั้น
โปรดแสดงความสำเร็จมีการไม่เกิดและไม่แก่เป็นต้นแก่มนุษย์ทั้งหมดด้วยเถิด
------------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นายพงษ์พิศิษฏ์ กรมขันธ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
อ้างอิง
-กษมา เกาไศยานนท์. รูปเคารพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ในประเทศไทย. สารนิพนธ์ศิลป ศาสตรบัณฑิต(โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๘.
-โชติวัฒน์ รุญเจริญ[Online]. จากเฟซบุ๊กชื่อ โชติวัฒน์ รุญเจริญ, เจาะประเด็น : นารายณ์-น้ำยืน รูปแบบศิลปะเพื่อการกำหนดอายุ. เผยแพร่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๙.๐๑ น. สืบค้นเมื่อ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๓.
วรณัย พงศาชลากร[Online]. เว็บไซต์ http://oknation.nationtv.tv/blog/voranai/2012/ 06/05/entry-2, “วิษณุอนันตศายิน - นารายณ์บรรทมสินธุ์” จากทั่วถิ่นเมืองไทย ...อยู่ที่ไหนบ้าง ?. เผยแพร่เมื่อ 5 มิถุนายน 2555. สืบค้นเมื่อ เมื่อ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๓.
-สุภาพร พลายเล็ก. การศึกษาเปรียบเทียบเรื่องจักรวาลวิทยาในคัมภีร์วิษณุปุราณะและไตรภูมิพระร่วง. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาสันสกฤต ภาควิชาภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๗.
-อมรา ศรีสุชาต. อุปนิษัท : อภิปรัชญาที่สอดคล้องกันและที่สอดคล้องกับทฤษฎีวิทยาศาสตร์เรื่องกำเนิดและการสิ้นสุดของจักรวาลโลก สรรพสิ่งและชีวิต. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาสันสกฤต ภาควิชาภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๑.
-สุภัทรดิศ ดิศกุล, ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า. ศิลปะขอม. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๓๘.
ที่มาของข้อมูล https://www.facebook.com/835594323191791/posts/2926449634106239/
(จำนวนผู้เข้าชม 11415 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน